ข่าว

'หัวเห็ด'หมายมั่นจะล้มยักษ์ งัดทีเด็ด'อร่อยเยอะ ประโยชน์แยะ'

'หัวเห็ด'หมายมั่นจะล้มยักษ์ งัดทีเด็ด'อร่อยเยอะ ประโยชน์แยะ'

14 ธ.ค. 2558

'หัวเห็ด'หมายมั่นจะล้มยักษ์ งัดทีเด็ด'อร่อยเยอะ ประโยชน์แยะ' : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง อนัญชนา สาระคู ภาพ แมน น้อยพิทักษ์

           ลองคิดกันดูว่า หากมี “สแน็ก” หรือ “ขนมกินเล่น” ที่เป็นสินค้าไทย เจ้าของเป็นคนไทย แล้วสามารถไปตีตลาดแข่งขันกับ “มันฝรั่ง” ขนมกินเล่นยอดฮิตของคนทั่วโลกได้ แค่คิดแบบนี้ก็น่าสนุกไม่ใช่น้อย ถึงแม้หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องยาก หรือฝันสูงจนเกินไป แต่ในอีกทางหนึ่งก็มองได้ว่า ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายสูงๆ เอาไว้ก่อน ก็จะไม่มีสิ่งท้าทายที่ให้เราพยายามก้าวไปให้ถึงจุดหมายนั้นได้

           แล้วตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ที่จะมีผู้ผลิตคนไทยหวังจะ “ล้มยักษ์” ในแบบที่ว่า ด้วยเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เห็ดอบกรอบ ภายใต้แบรนด์ “หัวเห็ด” ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศและผลิตในประเทศ ให้สามารถเข้าไปตีตลาดโลก เอาชนะขนมกินเล่นที่ครองใจคนไทยและทั่วโลกอย่างมันฝรั่ง หรือแม้แต่ สาหร่าย และถั่ว โดยนำจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพและคุณประโยชน์ของเห็ด บวกกับความอร่อย นำทาง...

           “คม ชัด ลึก” ได้พูดคัยกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ หัวเห็ด “พณัญญา ธิติบดินทร์” กรรมการผู้จัดการ และ “เศรษฐกาล เศรษฐภากรณ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มายาณกานต์ จำกัด สองสามีภรรยาที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดอบกรอบมานานร่วมปี จนได้เริ่มเปิดตัวสู่ตลาดในประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา

           “ในมุมของผม มันฝรั่งทอดเกิดมาจากต่างชาติ และเป็นอะไรที่ผู้บริโภคนิยมไปทั่วโลก แต่การที่เราจะทำธุรกิจ ก็อยากจะฝัน จึงตั้งวิชั่นไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากจะชนะมันฝรั่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นความท้าทายของเราเองแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องคุณประโยชน์ หากเรามองลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า มันฝรั่งให้แค่พลังงานและความอร่อย แต่สำหรับเห็ด นอกจากจะให้ความอร่อยแล้วยังให้คุณประโยชน์ด้วย ซึ่งแม้เป้าหมายที่ว่าจะยังเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าสักวันหนึ่ง ถ้าเราสามารถสร้างตลาดได้ และเราก็จะสร้างตลาดเพื่อไปหายใจรดต้นคอ มันฝรั่ง” เศรษฐกาล บอกเล่าถึงวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจใหม่นี้

           แต่ตอนนี้เราต้องมองตลาดที่แยกออกจากตลาดมันฝรั่งก่อน คือต้องการสร้างความพร้อมให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเดินหน้าสู้ รวมทั้งต้องทำให้ผู้บริโภคพร้อมด้วย โดยมองว่า เห็ด (mushroom) เป็นพืชที่คนทั่วโลกรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่น คนจีน รวมไปถึงผู้บริโภคในแถบตะวันตก ยุโรป ก็รู้จักเห็ดกันเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น mushroom จะมีความเป็นสากลอยู่ในตัวที่คนทั่วโลกรู้จักดีอยู่แล้ว แต่การจะทำให้สินค้าของเราไปเข้ากับรสนิยม หรือความชอบของคนในแต่ละชนชาติได้ นั่นเป็นเสน่ห์และความท้าทายที่จะต้องมี อย่างไรก็ตาม เรามองตัวเราเองไม่ใช่แค่สินค้าเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่เราเป็นขนมกินเล่นที่ทุกคนสามารถกินได้

           ทั้งนี้ ปัจจุบัน พณัญญา รับช่วงบริหารธุรกิจจิวเวลรี่ เครื่องประดับเพชร (Chanya Gems) นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 ของธุรกิจครอบครัวที่มีมายาวนานถึง 20 ปี ส่วน เศรษฐกาลผ่านงานสายอาชีพด้านการตลาดมานานกว่า 18 ปี และตำแหน่งล่าสุด คือ head of marketing บริษัท สวารอฟสกี้ (ประเทศไทย) จำกัด

           เศรษฐกาล บอกว่า อยากจะหยุดในงานสายอาชีพ และหันมาทำธุรกิจที่เป็นของตัวเอง จึงได้หารือกัน ซึ่งตอนนั้นคิดว่า อยากทำธุรกิจที่ไม่ซ้ำใคร เป็นตลาดใหม่ และทำอะไรที่มีความท้าทาย ประกอบกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีแห่งการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการ ทำให้มีตลาดเออีซี เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากตลาดในประเทศ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่จะออกมา ก็ไม่ควรโฟกัสเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังควรสามารถออกไปได้ในเออีซี และทั่วโลก เราจึงมาสรุปกันที่ “ขนมกินเล่น” จากนั้น เมื่อทำการศึกษาข้อมูล พบว่าขนมกินเล่นในปัจจุบันมีอยู่มากมาย แต่ถ้าเป็นขนมที่กินแล้วมีประโยชน์ ได้สารอาหารทั้งโปรตีน และวิตามิน ในตลาดยังมีไม่มากนัก อีกทั้งเราต้องการนำสินค้าเข้าไปเจาะในตลาดแมส คือทุกคนสามารถกินได้ จึงมาลงเอยที่เห็ด

           และมาจบที่เห็ดนางฟ้า และเห็ดเข็มทอง ซึ่งเห็ดทั้งสองชนิดนี้ให้ประโยชน์แก่คนทั้งโปรตีน วิตามิน ไฟเบอร์ และธาตุเหล็ก

           โดยได้เปรียบเทียบขนมกินเล่น ระหว่าง เห็ด กับมันฝรั่ง สาหร่าย และถั่ว เมื่อเทียบคุณประโยชน์ระหว่างกันแล้ว มันฝรั่งและสาหร่ายให้ประโยชน์คือ พลังงาน ขณะที่ถั่วและเห็ดจะให้โปรตีน แต่สำหรับถั่วแล้วในความเป็นจริงคือจะทำให้ฟันสึก ไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ขณะที่เห็ดให้โปรตีนเช่นกัน จึงสามารถทดแทนได้

           “เรากระโดดข้ามมาจากธุรกิจที่ทำอยู่ มาเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด เพราะครอบครัวของเรา เป็นครอบครัวที่ชอบทานอยู่แล้ว จึงคิดว่าอยากจะหาอะไรทาน อย่างสแน็กที่มีประโยชน์ ลูกเราสามารถทานได้ และเราก็แฮปปี้ที่จะให้ลูกเราทานอะไรพวกนี้ได้” พณัญญา กล่าวเสริม และบอกอีกว่า ก็มาประจวบเหมาะพอดีกับกระแสการปลูกเห็ด การทำฟาร์มเห็ดในบ้านเราที่มีมากขึ้น ส่วนกระแสรักสุขภาพ ก็มองไปยังกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพด้วยเช่นกัน เพราะตอนนี้คนหันมาเน้นเรื่องการรักษาสุขภาพ ห่วงสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน เราจึงใช้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเปิดตัวสินค้า

           หากได้ลองชิมโปรดักท์ของเราก็จะเข้าใจ และเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของเราด้วยที่ว่า “อร่อยเยอะ ประโยชน์แยะ” คือทุกอย่างอยู่ตรงนี้ และยังได้สุขภาพเป็นของแถม แต่ก็ไม่ได้อยากให้คนคิดแค่ว่า เมื่อทานสินค้าเราแล้วจะได้เรื่องสุขภาพเท่านั้น อยากให้คิดว่า หัวเห็ด เป็นสแน็กอย่างหนึ่งที่กินแล้วชอบ ใช่เลย สามารถเข้ามาแทนที่ขนมที่คุณกินอยู่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นมันฝรั่ง หรือสาหร่าย ขอให้ได้ลองก่อน ต้องเปิดใจกันสักนิดว่า เห็ด เป็นอะไรที่ใหม่เข้ามา แต่ถ้าได้ลองสักครั้งแล้วคุณก็จะรู้

           เศรษฐกาล กล่าวอีกว่า เริ่มแรกเลยเราอยากให้สินค้าตัวนี้เป็นของกินเล่น แต่เราเน้นในจุดนี้ก่อน คือเป็นการเป็นสแน็กเพื่อสุขภาพ อร่อยเยอะ ประโยชน์แยะ ดังนั้น คีย์ของมันคือต้องอร่อย และมีประโยชน์ เป็นสินค้าที่มีคุณค่า กินได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนมีอายุ คนมีรายได้น้อย ปานกลาง หรือมีรายได้มาก ก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน เนื่องจากการที่เรามีโรงงานผลิตสินค้าของเราเอง ทำให้สามารถทำราคาได้ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วๆ ไปจะมีราคาสูงเฉลี่ยอยู่ที่ซองละ 50-70 บาท แต่เราจำหน่ายซองละ 30 บาท

           ที่ทำได้เช่นนี้ เนื่องจากในระหว่างศึกษาศักยภาพว่าเราจะสามารถทำธุรกิจนี้อย่างไรได้บ้าง เราก็เลือกที่จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเอง มากกว่าการเป็นผู้รับจ้างผลิต โดยใช้เงินลงทุน ตั้งโรงงานผลิตกว่า 10 ล้านบาท เพราะคิดว่าการที่เราผลิตได้เอง จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ได้เอง ทั้งด้านต้นทุน และการทำลูกเล่นทางการตลาดได้ดี รวมทั้งยังคัดวัตถุดิบเอง ซึ่งได้วัตถุดิบมาจากพรรคพวกที่รู้จักกัน ทำให้เราได้เห็ดที่ปลอดสารและปลอดจากยาฆ่าแมลง ปลูกจากรำข้าว ทำให้ไม่มีสารปนเปื้อน และในผลิตภัณฑ์ของเราก็ไม่มีผงชูรส เพื่อให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในรสชาติที่ดีที่สุด และมีประโยชน์ที่สุด

           ปัจจุบันที่โรงงานมีกำลังการผลิต 8,000-10,000 ซองต่อวัน ซึ่งการที่เรามีโรงงานผลิตของตัวเองทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้เอง โดยต้องการเน้นความสดใหม่ของสินค้า และเน้นการดูแลสวัสดิการพนักงานให้มีความสุขที่ทำงานอยู่กับเราด้วย

           สำหรับผลิตภัณฑ์มี 2 แบบ รสชาติเดียวกันคือจะเป็นรสดั้งเดิม แต่ด้วยเนื้อและกลิ่นเฉพาะของเห็ดเอง ทำให้รสชาติออกมาคนละแบบ อย่างเห็ดนางฟ้า ซองสีเหลือง จะให้รสชาติที่เข้มข้นกว่า ส่วนเห็ดเข็มทอง ซองสีเขียว รสชาติที่ได้จะเบาๆ กว่า ไม่เข้มข้นเท่าสีเหลือง และตามกระบวนการผลิตจะอยู่ได้ 6 เดือน เพื่อต้องการคงสภาพและรสชาติของเห็ด ส่วนปีหน้าก็จะเพิ่มรสชาติอื่นๆ เข้ามาให้มากขึ้น

           “ที่เราออกมาทั้ง 2 แบบนี้ก่อนก็เพราะต้องการให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสของความเป็นเห็ดอย่างแท้จริง ไม่ได้เอาแป้งมาห่ม ดังนั้น คนที่ได้ทานก็จะได้รสชาติของเห็ดแบบเต็มๆ เราจึงออกมาเป็นรสดั้งเดิมก่อน เพื่อปูพื้นว่ากินแล้ว นี่คือ เฮลตี้ เทสต์ และก็ไม่ได้เจาะจงเฉพาะคนไทย เพราะมีลูกค้าทั้งจีน ญี่ปุ่น และประเทศรอบบ้านเรา ซึ่งผลตอบรับออกมาเป็นบวก ส่วนปีหน้าแน่นอนว่าจะมีรสชาติอื่นๆ เพิ่มเข้ามา รวมทั้งเพิ่มขนาดของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการแตกไลน์อื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต”

           ในด้านการทำตลาด พวกเขาเล่าว่า เพิ่งจะเริ่มเปิดตัวไม่นานมานี้ จึงเน้นไปที่การใช้ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ทั้ง อินสตาแกรม (ไอจี) เฟซบุ๊ก และไลน์ ในชื่อเดียวกันทั้งหมด คือ huahedkrob และยังให้คนดังมาช่วยโปรโมท เน้นการทำโปรโมชั่น ณ จุดขาย และเน้นการแจกตัวอย่างเพื่อให้คนได้ทดลองชิม เพื่อให้คนได้รับรู้ถึงรสชาติที่แตกต่างจากสแน็กทั่วไป รวมไปถึงการวางจำหน่ายใน ท็อปส์ เดอะมอลล์ และยูเอฟเอ็ม โดยผลตอบรับถือว่าดีเกินคาด ตั้งแต่ที่ออกมามียอดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกเดือน ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น

           “ในปีนี้เราเริ่มด้วยการแนะนำตัวเราก่อน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านค้าโชห่วย ร้านค้าสุขภาพ และในจุดที่มีนักท่องเที่ยว ส่วนปีหน้าจะขยายให้ครอบคลุมไปไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์”

           ส่วนการทำตลาดต่างประเทศ เบื้องต้นเริ่มที่การแนะนำสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวก่อน ด้วยการนำสินค้าเราไปวางในตลาดที่มีนักท่องเที่ยว สถานที่ที่มีกรุ๊ปทัวร์ต่างชาติลง ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดีมากและน่าต่อยอด ส่วนปีหน้า จะเริ่มออกตลาดโดยเน้นในกลุ่มเออีซีก่อน จะมีทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขอฮาลาล และเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานในประเทศ เช่น โปรดักท์ ออฟ ไทยแลนด์ หรือ ไทยแลนด์ เบสท์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการออกสู่ตลาดโลก โดยหากได้เครื่องหมายฮาลาลก็พร้อมที่จะส่งออกไปยังตะวันออกกลาง

           โดยเมื่อดำเนินการในภาคการผลิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือแล้ว ก็จะออกไปหาคู่ค้า จะจำหน่ายผ่านดีลเลอร์ที่มีศักยภาพ ออกไปโรดโชว์ ออกงานเทรดแฟร์ต่างๆ สำหรับปีหน้า หากไม่มีปัญหาทางการเมือง บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 100 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปก็อยากจะได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่การจะทำได้ ทุกอย่างต้องเอื้ออำนวย การที่เราจะสร้างตลาดก็ไม่อยากให้มีปัจจัยภายนอกเข้ามามีผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่คาดฝัน หรือไม่คาดฝันก็ตาม

           สำหรับการรับรู้ของคนทั่วไป คือรู้ว่าเห็ด มีประโยชน์ โดยเห็ดเข็มทอง ให้ประโยชน์คือ โปรตีน วิตามิน บี 1 บี 2 ไฟเบอร์ และธาตุเหล็ก ส่วนเห็ดนางฟ้าให้โปรตีน วิตามิน ซี ไฟเบอร์ และธาตุเหล็ก แต่เราไม่เคยได้ยินว่ามันฝรั่งมีประโยชน์ เพราะฉะนั้น กลุ่มที่รู้จักเห็ดอยู่แล้วเราก็อาจจะไม่ต้องแนะนำอะไรมาก แต่สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่รู้จักนัก นั่นคือภาคที่เราจะต้องเข้าไปให้ความรู้ด้วย และแน่นอนว่า อยากฝากให้ผู้บริโภคได้ทดลองกิน ให้เห็นว่ามีสแน็กที่มีประโยชน์ และได้กินของดีและอร่อยที่มีประโยชน์

           นอกจากนี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์หัวเห็ด ยังได้บอกเล่าถึงโอกาสทางการตลาดที่กำลังเปิด ภายใต้ “เออีซี” ด้วยว่า แรกเริ่มทีเดียว เราตั้งบริษัท มายาณกานต์ จำกัด ขึ้นมาเพราะเรามีความคิดในเรื่องอื่นก่อน คือการนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่าย แต่มาคิดดูอีกที ก็คิดว่าไม่น่าใช่ เพราะอีกหน่อยหากรวมตัวเป็นเออีซีแล้ว การที่เราจะเป็นผู้นำเข้าอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะอีกหน่อยตลาดจะเปิดกว้างมากขึ้น จึงคิดว่าการที่เราเป็นผู้ผลิตเอง ส่งออกเอง น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

           “อีกทั้งความคิดแรกของเรา คืออยากให้สินค้าติดตลาดในบ้านเราก่อนด้วย อยากแข็งแรงจากภายในบ้านเราก่อน แต่ในจังหวะที่เราทำตลาดอยู่นี้ ก็มีคนที่เข้ามาสนใจและติดต่อเข้ามาเอง อย่างในตอนนี้ ตัวเราเองยังไม่ได้ก้าวไปหาเขา แต่เขาก็ก้าวมาหาเราเอง เช่นในรอบบ้านเราก็เข้ามาสอบถาม ทำให้เห็นว่า พอเปิดเออีซี ทำให้คนจำนวนมากมองเห็นโอกาส และมองหาช่องทางเหมือนกัน” พณัญญา กล่าว

           แต่หากถามว่า เราจะหยุดแค่ตัวผลิตภัณฑ์ “หัวเห็ด” หรือไม่ เราก็ยังมองว่าธุรกิจอาหาร ทำให้เรายังสามารถแตกไลน์ไปได้อีกไกล

“บนความแตกต่าง ก็ยังมีความเหมือน”

           “ธุรกิจจิวเวลรี่” และ “ธุรกิจอาหาร” เรียกได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งคู่ “พณัญญา-เศรษฐกาล” บอกว่าจะดำเนินธุรกิจทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป แต่มองการเติบโตไปที่ธุรกิจอาหารเป็นหลัก

           โดยฝ่ายภรรยาบอกว่า ธุรกิจหัวเห็ด กับที่ทำอยู่ ถือว่าแตกต่างกันมาก ในแง่ของการเป็นสินค้า ลักชัวรี่ (luxury) ทุกวันนี้เราใช้ดีไซน์แข่งขันในตลาด ซึ่งจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ยังนิยมในตัวสินค้าและตั้งใจที่จะเข้ามาหาเรา และเราจะเจอกับลูกค้าโดยตรง ขณะที่ธุรกิจใหม่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ที่พอเราเข้าไปในธุรกิจนี้จริงๆ ก็พบว่าผู้แข่งขันมีอยู่มากมาย ทำให้ต้องเน้นทั้งเรื่องราคา รสชาติ และการบริหารที่ต้องดูแลเองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือเราต้องเริ่มจาก ศูนย์ จึงถือว่ายากง่ายผิดกันเยอะมาก

           อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจจิวเวลรี่ ในบ้านเรายอมรับว่าทำยากมากขึ้น เพราะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยบางคนมองจุดเริ่มต้นของธุรกิจแบบง่ายๆ คือคิดแค่มีเงินลงทุนก้อนหนึ่งแล้วก็คิดว่าของไม่เน่าไม่เสีย แต่ความเป็นจริงแล้ว ความรับผิดชอบในอาชีพ มันมีอะไรมากกว่านั้นมาก ซึ่งการเติบโตของธุรกิจโดยรวมก็น่าจะไปได้ แต่ก็ลดลงไปบ้างเพราะมีคนบางกลุ่มมาทำให้ตลาดเสื่อมไปตามสภาพ แต่หากมองในระยะยาว ธุรกิจยังไปได้ เพราะจิวเวลรี่ เป็นอะไรที่ทุกคนจะมีความหลงใหล และก็จะมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อยู่เรื่อยๆ

           “หากจะมองในเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจนั้น ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยธุรกิจเพชร มีความยั่งยืนด้วยตัวเองอยู่แล้ว เลี้ยงตัวได้ แต่หากจะมองเรื่องการขยายตลาด ธุรกิจอาหาร มองว่าจะสามารถขยายไปได้กว้างไกลกว่ามากถ้าเราสามารถทำได้ ทั่วประเทศและทั่วโลก ถ้าจะมองในจุดนี้คือ เราโตมาได้ด้วยธุรกิจจิวเวลรี่ ที่เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าจะให้ขยายออกไป ต้องการมองที่ธุรกิจอาหาร เพราะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ทุกชนชั้น”

           ฝ่ายสามี กล่าวว่า ในมุมมองของตนนั้น จากที่ผ่านงานสายอาชีพด้านมาร์เก็ตติ้ง ทั้ง เทเลคอมมูนิเคชั่น สปอร์ต แฟชั่น และลักชัวรี่ เห็นว่าแต่ละอย่างจะมีทั้งความยากและง่ายอยู่ในตัว แต่ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องมองว่าเราทำสินค้าที่มีคุณภาพ คุ้มค่ากับเงินของผู้บริโภคที่ซื้อไปแล้วจะไม่เสียดายเงิน สำหรับธุรกิจอาหารเอง เป็นสิ่งที่เราทั้งคู่ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัส แต่ก็ได้เห็นความท้าทายที่ทำให้อยากเข้ามา และการที่เราคิดไว้ คืออยากทำอะไรที่ไม่ซ้ำกับใคร แน่นอนว่ามันจะมีความยากในตัว แต่คิดว่าคีย์ของความสำเร็จ คือที่ตัวผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะต้องมีคุณภาพดี รสชาติดี มีประโยชน์กับคนรับประทาน จากนั้นจะเป็นสิ่งปรุงแต่งอยู่ที่เราจะสามารถสร้างการรับรู้ให้แก่ลูกค้า ให้เลือกบริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของเรานี้ดีจริงและดีกว่า

           สำหรับการทำตลาด ความต่างจะอยู่ที่การเป็นธุรกิจจิวเวลรี่ จะเป็นรีเทล บิสิเนส ที่จะมีหน้าร้านของเรา เราจะสามารถคัดคุณภาพของสินค้า ควบคุมการผลิต และออกแบบของเราเอง ถึงลูกค้าโดยตรง ส่วนสแน็ค เราจะเป็นผู้ผลิตสินค้า และเราจะต้องเชื้อเชิญคู่ค้า ผู้กระจายสินค้า ให้เขามั่นใจในสินค้าของเราและนำไปขาย ถ่ายทอดในสิ่งที่เราอยากบอกไปสู่พนักงานของเขา ทำให้ แวลู เชน (Value chain หรือ ห่วงโซ่คุณค่า) จะมีมากกว่า ที่เราจะต้องสื่อสารออกไป

           “หากมองถึงความต่าง คืออย่างสินค้าลักชัวรี่ จะไม่มีเรื่องสต็อกเสื่อม และอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ แต่เราก็จะต้องบริหารจัดการสต็อก ส่วนจุดเหมือนของทั้งสองธุรกิจก็มีอยู่ คือการที่เราต้องการทำให้สินค้าของเรานั้นมีคุณภาพ”

           ส่วนความมั่นคง จะคนละแบบกันเพราะทิศทางการสร้างธุรกิจ และเป้าหมายที่แตกต่าง แต่ก็มีความมั่นคงทั้งคู่ เนื่องจากเราเป็นผู้ผลิตในทั้งสองธุรกิจเอง คือธุรกิจจิวเวลรี่ เราเน้นภาพลักษณ์ และสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนสแน็ค เราก็เลือกที่จะเป็นผู้ผลิตด้วย เพื่อจะสามารถบริหารจัดการ พัฒนาสินค้าได้เองทำตลาดด้วยตัวเองที่เราไม่ได้มองเฉพาะภายในประเทศ แต่เรามองออกไปทั่วโลก