
ชำแหละร่างพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน
ชำแหละร่างพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน มาตรการแยกน้ำออกจากน้ำมัน : จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่น
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน ฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิมซึ่งไม่ทันสมัยเนื่องจากประกาศมาตั้งแต่ปี 2484 หรือเมื่อ 74 ปีที่แล้ว และไม่สามารถแก้ไขปัญหาขอทานในปัจจุบันที่มีหลายรูปแบบได้ อีกทั้งยังมีการตีความหมายการขอทานแคบ จนถึงขั้นระบุการถือกล่องรับบริจาค เล่นดนตรีเปิดหมวกสามารถถูกตีความว่าเป็นขอทาน และมีสิทธิโดนจับกุมตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ดีเมื่อได้พิจารณาพ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับใหม่ของสนช.แล้วจะพบว่านอกจากการปรับปรุงถ้อยคำ ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทันกับโลกสมัยใหม่ที่ไม่ได้ตีความว่าการขอทานเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเท่านั้น โดยสามารถจำแนกประเด็นของการปรับปรุงที่เด่นชัดได้ดังนี้
การระบุพฤติกรรมการขอทานที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมกำหนดโทษของการขอทาน พ.ร.บ.ฉบับเก่า มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทานการขอทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิได้ทำการงานอย่างใด หรือให้ทรัพย์สินใดตอบแทน และมิใช่เป็นการขอกันในฐานญาติมิตรนั้น ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มาตรา 7 ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทานการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน 1.การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใดๆ หรือด้วยวิธีการใด ทั้งนี้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใด หรือด้วยทรัพย์สินใด แต่ไม่รวมถึงการขอกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร 2.การกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยด้วยการทำงานอย่างใดหรือด้วยทรัพย์สินใด
หากเปรียบเทียบข้อความทั้ง 2 มาตรา จะเห็นได้ว่า ร่างฉบับใหม่มีการระบุพฤติกรรมที่เข้าข่ายขอทานได้ละเอียดมากขึ้น เนื่องจากรูปแบบการขอทานเปลี่ยนไป และเป็นการระบุชัดเจนเพื่อป้องกันการตีความแบบกว้าง อีกทั้งยังเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมขอทานให้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ ยังได้ระบุโทษเพิ่มเติมสำหรับคนที่ขอทาน ซึ่งจะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับเก่า ที่ระบุเพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่จับตัวส่งสถานสงเคราะห์เท่านั้น
เพิ่มบทลงโทษนายหน้าที่พามาขอทาน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มาตรา 12 ผู้ใดใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นขอทาน หรือนำบุคคลอื่นมาเป็นประโยชน์ในการขอทานของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรานี้ก็ถือเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับเก่าตีความว่าการขอทานเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เลยไม่ได้ระบุมาตราดังกล่าว แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การแสวงหาผลประโยชน์จากการขอทานมีหลายรูปแบบ อย่างที่เรารูกันดีว่ามีธุรกิจขอทานหรือการบังคับขู่เข็ญผู้อื่นให้ขอทานแทนตน ซึ่งทำรายได้มากมายมหาศาล โดยมาตรานี้ก็ได้ระบุโทษที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บฉบับนี้ยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า การกระทำผิดตามาตรานี้ จะมีโทษมากขึ้นถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หากไปบังคับกลุ่มคนที่ระบุในกฎหมาย เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, คนพิการ ป่วย ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์, ผู้ที่อยู่ประเทศอื่น หรือแม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถบังคับให้ลูกๆ มาขอทานได้ กล่าวได้ว่ามาตรานี้เป็นการจำแนกบุคคลที่เป็นขอทาน โดยโดนผู้อื่นบังคับ ซึ่งอาจจะมีส่วนเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย
แยกการเล่นดนตรีเปิดหมวกและการแสดงความสามารถ ออกจากการขอทาน ตามนิยามกำหมายฉบับเก่าระบุว่า มาตรา 6 วรรค 2 การขับร้อง การดีดสีตีเป่า การแสดงการเล่นต่างๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน เมื่อมิได้มีข้อตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเรียกเก็บค่าฟังค่าดู แต่ขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ฟังจะสมัครใจให้นั้น ไม่ให้รับฟังเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้ทำการขอทานตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้
แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ระบุว่า มาตรา 8 การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะ โดยขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือผู้ฟังสมัครใจให้ มิถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัตินี้
นั่นหมายความว่าตามร่างฉบับนี้การเล่นดนตรีหรือการแสดงในที่สาธารณะ ที่เรารู้จักกันว่า เปิดหมวก นั้นไม่เข้าข่ายการขอทาน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นไฮไลท์ เพราะทุกวันนี้ในระดับสากลมองว่าการทำเช่นนี้เป็นการขายความสามารถโดยสุจริต ไม่ใช่การขอทาน
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าใครใคร่เปิดหมวก ก็เปิดตามใจ หากจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียก่อน หากไม่แจ้งล่วงหน้าก็มีสิทธิถูกจับและปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทได้หรือถ้าแจ้งแล้วแต่ไม่ทำตามข้อตกลงของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็มีสิทธิถูกปรับไม่เกิน 5 พันบาทได้เช่นกัน
เมื่อพิจารณาใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ จะพบว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้พยายามจำแนกบุคคลที่มีความคลุมเครือว่าเข้าข่ายขอทานออก ให้เหลือแต่เพียงคนที่เป็นขอทานด้วยความสมัครใจเท่านั้น
มณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. ผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวว่าพ.ร.บ.ควบคุมขอทาน มีใช้มาแล้วถึง 74 ปี ซึ่งมีความล้าหลังไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องเข้าใจก่อนว่าการขอทานนั้นมีปัจจัยจากหลายสาเหตุ ซึ่งมีกฎหมายอื่นๆ ช่วยกำกับด้วยเช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น แต่ทั้งนี้กฎหมายฉบับเก่ายังคงมีความคลุมเครืออยู่ก็คือ การระบุให้คนที่แสดงดนตรีและความสามารถในที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้ชมหรือผู้ฟังมอบเงินให้ตามสินน้ำใจ เป็นการขอทาน ทั้งๆ ที่ทั่วโลกไม่ได้มองเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้การจับกุมควบคุมคนขอทานจึงมีความสับสนปนเป จับทั้งขอทานจริง และไม่ใช่ขอทานบ้าง
มณเฑียรกล่าวอีกว่า เท่าที่เราสำรวจพบว่ามีนักดนตรีที่โดนจับในข้อหาดังกล่าวประมาณ 3,000 คนต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง คือถ้าคนไม่พิการเล่นดนตรีเปิดหมวกจะไม่โดนจับ แต่ถ้าเป็นคนพิการเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าจับ ซึ่งเป็นจุดชี้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติเฉพาะกับคนพิการ ดังนั้นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากจะแยกคนขอทานที่เข้าข่ายโดนบังคับขู่เข็ญ เป็นคนไร้ที่พึ่งจริงๆ แล้ว ยังมีจุดเด่นสำคัญคือการแยกคนที่แสดงความสามารถและเล่นดนตรีเปิดหมวกออกจากกลุ่มคนขอทาน เป็นการแยกน้ำออกจากนำ้มัน และจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สามารถระบุคนที่เป็นขอทานจริงๆ ได้ กล่าวคือไม่ได้ลำบาก ไม่ได้โดนบังคับ แต่พอใจวิถีขอทาน ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายควบคุมคนเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
ด้าน วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ นักรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทานมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ เนื่องจากพ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับเก่ามีความล้าหลังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันการขอทานมีปัจจัยมาจากการค้ามนุษย์ ความสมัครใจ และการแสดงดนตรีความสามารถเพื่อเปิดหมวก โดยรวมแล้วก็มีหลายประเภท นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับเก่า ไม่มีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน เพียงแต่ระบุว่าการขอทานนั้นเป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ เจ้าหน้าที่จะเพียงแต่ส่งไปที่สถานสงเคราะห์เท่านั้น หากหลบหนีก็มีโทษปรับ 100 บาท แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ระบุโทษชัดเจนคือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อถามว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะแก้ไขปัญหาได้ไหม ต้องบอกว่าก่อนว่าจะมีผลดีต่อคนที่ปฏิบัติงาน เพราะว่าเขาสามารถที่จะดำเนินการได้เลย เพราะได้ให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ถ้าถามว่าเมื่อประกาศใช้แล้วปัญหาขอทานจะลดลงเลยไหม ประเด็นนี้เราก็ต้องดูต่อไปว่า การเข้มงวดใช้กฎหมายตัวนี้จะเพิ่มขึ้นด้วยหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดแล้วกฎหมายไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด หากต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้กฎหมายว่าจะนำไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน วิธนะพัฒน์กล่าว
ส่วนความเห็นของ สายัณห์ ใจจริง สมาชิกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้ที่ร้องเพลงเปิดหมวก กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยโดนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จับ โดยพวกเขาบอกว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่เหมาะสมกับคนพิการ การยืนร้องเพลงขอเงินถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน ทั้งๆ ที่ตนก็อยากให้การร้องเพลงนั้นเป็นเพียงแค่การขอน้ำใจจากคนทั่วๆ ไป ซึ่งลำพังจะอาศัยเพียงเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 ก็คงไม่ไหว ถ้าจะให้มองจริงๆ แล้วการร้องเพลงก็ไม่ใช่การขอทาน แต่สาเหตุที่คนส่วนใหญ่มองเช่นนั้นก็เพราะกฎหมายยังไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจน ถ้าหากกฎหมายฉบับใหม่มีการแยกวณิพกออกจากขอทาน ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการแต่อย่างใด เพียงแต่ที่ประชุมสนช.รับร่างและทางรัฐบาลเองได้ขอนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติมภายใน 20 วัน ซึ่งก็ต้องรอลุ้นต่อไปว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกประกาศใช้เมื่อไหร่
แต่ถ้าพิจารณาจากร่างกฎหมายแล้วก็ต้องยอมรับว่านี่จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับกระแสของโลกได้ อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองคุณสมบัติให้เหลือแต่ขอทาน ที่เป็นขอทานจริงๆ โดยสมัครใจ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการแยกน้ำออกจากน้ำมันอย่างชัดเจน
ดังนั้นเมื่อประกาศใช้ต่อไปแล้ว สิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไปก็คือมาตรการการบังคับใช้กฎหมายว่าจะมีความเข้มงวดขนาดไหน เพราะต้องอย่าลืมว่าท้ายที่สุดกฎหมายไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด หากต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจด้วย