ข่าว

หลากมุมมองนักวิชาการ ระบบเลือกตั้ง 'จัดสรรปันส่วนผสม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมุมมองนักวิชาการ ระบบเลือกตั้ง 'จัดสรรปันส่วนผสม' : โดย...จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่น

 
                      เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะบรรจุระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ก็คือระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ใช้ระบบกาบัตรใบเดียวมาแทนระบบเดิมที่ให้กาบัตรสองใบ เลือกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควบคู่กันไป ตามวิถี “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”
 
                      แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าระบบที่คิดขึ้นมาใหม่นี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะจะนับรวมเฉพาะคะแนนของผู้แพ้เป็นคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่คะแนนของผู้ชนะจะไม่ถูกมาคำนวณรวมด้วย  โดย กรธ.ชี้แจงว่า ระบบนี้จะไม่ทำให้ “คะแนนตกน้ำ” 
 
                      “อ.วิโรจน์ อาลี” อาจารย์ประจำคณะรัฐศสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมาว่า “การตั้งเป้าหมายไว้ที่ ส.ส.เขต แล้วเอาคะแนนเสียงของคนแพ้ ไปนับเป็นคะแนนเพื่อหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แนวคิดเช่นนี้มันขัดกับหลักการของประชาธิปไตยไปนิดหน่อย”
 
                      เขาระบุว่า เป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยในส่วนที่เป็นระบอบรัฐสภา คือต้องการให้มีพรรคเสียงข้างมากซึ่งจะต้องมีมากพอสมควร เพื่อสะท้อนให้เห็นเจตจำนงการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน อีกทั้งหากใช้วิธีนี้ก็จะได้รัฐบาลแบบผสม ซึ่งที่ผ่านมาหากย้อนไปดูเหตุการณ์ทางการเมืองหลังยุคพฤษภาทมิฬ จนไปถึงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ จะเห็นผลของการมีรัฐบาลที่มีพรรคเสียงข้างน้อยผสมกันมากๆ ส่งผลให้ประสบปัญหาเรื่องเสถียรภาพในการดำเนินงาน กล่าวคืออำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ทำให้ความสำคัญของนโยบายลดลง
 
                      ดังนั้น หาก กรธ.อยากให้ทุกเสียงมีความหมายจริง ก็ควรจะออกแบบการเลือกตั้งให้พรรคเดียวมีหลายเบอร์ในหนึ่งเขตมีหลายที่นั่งในสภา แบบเมื่อก่อนที่เราเคยทำเขตหนึ่งเลือก 3 คนก็ได้คิดว่าหากทำแบบนี้น่าจะสะท้อนเจตจำนงของผู้ใช้สิทธิได้ดีกว่า เพราะเข้าไปเลือกแล้วคนนั้นได้เป็นเพราะถูกเลือก ไม่ใช่มาเลือกหมายเลขนี้แล้วแพ้การเลือกตั้ง แต่กลับได้ที่นั่งในสภา ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกแบบให้พรรคเล็กได้เสียงมากเกินความจำเป็น
 
                      “เมื่อเราได้ลองคำนวณดูจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมแล้วจะพบว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงเยอะ จำนวน ส.ส.จะลดลง ในขณะเดียวกันพรรคเล็กๆ กลับมีจำนวนเสียงสภาเพิ่มขึ้น หมายความว่า คุณไปลงโทษพรรคที่ได้ความนิยม แล้วก็ให้น้ำหนักกับพรรคที่ได้รับความนิยมน้อย หรือไม่ได้เน้นยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ ส.ส.เสียงข้างมาก ซึ่งผมคิดว่าไม่แฟร์เท่าไหร่ อีกทั้งจะทำให้สิ่งที่เรียกว่าเจตจำนงของประชาชนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยหายไปด้วย”
 
                      ขณะที่ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาปกครองคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ความเห็นว่า ระบบที่คิดมานี้ทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย เพราะกาบัตรใบเดียวให้แก่ ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ถึงอย่างนั้น เลือกแบบบัตรสองใบ ประชาชนก็มีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้ระบบเลือกตั้งง่ายเกินไป แต่ไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญนั่นคือการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด
 
                      "ในส่วนจุดแข็งที่ว่าทุกคะแนนเสียงมีความหมาย คะแนนของผู้แพ้ไม่ตกน้ำตามที่ กรธ.กล่าวมานั้น การที่ให้ทุกเสียงมีความหมายนั้นไม่ได้เป็นหลักการพื้นฐานที่สากลให้ความสำคัญที่สุด ต้องขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบการเลือกตั้งก็คือ สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงไม่ควรเอาประเด็นที่มีความสำคัญรองลงมาบดบังหลักการใหญ่ที่สำคัญ" รศ.สิริพรรณ ระบุ
 
                      อย่างไรก็ดี รศ.สิริพรรณ ได้ระบุอีกว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เพราะจะต้องเน้นการหาเสียงที่บุคคลมากกว่าที่จะนำเสนอนโยบายการดำเนินงาน อีกทั้งยังจะทำให้มีแนวโน้มเกิดการซื้อสิทธิขายเสียงได้มากยิ่งขึ้น เพราะเน้นแข่งขั้นกันที่บุคคล เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งแบบเดิมที่แยกส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ทำให้การซื้อเสียงทำได้ยาก อีกทั้งยังไม่ได้ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมือง กล่าวคือพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่สามารถหาผู้สมัครในระบบเขตได้ จะไม่สามารถแข่งขันกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ และเพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้ นานาประเทศจึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นวิธีการแก้ปัญหา
 
                      “นับว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา หากแต่เป็นการยอมรับผลการเลือกตั้ง และหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด” รศ.สิริพรรณ กล่าว
 
                      ส่วน ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งนั้นจะมีสิ่งที่เราเรียกว่า “เสียง” และ “ที่นั่ง” ประชาชนอยากจะให้มีสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ในทางระบบการเลือกตั้งมันไม่ได้สัดส่วนกันคือ เสียงน้อยแต่ได้คนเข้าสภาเยอะ หรือเสียงมากแต่ได้เข้าสภาน้อย คราวนี้ กรธ.เองก็ได้เสนอการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งสามารถแก้เรื่องของการไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสียงกับที่นั่งในสภาได้พอสมควร
 
                      “ยกตัวอย่างว่ามีจำนวนคะแนนเสียงเต็ม 100 โดยเสียงที่แพ้ได้รับคะแนนเสียง 45 คะแนน ซึ่งแพ้ฝ่ายเสียงข้างมากที่มีคะแนนเสียง 55 คะแนน แล้วการที่เอาเสียงที่ลงคะแนนให้ผู้แพ้ เพื่อคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะไม่ทำให้เสียงตกน้ำหายไป แต่คำถามใหญ่ที่เราจะต้องถามก็คือ กรธ.จะมีคำอธิบายกับพรรคใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งได้อย่างไรว่าทำไมพวกเขาได้คะแนนเยอะเป็นที่นิยม แต่กลับไม่ได้ที่นั่งในสภาตามจำนวน อย่างที่เขาควรจะได้ นี่คือสิ่งที่ กรธ.จะต้องอธิบายให้ได้ ว่าการออกแบบการเลือกตั้งเช่นนี้ เพื่อก่อให้เกิดการชดเชยในที่นั่งของคะแนนเสียง”
 
                      สำหรับระบบเลือกตั้งแบบนี้จะสามารถสะท้อนเจตจำนงของผู้มาใช้สิทธิได้หรือไม่ ตอนนี้มีการกล่าวกันหนาหูมากว่าระบบเลือกตั้งควรที่จะสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ที่ชนะ แต่คำถามต่อมาก็คือคะแนนที่ลงให้กับคนที่แพ้ ซึ่งบางครั้งก็แพ้คะแนนการเลือกตั้งเพียงนิดเดียว แต่กลายเป็นว่าเสียงเหล่านั้นก็จะหายไป โดยไม่ได้สะท้อนเสียงส่วนดังกล่าว ที่จริงระบบการเลือกตั้งล่าสุดที่ กรธ.กล่าวถึงก็ได้ตอบโจทย์บอกไปแล้วว่าใครชนะ แต่การที่บอกว่าให้คนแพ้มีโอกาสบ้างก็เพื่อให้พวกเขามีเสียงสะท้อนในสภาบ้าง โดยในความเป็นจริงแล้วการที่คนแพ้จะได้ที่นั่งเท่ากับผู้ชนะ มันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องให้โอกาสกันบ้างดีกว่าไม่ให้เลย
 
                      ในส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะที่ให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ อ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า เรามักจะพูดถึงข้อเสียเรื่องนี้อยู่เสมอ ไม่ค่อยได้พูดถึงด้านดีเลย กล่าวคือหากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ทำให้มีพรรคเดียวจัดการควบคุมนโยบายทั้งหมด แต่เรื่องดังกล่าวก็เป็นการจัดการระหว่างพรรค ไม่ได้อยู่ที่ระบบการเลือกตั้งแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากแต่ละพรรคมีการบริหารงานดี ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดและจะต้องไม่ทำให้เกิดฝ่ายค้านในฝ่ายของรัฐบาลด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถคุมอยู่ได้ อาจส่งผลทำให้ตั้งรัฐบาลได้ชั่วครู่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนใหม่
 
                      ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยส่วนข้อดีนั้นก็คือทุกคะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธินั้นมีค่าในระบบเลือกตั้ง เพราะจะมีการนับคะแนนทั้งหมด และจะนำคะแนนของผู้แพ้แต่ละคนไปคิดหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่คะแนนของผู้แพ้ไม่ได้นำไปทำอะไรเลย บางครั้งคะแนนของผู้สมัครบางเขตก็ไม่ได้ทิ้งห่างกันด้วย ซึ่งก็เป็นส่วนดีของระบบนี้
 
                      ส่วนของข้อเสีย ระบบนี้จะไปบิดเบือนผลการเลือกตั้ง เนื่องจากเอาคะแนนของ ส.ส.แบบเขต และบัญชีรายชื่อมาปนกัน ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่าความสำคัญของการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต คือการเลือกผู้แทนของคนในพื้นที่ เป็นตัวแทนในสภา และดูแลผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น อย่างเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา ถนนทางเดินเป็นต้น ต่างจาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นการให้โอกาสกับคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ แต่ไม่เก่งเรื่องการหาเสียงได้มีโอกาสทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นคะแนนนิยมที่มีต่อตัวผู้แทนแต่ละเขตก็มีอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งก็มีต่อพรรคการเมือง ซึ่งผลของการตัดสินใจเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ควรจะมีต่อนโยบายของพรรค ดังนั้นการเอาคะแนนสองส่วนนี้มาปนกัน ก็จะเป็นการบิดเบือนผลของการเลือกตั้งและทำให้ผิดวัตถุประสงค์
 
                      อย่างไรก็ดี รศ.ยุทธพร ระบุว่า การใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้เกิดพรรคนอมินี เป็นสาขาย่อยของพรรคใหญ่อีกที เนื่องจากพรรคใหญ่รู้ว่าหากใช้การเลือกตั้งตามระบบนี้จะทำให้เขาเสียเปรียบจึงต้องมีสาขาย่อย เหมือนบริษัทใหญ่ที่ทำอะไรไม่คล่องตัวเพราะข้อกำหนดเยอะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบริษัทลูกในเครือเดียวกัน กลายเป็นว่าจะทำให้พรรคการเมืองเป็นพื้นที่ของนายทุนเข้าไปใหญ่
 
 
 
 
--------------------
 
(หลากมุมมองนักวิชาการ ระบบเลือกตั้ง 'จัดสรรปันส่วนผสม' : โดย...จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่น)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ