
ข้อคิดเกี่ยวกับ 'ฟันกระต่าย'
13 ธ.ค. 2558
พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : ข้อคิดเกี่ยวกับ 'ฟันกระต่าย' : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
“ฟันกระต่าย” เป็นเรื่องของกระต่ายจริงๆ ครับ มิใช่ของคนที่มีฟันตัดคู่หน้าใหญ่เป็นจอบ ที่เรียกว่า “ฟันกระต่าย” นะครับ
วันนี้จึงเป็นทำนองรู้ไว้ใช้ว่าใส่บ่าแบกหามของคนรักและเลี้ยงกระต่ายรวมถึงท่านอื่นๆ ที่รักสัตว์ด้วย รู้ไว้โม้ก็ยังดี
- กระต่ายต่างจากหนูแกสบี้ ตรงที่กระต่ายเป็นสัตว์คนละตระกูลกับหนูแกสบี้ มันไม่ใช่สัตว์ฟันแทะแม้ดูว่ามีฟันตัดคู่หน้าขนาดใหญ่ก็ตาม แต่กระต่ายยังมีฟันตัดคู่เล็กซ้อนอยู่หลังฟันตัดใหญ่คู่หน้าอีกคู่หนึ่ง ทำให้เขาจัดมันอยู่ในตระกูล Lagomorphs และฟันตัดคู่เล็กนี้เรียกว่า “Peg Teeth”
- กระต่ายมีฟันน้ำนมที่จะหลุดออกไปภายหลังคลอด
- ฟันกระต่ายไม่มีคอฟัน (รอยคอดระหว่างตัวฟันกับรากฟัน) เหมือนเช่นฟันสัตว์อื่น
- ฟันกระต่ายจะเจริญงอกยาวออกมาตลอดเวลา จึงทำให้มันต้องกัดกินอาหารแข็งเพื่อให้สึกกร่อน ไม่ยาวเกินไป
- กระต่ายไม่มีเขี้ยว
- กระต่ายมีฟันกรามเป็นชุดใช้บดเคี้ยว
- อันตราการงอกโดยเฉลี่ยประมาณ 2 มิลลิเมตรต่ออาทิตย์ สำหรับฟันตัดคู่หน้าบนและ 2.4 มิลลิเมตร ต่ออาทิตย์สำหรับฟันตัดคู่หน้าล่าง
ปัญหาเรื่องฟันของบันนี่ มีสาเหตุมาจาก
1.ความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด
2.ถูกกระทบกระเทือนรุนแรง
3.วัตถุแปลกปลอมรบกวน
4.เนื้องอก
5.ให้อาหารผิด
- การให้อาหาร และวิธีการเลี้ยงเป็นเหตุให้เกิดโรคฟันแก่น้องบันนี่ได้ และต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
- โรคอันเกิดจากความผิดปกติด้านการเติบโตของกระดูก เป็นผลให้เกิดความผิดรูปร่าง ของกระดูกกะโหลกศีรษะ และฟันของกระต่าย ซึ่งคุณหมอจะตรวจยืนยันได้ด้วยวิธีการส่องตรวจฟันที่ผิดรูปร่างให้เห็นผ่านกล้องส่องช่องปาก และนำกระต่ายไปถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย (เอกซเรย์) ก็จะช่วยบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้ชัดเจน
- โรคฟันที่เกิดจากการเลี้ยงดูและอาหาร มักเริ่มสังเกตเห็นได้จากความผิดปกติของผิวเคลือบฟันที่สึกกร่อนหรือไม่สม่ำเสมอ การงอกของฟัน การผิดรูปร่างและทรงของฟัน ฟันหยุดการเจริญเติบโต และฝีที่เหงือกและรากฟัน
ฯลฯ
วันนี้กลับไปดูฟันของน้องบันนี่ก็ดีเหมือนกันนะครับ!
--------------------
(พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : ข้อคิดเกี่ยวกับ 'ฟันกระต่าย' : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร)