
เลือกตั้ง'สิทธิ'หรือ'หน้าที่'
เลือกตั้ง'สิทธิ'หรือ'หน้าที่' : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญสำนักข่าวเนชั่น
กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพิจารณาเนื้อหาลงรายมาตรา และกระบวนการรับฟังความเห็น โดยในส่วนของการรับฟังความเห็น นอกจากการจัดเวทีแล้วสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะทำคือ สำรวจความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่าทำโพลล์
ล่าสุด “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” ในฐานะอนุกรรมการการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็น เปิดเผยว่า กำลังติดต่อกับสำนักโพลล์ เพื่อให้มาช่วยทำงานตามหลักวิชาการ โดยคำถามก็จะเน้นคำถามหลักๆ เช่นเรื่องระบบการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังจะรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธานเคยทำมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะหยิบมาใช้ไม่หมด เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากเรื่องตามใจประชาชน สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามมากกว่านั้นคือ “ตามใจแป๊ะ”
เราจึงได้เห็นเรื่องบางเรื่องที่แม้จะขัดหูขัดตาแต่ก็ถูกจับมาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งตกไป
ขณะที่การลงรายละเอียดในแต่ละมาตรา ก็คืบหน้าไปเรื่อยๆ โดยที่ผ่านไปแล้วคือส่วนของส่วนทั่วไปและส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ส่วนในสัปดาห์นี้จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องประเด็นร้อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่มานายกรัฐมนตรี รูปแบบของรัฐสภา ที่มา ส.ว. ระบบเลือกตั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาต้องยอมรับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ทำเรื่องที่น่าสนใจที่กลับไปอยู่บนหลักการที่สมควรชื่นชม อย่างน้อยๆ ก็สองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องเป้าในการเขียนรัฐธรรมนูญที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญแบบกระชับ กล่าวคือจะไม่เขียนยืดยาวเยิ่นเย้อเหมือนสองสามฉบับหลัง
โดยจะเขียนไว้เพียงหลักการ ให้สมกับความเป็นกฎหมายแม่บท ส่วนเรื่องรายละเอียดต่างๆ นั้นจะไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่มากกว่า
ส่วนอีกเรื่องที่น่าชมเชยคือการบัญญัติเรื่องสิทธิเลือกตั้ง ซึ่ีงที่ประชุมได้ตั้งหลักถูกทางคือถกเถียงกันว่า “การเลือกตั้ง” ควรเป็น “สิทธิ” หรือ “หน้าที่” เพราะคำทั้งสองนั้นมีความหมายต่างกัน
“สิทธิ” หมายถึงความมีสิทธิซึ่งจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ส่วน “หน้าที่” นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ และเมื่อไม่ทำหน้าที่ก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ
โดยหากทำตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ก็ได้กำหนดโทษของการไม่ไปเลือกตั้งว่าต้องขาดสิทธิในสิ่งใดบ้าง เช่นการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการเสียสิทธิในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือคัดค้านร่างกฎหมาย
ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่าง “เธียรชัย ณ นคร” ระบุว่า เหมือนเป็นการผลักประชาชนที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งถือว่าผิดพลาด
นอกจากนี้ยังมีการระบุจากฝ่ายต่างๆ ว่า บางครั้งการไม่ไปใช้สิทธิก็ถือเป็นสิทธิในการแสดงออกอย่างหนึ่ง เช่นการไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ ดังนั้นเมื่อเขาเลือกที่จะแสดงออกแบบนี้ก็ไม่ควรเสียสิทธิในด้านอื่นๆ
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกลับมาทบทวน และคิดว่าการส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยบทลงโทษทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่