ข่าว

‘นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร’หมอผู้นำแสงสว่าง

‘นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร’หมอผู้นำแสงสว่าง

29 ต.ค. 2558

‘นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร’หมอผู้นำแสงสว่าง สู่ผู้ป่วยโรคตาจากบ้านแพ้วสู่เมือง‘เมาะลำไย’ : คมคิดจิตอาสา โดยสุรัตน์ อัตตะ เรื่องและภาพ

              หนึ่งในการให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการให้แสงสว่าง สโลแกนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ในต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ถือเป็นโรงพยาบาลตาแห่งแรกที่ประชาชนร่วมกันสร้างเมื่อปี 2508 ปัจจุบันได้ขยายสาขามาให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกหลายสาขา อาทิ สาขาพร้อมมิตร สาขาศูนย์ราชการ สาขาแจ้งวัฒนะ พร้อมจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการผู้ป่วยโรคต้อกระจกตา (ฟรี) ในพื้นที่ชนบทห่างไกลทั่วประเทศอีกด้วย

              ไม่เพียงให้บริการในประเทศเท่านั้น แต่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เจ้าของคอนเซ็ปต์ “บ้านแพ้วโมเดล” โรงพยาบาลเพื่อชุมชนยังได้ก้าวออกไปต่างประเทศเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจกตา โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาและฐานะทางสังคม โดยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้การนำของ ”นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร” ผู้อำนวยการศูนย์จักษุแพทย์และต้อกระจก จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตา

              จากเด็กบ้านนอกเกิดและเติบโตในอ.ตะพานหิน จ.พิจิตร มีความมุ่งมั่นใฝ่ฝันอยากจะเรียนหมอมาตั้งแต่เด็กและแล้วก็สมความตั้งใจ เมื่อเขาสอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามความใฝ่ฝัน ก่อนจบมาทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลชายแดนในจ.จันทบุรี

              และที่แห่งนี้เองที่ทำให้หมอหนุ่มอนาคตไกลจากจุฬาฯ ได้เห็นสภาพผู้ป่วยอนาถาจากประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามฝั่งมาทำการรักษาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เขาได้ฉุกคิดว่ายังมีผู้ป่วยอีกมากในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาล อาจเพราะด้วยฐานะที่ยากจน ตลอดจนสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด

              หลังทำงานใช้ทุนอยู่โรงพยาบาลชายแดนอยู่ 2 ปีก็กลับมาศึกษาต่อด้านแพทย์ประจำบ้านที่จุฬาฯ อีกครั้งก่อนกลับไปประจำที่โรงพยาบาลตะพานหิน จ.พิจิตร บ้านเกิด ในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่นั้นก็พบว่าผู้ป่วยสูงวัยที่เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องต้อกระจกตาพร่ามัว ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ยังไม่มีความชำนาญในการรักษาอย่างเพียงพอ จากนั้นจึงเข้ามาศึกษาต่อทางด้านจอประสาทตาโดยเฉพาะ ก่อนย้ายมาประจำการที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จนถึงทุกวันนี้ รวมระยะเวลา 14 ปีเต็ม

              ระหว่างที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว นพ.พรเทพถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อรักษาผู้ป่วยต้อกระจกตาในพื้นที่ชนบทห่างไกล (ฟรี) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

              ความสำเร็จจากการให้บริการของหน่วยบริการผู้ป่วยโรคต้อกระจกตาเคลื่อนที่ จนสถานการณ์ผู้ป่วยโรคต้อกระจกตาในประเทศดีขึ้นตามลำดับ จากนั้นจึงคิดต่อยอดขยายการรักษาไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มที่ประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

              “ผมเคยประจำอยู่โรงพยาบาลชายแดนที่จันทบุรี ก็พบว่ามีชาวกัมพูชาข้ามฝั่งมารักษาโรคต้อกระจกตาเป็นจำนวนมาก คิดว่าน่าจะไปกัมพูชาก่อน ก็เลยยกทีมแพทย์ไปรักษาผู้ป่วยชาวกัมพูชาเป็นประเทศแรกมื่อ 6 ปีก่อน” นพ.พรเทพย้อนอดีตการออกให้บริการผู้ป่วยโรคต้อกระจกตาในต่างแดนเป็นครั้งแรก

              โดยในครั้งนั้นนอกจากนำทีมจักษุแพทย์ไปทำการรักษาแล้วยังให้โอกาสทีมแพทย์จากกัมพูชามาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคทางตาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นเวลา 6 เดือนก่อนกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในกัมพูชา

              หลังประสบความสำเร็จในกัมพูชา ใน 6 ปีต่อมา ทีมจักษุแพทย์จิตอาสา ภายใต้การนำของเขาก็ยกทีมไปรักษาผู้ป่วยต้อกระจกตายังต่างประเทศอีกครั้งในเดือนเมษายน 2557 โดยครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่ประเทศภูฏาน เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีของสองประเทศ เนื่องในโอกาสครบ 25 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน

              จากการออกหน่วยในต่างประเทศครั้งนั้น ทำให้เห็นว่ายังมีชาวภูฏานอีกมากที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางตา โดยเฉพาะโรคต้อกระจก แต่ก็ไม่สามารถให้การรักษาอย่างทั่วถึง เนื่องจากประเทศภูฏานมีจักษุแพทย์เพียง 7 ท่านเท่านั้น ในขณะที่ประชากรทั้งประเทศมีมากถึง 750,000 ราย

              แม้การให้บริการรักษาโรคต้อกระจกตาในต่างประเทศทั้งกัมพูชาและภูฏานจะประสบผลสำเร็จอย่างดีเป็นที่กล่าวขวัญของประชาสังคมในความเป็นจิตอาสาของทีมจักษุแพทย์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว แต่เขาและทีมงานกลับมองว่าน่าจะต้องหันกลับมาหาคนใกล้ตัวที่เต็มไปด้วยคนต่างด้าวเหมือนกัน

              เนื่องจากโรงพยาบาลบ้านแพ้วตั้งอยู่ในทำเลแวดล้อมไปด้วยแรงงานชาวเมียนมาร์ที่มาใช้บริการเป็นประจำ ทั้งยังสร้างตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงในจ.สมุทรสาคร ที่สำคัญแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มาใช้บริการการรักษากับทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วด้วย ทำให้เขาและทีมงานมองไปที่ประเทศเมียนมาร์ เป็นคิวต่อไปหากมีโอกาสออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ในต่างแดน

              และแล้วก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อสำนักงานทรัพยสินส่วนพระมหากษัตริย์และเอสซีจี ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสนองความตั้งใจของเขาและทีมงาน โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกหน่วยบริการ ผู้ป่วยต้อกระจกในต่างแดนอีกครั้ง ณ เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ในระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกับโรงพยาบาลเจเนอรัล เมาะลำไย รักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจกตา เนื่องในวันสายตาโลกจำนวนกว่า 200 คน จนเป็นผลสำเร็จอีกครั้ง

              “จริงๆ แล้วนโยบายของผมนั้นอยากให้น้องๆ หมอมีจิตใจที่มีเมตตาและมีความเอื้อเฟื้อ อยากให้โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาลทุกคน ทุกเชื้อชาติเข้ามาพึ่งได้” ผู้อำนวยการศูนย์จักษุแพทย์และต้อกระจกโรงพยาบาลบ้านแพ้วสรุปทิ้งท้าย

              นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร นับเป็นอีกต้นแบบของจักษุแพทย์จิตอาสาที่มุ่งมั่นในการใช้วิชาชีพทางการแพทย์มาดูแลรักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจกตา โดยใม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ เพียงเพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับสู่ทางสว่างในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง

กว่าจะมาเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญโรคตา

              โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2508 โดยชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินและกำลังทรัพย์ ตลอดจนกำลังกายและกำลังใจในการก่อสร้างโรงพยาบาลบนเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดยมีนพ.สุมน แก้วปิ่นทอง เป็นผู้อำนวยการคนแรก จากนั้นพัฒนาเป็นโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอำเภอ จากขนาด 10 เตียง เป็นขนาด 30 เตียง และปัจจุบันมีการขยายการให้บริการจนเป็นขนาด 180 เตียงตามลำดับ

              โรงพยาบาลมีความเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยทุกผู้อำนวยการ เนื่องจากชุมชนชาวบ้านแพ้วมีทุนทางสังคมที่ดีในด้านการมีส่วนร่วมทั้งด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ พัฒนาโรงพยาบาล พัฒนาสถานีอนามัยชุมชนแต่ละท้องถิ่น

              ในยุคที่มีการปฏิรูประบบราชการช่วงปี 2540-2543 และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลบางแห่งเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการ จนกระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน 2543 ได้แก้ไขชื่อโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2543 พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ในการออกนอกระบบของโรงพยาบาล ปัจจุบันมีนพ.สุรพงษ์ บุญประเสริฐ เป็นผู้อำนวยการ ภายใต้คอนเซ็ปต์โรงพยาบาลเพื่อชุมชน

เสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่าย

              วรรณพิมล ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

               “ในฐานะผู้สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของโรงพยาบาลบ้านแพ้วมาผ่าตัดต้อกระจกตาที่เมืองเมาะลำไย ประเทศเมียนมาร์ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและประสบความสำเร็จอย่างมาก ดีใจที่ทุกคนกลับมามองเห็นอีกครั้ง เป็นโครงการทำปุ๊บได้ปั๊บ ทำวันนี้พรุ่งนี้เขามองเห็นเหมือนให้ชีวิตใหม่กับพวกเขา เราก็วางไว้กับทางบ้านแพ้ว นอกจากประเทศของเราเองแล้วในต่างประเทศเราจะออกอย่างน้อยปีละครั้ง”

              วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี

              “เอสซีจีได้ดำเนินกิจกรรมสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนในรัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มาตั้งแต่ปี 2555 โดยการมอบทุนการศึกษา SCGSharing the Dream ให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการบูรณพระนอนWin Sein Taw Ya ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมาร์ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่นเดียวกับโครงการผ่าตัดต้อกระจกตา ร่วมกับโรงพยาบาลเจเนอรัล เมาะลำไยแห่งรัฐมอญในการสนับสนุนแพทย์ พยาบาลและบุคลากรท้องถิ่นในทุกขั้นตอนการรักษา รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านสถานที่และอื่นๆ จนทำให้การผ่าตัดต้อกระจกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี"