ข่าว

ตรวจภายในทั้งกลัวทั้งอาย

ตรวจภายในทั้งกลัวทั้งอาย

18 ธ.ค. 2558

ศุกร์กับเซ็กส์ : ตรวจภายในทั้งกลัวทั้งอาย : โดย...พงศธร สโรจธนาวุฒิ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)

 
     การตรวจภายในเป็นการตรวจรักษาโรคของผู้หญิง ผู้รับบริการตรวจรักษาต้องขึ้นนอนบนเตียงและวางขาบนที่รองขาหรือขาหยั่งสองข้างเพื่อที่หมอจะสามารถตรวจดูอวัยวะเพศได้ชัดเจน ฟังแค่นี้คนที่ได้อ่านอาจรู้สึกไม่สบายใจ บางคนอาจเมินหน้าหนีไม่คิดจะไปตรวจเพราะไม่สามารถก้าวข้ามอาการ “อายหมอ”
 
     หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงอังกฤษมากกว่าครึ่งไม่ไปตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพราะอายหมอ ผลก็คือ ในแต่ละวันมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นวันละ 8 ราย และเสียชีวิตถึงวันละ 3 ราย ทั้งที่จริงแล้วโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาหายขาดได้หากพบตั้งแต่ระยะต้นๆ
 
     ในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามหญิงวัยแรงงานและผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 27 ราย และเสียชีวิตถึงวันละ 14 ราย
 
     แม้ว่าจะมีผู้หญิงหลายคนคิดว่าการตรวจภายในยังไม่จำเป็นเพราะอายุยังไม่มาก อันที่จริงผู้หญิงทุกวัยสามารถตรวจภายในเพื่อตรวจเช็กสุขภาพได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะถ้ามีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยเช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีตกขาวผิดปกติ การตรวจการตั้งครรภ์ เป็นต้น
 
     เมื่อปี 2555 ภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการจำนวนกว่า 25,000 ราย โดยสอบถามถึงความรู้สึกของผู้ป่วยขณะที่ต้องมาตรวจภายใน และขึ้นเตียงขาหยั่ง
 
     ผู้ป่วยส่วนใหญ่ระบุว่ารู้สึกกลัว อาย ไม่อยากมาเพราะกลัวเจ้าหน้าที่พูดจาไม่ดี กลัวแพทย์เอาผลตรวจไปเล่าสู่กันฟัง อยากอยู่ในห้องกับแพทย์เพียงสองคน กังวลหากมีคนเดินเข้ามาในห้องตรวจ รวมถึงคนที่เดินผ่านมาแล้วมองเห็น หลายรายถึงกับเรียกว่า “รู้สึกเหมือนเข้าสู่แดนประหาร” เลยทีเดียว
ที่จริงแล้วการตรวจภายในต้องอาศัยความผ่อนคลายของผู้เข้ารับการตรวจค่อนข้างมาก เพราะหากความกลัวและอายทำให้บิดเกร็งตัวจะทำให้คุณหมอตรวจได้ยากลำบาก ผลการตรวจอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อน รวมทั้งทำให้รู้สึกเจ็บปวดด้วย
 
     ทางออกสำหรับการตรวจภายในคือการเตรียมตัวหาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจล่วงหน้า การรับรู้ว่าจะต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง จะช่วยคลายความกังวลลงได้บ้าง นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถบอกกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งคุณหมอที่มาตรวจถึงความกลัวหรือกังวลใจของตัวเอง
 
     บางคนมีการสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อขอตรวจกับคุณหมอผู้หญิง หรือใช้วิธีโทรศัพท์ไปเช็กล่วงหน้าว่ามีคุณหมอผู้หญิงเข้าเวรในช่วงเวลาใดบ้าง อันที่จริงแล้วคุณหมอผู้ชายหรือผู้หญิงไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะสำคัญอยู่ที่ทักษะและความเชี่ยวชาญของคุณหมอแต่ละท่านมากกว่า
 
     นอกจากนี้ควรเลือกตรวจในวันที่ไม่มีประจำเดือน งดการใช้ยาเหน็บในช่องคลอด ผ้าอนามัยแบบสอด ฉีดสเปรย์ แป้งฝุ่น รวมถึงการมีเซ็กส์แบบสอดใส่อย่างน้อย 1 วันก่อนมาตรวจรวมทั้งไม่ลืมที่จะให้ข้อมูลแก่คุณหมอโดยละเอียดตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการวินิจฉัยและดูแลรักษา