
จัดระเบียบทางเท้าทั่วกรุงลมหายใจสุดท้ายตู้โทรศัพท์?
จัดระเบียบทางเท้าทั่วกรุง ลมหายใจสุดท้ายตู้โทรศัพท์? : ธนัชพงศ์ คงสาย สำนักข่าวเนชั่น @tanatpong _nnaรายงาน
จากการเติบโตของโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนในรอบสิบปี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้การสื่อสารที่ง่ายกว่าเดิม ทำให้ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วถูกลดบทบาทตามระยะเวลา จากเดิมที่เคยเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร ใช้ส่งข้อความทางเพจเจอร์ หรือแม้กระทั่งใช้ติดต่อธุรกิจของคนในยุคหนึ่ง มาวันนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะกำลังจะกลายเป็นความทรงจำในอีกไม่ช้า
เช่นเดียวกับบริษัทพร๊อกซิมัส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เก่าแก่ของประเทศเบลเยียม ได้รื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะในเมืองอันทเวิร์ปตู้สุดท้ายออกไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ภายหลังรัฐบาลเบลเยียมได้ยกเลิกสัญญาผูกมัดกับบริษัทมายาวนานกว่า 85 ปี ซึ่งยุครุ่งเรืองของการใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะในประเทศเบลเยียม เกิดขึ้นในปี 2541 มีตู้โทรศัพท์กว่า 18,000 ตู้ทั่วประเทศ โดยมีสถิติการใช้ตู้โทรศัพท์ของประชาชนมากกว่า 15 ชั่วโมงต่อเดือน แต่เมื่อการใช้ปริมาณโทรศัพท์มือถือมีมากขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศ การใช้ตู้โทรศัพท์ของประชาชนชาวเบลเยียมก็เหลือเพียงแค่ 16 นาทีต่อเดือน ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกสัญญากับบริษัทพร๊อกซิมัสในปี 2556 ในที่สุด
ส่วนสถานการณ์ตู้โทรศัพท์สาธารณะในกรุงเทพฯ ซึ่งหลายพื้นที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัย หลายเครื่องถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีการดูแล บางตู้ใช้งานไม่ได้ ถึงใช้งานได้ก็ชำรุด เสื่อมสภาพ กระจกร้าว สกปรก กลิ่นเหม็น หน้าจอพัง หลอดไฟเสีย และที่เจ็บปวดที่สุดคือ “กินเหรียญ” โดยเฉพาะบางตู้ที่แค่ดูสภาพภายนอก หลายคนคงคิดว่าไม่น่าใช้งานได้ หรือกล้าแม้แต่จะเดินเข้าไป นอกจากบางคนจำเป็นต้องใช้ตู้โทรศัพท์เมื่อแบตโทรศัพท์มือถือหมด ใช้เป็นที่หลบฝน หรือเป็นที่พักพิงของสัตว์จรจัด ทำให้สะท้อนได้ว่าจาก “พฤติกรรม” การใช้งานที่เปลี่ยนไปตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญยิ่งถูกลดความสำคัญ ยังไม่นับ “ตู้โทรศัพท์ใช้บัตร” ที่หายจากสังคมไปแล้วก่อนหน้านี้
ล่าสุดสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจะรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะ โดยเฉพาะตู้โทรศัพท์ที่ “ไม่ได้รับอนุญาต” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีตู้โทรศัพท์สาธารณะ 6,927 ตู้ แบ่งเป็นตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ได้รับอนุญาต 2,760 ตู้ เป็นของบมจ.ทีโอที 1,472 ตู้ เป็นของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น 1,288 ตู้ และเป็นตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาตที่จะต้องรื้อย้ายอีก 4,167 ตู้ ซึ่งในจำนวน 4,167 ตู้ถูกแยกเป็นของบมจ.ทีโอที 2,927 ตู้ ของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น 1,240 ตู้ โดยยอดทั้งหมดเป็นตู้โทรศัพท์สาธารณะลดลงจากเดิมที่กทม.ได้เคยสำรวจจำนวนตู้โทรศัพท์สาธารณะทั้งหมดถึง 12,344 ตู้ หลายเครื่องเป็นเพียงส่วนเกินที่ไม่ได้ถูกใช้งานบน “ทางเท้า” ซึ่งทุกวันนี้ถูกลิดรอนทางเดินจากมอเตอร์ไซค์ ผู้ค้า ป้ายโฆษณา เสาไฟ เมื่อนำทั้งหมดมารวมกับ “ตู้โทรศัพท์” ที่เหลืออยู่ ทำให้พื้นที่สุดท้ายของทางเท้าสาธารณะกว่า 3 เมตรแคบลงกว่าเดิม
เมื่อตรวจสอบลักษณะของตู้โทรศัพท์ที่ผิดกฎหมาย จากการประกาศกทม.ปี 2546 มี 2 ลักษณะ 1.ติดตั้งชิดป้ายรถประจำทางและทำให้ความกว้างทางเท้าน้อยกว่า 1.5 เมตร 2.ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการติดตั้งป้ายโฆษณาบนตู้โทรศัพท์
สำหรับพื้นที่เขตที่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด เขตบางแค 561 ตู้ รองลงมาเขตหลักสี่ 410 ตู้ เขตคลองเตย 350 ตู้ เขตสาทร 311 ตู้ และเขตบางคอแหลม 282 ตู้ ส่วนพื้นที่เขตที่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ “ไม่ได้รับอนุญาต” มากที่สุด เขตบางแค 561 ตู้ รองลงมาเขตบางนา 360 ตู้ เขตดุสิต 261 ตู้ เขตปทุมวัน 257 ตู้ และเขตดินแดง 185 ตู้ ขณะที่เขตที่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะ “ได้รับอนุญาต” มากที่สุด เขตสาทร 286 ตู้ รองลงมาเขตห้วยขวาง 197 ตู้ เขตบางขุนเทียน 194 ตู้ เขตพญาไท 179 ตู้ และเขตธนบุรี 98 ตู้
ที่ผ่านมากทม.ได้ไล่รื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะไปแล้วเกือบ 2 หมื่นตู้ จากเดิม 4 หมื่นกว่าตู้ พบว่ากว่า 3 หมื่นตู้ไม่ได้วางในตำแหน่งที่กทม.กำหนด จากนี้เป้าหมายของสำนักการโยธา และสำนักงานเขตจะร่วมกันเข้ารื้อถอนตู้โทรศัพท์สาธารณะเถื่อน ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยจะเน้นพื้นที่ถนนสายหลักและสายสำคัญ ตามนโยบายคืนทางเท้า และจัดส่งตู้โทรศัพท์ที่ได้รื้อย้ายแล้วคืนให้หน่วยงานเจ้าของตู้โทรศัพท์ให้เร็วที่สุด
"รังสรรค์ จันทร์นฤกุล" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการสื่อสารไร้สายและบริการเพื่อสังคม บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ระบุว่า ความนิยมของตู้โทรศัพท์สาธารณะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงไปตามจำนวนโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนเดียวกับหลายประเทศ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาที่ยังให้ความสำคัญกับโทรศัพท์สาธารณะ เพราะยังเป็นทางเลือกของประชาชนในประเทศ ซึ่ง 2 ประเทศนี้ก็เป็นต้นแบบของโทรศัพท์สาธารณะ ถึงแม้จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของมือถือ แต่ยังต้องคงตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อบริการสังคม และสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นจะเห็นว่ามีภัยพิบัติมากมาย ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นต้องมีโทรศัพท์สาธารณะไว้สื่อสารในช่วงที่เกิดเหตุแบบนี้
ส่วนตู้โทรศัพท์ในกรุงเทพฯ ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่เเล้ว แต่ละตู้มีรายได้ถึง 2-3 พันบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันในบางพื้นที่มีรายได้จากตู้โทรศัพท์เหลือแค่ 200-300 บาทต่อเดือน ซึ่งในบริเวณหน้าโรงงาน หน้าโรงเรียน ถือว่ายังมีรายได้ดี เพราะยังมีกลุ่มเป้าที่ยังใช้งาน อาทิ พนักงานโรงงาน ลูกจ้าง เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยากจะประหยัดเงินถึงแม้จะมีมือถืออยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงใดถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ตู้โทรศัพท์สาธารณะจะเป็นดัชนีชีวัดจากรายได้ที่ดีขึ้น จึงคิดว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะยังมีความจำเป็นอยู่ ถึงจะไม่คุ้มค่า แต่ด้วยตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ก็ระบุในแง่ของการให้บริการโทรศัพท์ต้องมีให้ทั่วถึง เพราะบางตำบลในประเทศไทยสัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึง ทำให้โทรศัพท์สาธารณะจะเป็นบริการพื้นฐานที่ต้องมีอยู่จริง
“ปริมาณตู้โทรศัพท์สาธารณะในกรุงเทพฯ ยังใช้งานได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะมีทรุดโทรมบ้างอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ทีโอทีก็ไม่ทิ้ง ซึ่งหลายตู้ก็เก็บมาเพื่อจะใช้เป็นอะไหล่ให้ตู้อื่น แต่คงไม่มีการลงทุนใหม่แล้ว เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง กับรอบนอก หรือสถานีรถไฟฟ้า ในห้างก็ยังมีคนใช้อยู่ เพราะยังจำเป็น หรือถ้ามีน้ำท่วมในบ้านเรา ตู้โทรศัพท์จะเป็นพระเอกได้เลย” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการสื่อสารไร้สายและบริการเพื่อสังคม บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ระบุ
“ชัชวาลย์ เสียงสุทธิวงศ์” เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เห็นว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะไม่น่าจะมีความจำเป็นแล้วเพราะระบบโทรศัพท์มือถือเปิดกว้าง อีกทั้งในหลายพื้นที่มีตู้เติมเงินออนไลน์สำหรับมือถือ ทำให้สะดวกในการใช้งานมือถือมากขึ้น ตู้โทรศัพท์จึงถูกมองข้ามไป แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีมือถืออาจจะมีความจำเป็นจะต้องใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่บ้าง แต่ถ้าจะต้องรื้อตู้โทรศัพท์ก็คิดว่ามีความจำเป็น เพราะคิดว่าทางเอกชนคงจะไปลงทุนเรื่องเครือข่ายมือถือมากกว่าระบบหยอดเหรียญ อีกทั้งหากต้องรื้อตู้โทรศัพท์ออกไปทัศนียภาพจะดูโล่งขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ตู้โทรศัพท์ไม่ค่อยมีคนดูแล ยกเว้นตู้โทรศัพท์สาธารณะในสถานีรถไฟฟ้าถือว่ายังอยู่ในสภาพดี ส่วนพื้นที่ตู้โทรศัพท์ที่จะรื้อออกไปอาจจะถูกเปลี่ยนเป็นตู้ระบบเติมเงินออนไลน์ในระบบทัชสกรีนเพื่อให้ดูน่าใช้มากขึ้น
“จำไม่ได้ว่าเคยใช้ตู้โทรศัพท์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ น่าจะ 10 ปีมาแล้ว ตอนนั้นตู้ส่วนใหญ่กินเหรียญทำให้คนเบื่อที่จะใช้ เพราะตู้โทรศัพท์รุ่นเก่าๆ ไม่สามารถรับเหรียญบาทในบางเหรียญได้ แต่คิดว่าถ้ายังมีคำว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะ ก็ควรจะปรับปรุงให้น่าใช้กว่านี้ หรือใช้สำหรับการโทรศัพท์ฉุกเฉินไปยังเบอร์ 191 ใช้แจ้งเหตุไฟไหม้ หรือเรียกรถพยาบาล ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในฐานะของตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ชัชวาลย์ ระบุ
ด้าน "ประภัสสร มณฑา" หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า ในแง่ระบบสาธารณูปโภคก็คิดว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะยังมีความจำเป็น เพราะทุกคนไม่ได้มีมือถือทั้งหมด บางคนถึงมีก็อาจจะไม่มีเงินในมือถือก็ได้ ถึงแม้ตู้โทรศัพท์ส่วนใหญ่ชำรุด ทรุดโทรม ไม่น่าใช้ แต่คงต้องมีไว้บริการสำหรับคนบางกลุ่มหรือในพื้นที่ห่างไกลที่ยังมีความจำเป็น ส่วนตัวไม่ได้ใช้โทรศัพท์สาธารณะมาหลายปีแล้ว หากจะมีการรื้อตู้โทรศัพท์ก็คิดว่าทางเท้าก็ควรจะเป็นทางเท้าสำหรับให้คนได้เดิน ไม่ควรมีอะไรขวาง แต่ถ้าจำเป็นจะต้องมีตู้โทรศัพท์ก็ควรจะปรับปรุงให้ใช้งานได้ดีเช่นเดียวกับในต่างประเทศ หรือควรจัดระเบียบตู้โทรศัพท์ให้เรียบร้อย และอยู่ในสถานที่ที่จำเป็นต้องใช้ อาทิ หน้าร้านสะดวกซื้อ ป้ายรถประจำทาง หรือหน้าธนาคารดังนั้นยังไม่จำเป็นต้องรื้อตู้โทรศัพท์ แค่ปรับปรุงให้น่าใช้ ไม่มีสิ่งสกปรก เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังใช้งาน
ทั้งหมดจึงเป็นความคืบหน้าในการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ หากหน่วยงานกทม.ไม่เร่งรื้อถอนเพื่อคืนพื้นที่ทางเท้า หรือผู้ให้บริการไม่เร่งซ่อมแซมให้มีสภาพดีเช่นเดิม ตู้โทรศัพท์เหล่านี้ก็จะเป็น “อนุสาวรีย์” บนทางเท้าของคนกรุงเทพฯ ไปอีกนาน