
พยาบาลเต่าหลังผ่าตัด!
08 พ.ย. 2558
พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : พยาบาลเต่าหลังผ่าตัด! : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
ยุคก่อนใครจะเชื่อว่าเขามีการผ่าตัด “เต่า!!" มายุคนี้ ไม่แปลกถ้าเต่าจะเข้ารับการผ่าตัดเฉกเช่นมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ด้วยวิทยาการที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเต่าเองก็ต้องการรับการรักษาทางศัลยกรรมด้วยโรคภัย
ความเจ็บป่วยต่างๆ เช่น “ไข่ค้าง” เบ่งไม่ออกก็ต้องผ่าตัดเปิดกระดองเอาไข่ออกทางหน้าท้อง รถทับกระดองแตกก็ต้องผ่าตัดซ่อมอวัยวะภายในที่เสียหายและทำศัลยกรรมเชื่อมต่อกระดอง ฯลฯ
ปัจจุบันสัตวแพทย์ผ่าตัดเต่าก็มีพอควร ผ่าตัดได้สำเร็จดี แต่ปัญหาที่มักพบคือการดูแลหลังผ่าตัดมักมีปัญหา เช่น การติดเชื้อแทรกซ้อน การดูแลแผล การพยาบาลทั่วไป ฯลฯ ฉะนั้นความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ที่จำเป็นมากส่วนหนึ่งจึงต้องมาจากการพยาบาลหลังผ่าตัด เต่าจึงจะรอดซึ่งเจ้าของต้องช่วยพยาบาลด้วย ดังนี้
- เต่าก็เจ็บปวดเป็นเช่นสัตว์อื่น ฉะนั้นต้องให้ยาระงับปวดแก่เต่าด้วย อย่าลืมถามหาจากคุณหมอและจัดให้ตามสั่ง
- กรณีแผลที่ติดเชื้อมาก่อน หรือกระดองแตกรุนแรง เป็นมานาน การให้ยาปฏิชีวนะก็ย่อมจำเป็นโดยคุณหมอจะสั่งจ่ายให้ ซึ่งเจ้าของต้องให้กินตามระบุ ห้ามหยุดยาเอง เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดการดื้อยาได้
- สถานที่พยาบาลควรเงียบสงบ ปราศจากการรบกวนใดๆ
- ตู้พยาบาลควรปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงเหมาะสมเนื่องจากเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น จำเป็นต้องได้รับความร้อนจากแหล่งภายนอกตัวมาใช้ปรับอุณหภูมิร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ โดยมักใช้อุณหภูมิที่เป็นอุณหภูมิสูงสุดของช่วงที่เหมาะสมซึ่งมักเป็นช่วงกว้างๆ (ระหว่าง 30 ถึง 35 องศาเซลเซียส)
- ขณะรอเต่าฟื้นตัวหลังผ่าตัด ควรกระตุ้นให้สัตว์ฟื้นและหายใจเป็นระยะๆด้วยการใช้เล็บจิกบริเวณอุ้งตีนของเต่า
- ตรวจเช็กสภาวะแวดล้อมให้อยู่ในระดับเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ กลิ่น ฯลฯ
- ยังไม่ให้แผลสัมผัสน้ำในระยะ 7 ถึง 14 วัน แต่ต้องให้น้ำกินตลอดเวลา
- บันทึกอัตราการกินอาหารอย่างน้อย เช้า-บ่าย ทุกๆ วัน หากไม่กินอาหารควรหารือสัตวแพทย์เพื่อการป้อนอาหารเหลวสำเร็จรูปลงสู่กระเพาะโดยตรงแทน
- การตัดไหมในเต่ามักกระทำเมื่อ 4 ถึง 6 อาทิตย์หลังผ่าตัด
เป็นพยาบาลเต่า ไม่ยากอย่างที่คิด!
---------------------
(พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : พยาบาลเต่าหลังผ่าตัด! : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร)