
หล่มสงครามอัฟกัน 14 ปี มรดกผู้นำสหรัฐคนต่อไป
18 ต.ค. 2558
เปิดโลกวันอาทิตย์ : หล่มสงครามอัฟกัน 14 ปี มรดกผู้นำสหรัฐคนต่อไป : โดย...อุไรวรรณ นอร์มา
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้ก้าวสู่ทำเนียบขาวเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ด้วยคำสัญญาจะพาทหารอเมริกันจากสงครามใหญ่สองแห่งคืออิรักกับอัฟกานิสถาน กลับบ้าน แต่สภาพการณ์เวลานี้ มีแนวโน้มสูงที่โอบามาอาจต้องอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยการที่ยังมีทหารสหรัฐพัวพันกับสงครามถึง 3 แห่ง ได้แก่ ซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามา ประกาศการตัดสินใจว่าสหรัฐจะคงทหาร 9,800 นายไว้ในอัฟกานิสถานจนถึงปลายปีหน้า หรือต้นปี 2560 กลับลำจากแผนเดิม ที่ตั้งใจจะลดจากที่มีอยู่เกือบหมื่นในปัจจุบันนี้ เหลือแค่ 1,000 นายไว้ที่สถานทูตสหรัฐในคาบุล
เมื่อถึงเวลาที่นายโอบามาหมดวาระ และประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 สาบานตน สหรัฐอเมริกาจะยังมีทหาร 5,500 นายอยู่ในอัฟกานิสถาน มากกว่าแผนเดิม 5 เท่า โดยจะประจำอยู่ในฐานทัพ 3 แห่งนอกคาบุล คือที่ฐานทัพอากาศบากราม ฐานทัพใหญ่สุดของสหรัฐ จ.จาลาลาบัด ทางตะวันออก และคันดาฮาร์ ทางตอนใต้

การตัดสินใจมีขึ้นหลังจากที่นายโอบามาได้ทบทวนยุทธศาสตร์ หารือกับทีมที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติและฝ่ายอัฟกานิสถานมานานหลายเดือน และในที่สุด การคงทหารตั้งอยู่บนเหตุผลเดิมๆ คือกองทัพอัฟกันที่สหรัฐเพียรฝึกและทุ่มทุนสร้างมานานหลายปี ยังไม่สามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้
ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า ไม่รู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถทำตามที่รับปาก และไม่ได้สนับสนุนสงครามไม่รู้จบ หากต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ เพราะกองกำลังอัฟกานิสถานยังไม่เข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น และในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่อาจปล่อยให้อัฟกานิสถานเป็นสวรรค์ของผู้ก่อการร้าย เพื่อมาโจมตีประเทศได้อีก
ที่ขาดไม่ได้คือการย้ำกับชาวอเมริกันอีกหนว่า ทหารสหรัฐจะไม่มีบทบาทในการรบ มีภารกิจสองอย่างแต่สำคัญคือ ฝึกทหารอัฟกัน กับสนับสนุนปฏิบัติการกวาดล้างสมุนอัลไกดา
สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ สงครามอัฟกันหลุดจากเรดาร์ความสนใจ นับจากที่สหรัฐและนาโตประกาศยุติภารกิจสู้รบอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่าฤดูการสู้รบปี 2558 นี้ เป็นครั้งแรกที่ทหารอัฟกันเข้าทำหน้าที่ปกป้องประเทศตัวเองอย่างเป็นทางการ แต่ดูเหมือนจะสอบตกเป็นส่วนใหญ่ และอย่างชัดเจนเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ตาลีบันบุกยึดเมืองคุนดุซ ทางเหนือได้ช่วงหนึ่ง ถือเป็นความสำเร็จทางทหารครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ถูกขับออกจากคาบูลเมื่อ 14 ปีก่อน จากนั้นแล้ว การโจมตีทางอากาศของสหรัฐเพื่อสนับสนุนทหารอัฟกันปฏิบัติการภาคพื้นดิน เกิดความผิดพลาดอย่างมหันต์ คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่โรงพยาบาลในคุนดุซ ซึ่งทั้งหมดนี้เผยให้เห็นว่ากองกำลังสหรัฐที่ยังอยู่อีกเกือบ 1 หมื่นนาย ยังคงเกี่ยวพันการสู้รบอยู่นั่นเอง

ปฐมเหตุสู่การติดหล่ม : สงครามกวาดล้างก่อการร้าย 2544
7 ตุลาคม 2544 หนึ่งเดือนหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เปิดฉาก “ยุทธการเสรีภาพยืนยง” โค่นล้มระบอบตาลีบัน หลังปฏิเสธส่งตัวนายอุสมา บินลาเดน ผู้นำอัลไกดาที่เชื่อว่าเป็นผู้บงการเหตุ 9/11 มาให้แก่สหรัฐ
ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ กองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐก็โค่นตาลีบันออกจากอำนาจที่ยึดครองมาตั้งแต่ปี 2539 ได้ โดยนอกจากถล่มทางอากาศแล้ว สหรัฐยังให้การสนับสนุนกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือ ฝ่ายตรงข้ามตาลีบัน และส่งหน่วยรบพิเศษ รบภาคพื้นดิน
เดือนพฤศจิกายน สหรัฐส่งทหารประจำในอัฟกานิสถาน 1,000 นาย ก่อนเพิ่มเป็น 1 หมื่นในปีถัดไป และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทศวรรษ
ไม่นานหลังรับตำแหน่งในปี 2552 ประธานาธิบดีโอบามาแม้สัญญาว่าจะปิดฉากสงครามอิรักและอัฟการนิสถาน จำต้องสั่งเพิ่มทหารเป็นเกือบ 7 หมื่นนาย เพื่อกวาดล้างอัลไกดาและตาลีบันที่กลับมาโหมโจมตีระลอกใหม่
เดือนธันวาคมปีเดียวกัน ประธานาธิบดีโอบามาสั่งเพิ่มทหารอีกจนแตะขีดสุดที่ 1 แสนนาย โดยเรียกว่าเป็นสงครามเพื่อความเป็นธรรม เป้าหมายเพื่อสกัดตาลีบัน สร้างความเข้มแข็งกับสถาบันต่างๆ ของอัฟกานิสถานและฝึกทหาร เตรียมความพร้อมสู่แผนถอนทหารในกรกฎาคม 2554 ตามคำสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้ง
การถอนทหารถูกชะลอเป็นระยะ กระทั่งมาถึงการประกาศคงทหารไว้เกือบหมื่นต่อไปตลอดปี 2559 ต่ออายุสงครามที่ยาวนานสุดของสหรัฐต่อไป
ต้นทุนสงคราม
ไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าอเมริกาใช้เงินไปกี่หมื่นล้าน ทั้งด้านการทหาร การซ่อมสร้างและพัฒนา แต่ตัวเลขที่เปิดเผยต่อสาธารณะแบบกระจัดกระจายอาจให้ภาพได้ อย่างรายงานรัฐสภาสหรัฐลงวันที่ 14 สิงหาคมปีนี้ระบุว่า นับจากโค่นตาลีบันจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2557 สหรัฐจัดสรรงบเพื่ออัฟกานิสถาน 1 แสนล้านดอลลาร์ ราว 60% หมดไปกับการติดเขี้ยวเล็บและฝึกกองทัพอัฟกัน
สำหรับปีงบประมาณ 2558 สิ้่นสุดเมื่อ 30 กันยายน งบประมาณด้านอัฟกานิสถานอยู่ที่ 5,700 ล้านดอลลาร์
ด้านกระทรวงกลาโหม ยกยุทโธปกรณ์ให้อัฟกานิถสาน รวมมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านดอลลาร์ จำนวนนี้รวมถึงรถเทรลเลอร์และยานพาหนะ 2.8 หมื่นคัน อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งไม้ต่อให้กองทัพอัฟกานิสถาน

ต้นทุนชีวิต
สงครามอัฟกานิสถาน คร่าชีวิตทหารและพลเรือนอเมริกัน 2,372 คนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์เกาะติดสงคราม iCasualties โดยช่วงปี 2553-2554 คือช่วงนองเลือดที่สุด ชาวอเมริกันเสียชีวิต 499 และ 418 รายตามลำดับ
ส่วนเหยื่อสงครามอัฟกัน ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ การประเมินจากแหล่งข้อมูลอิสระระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิต 2.6 หมื่นคน ขณะยอดผู้เสียชีวิตโดยรวมนับทั้งพลเรือน ทหารและฝ่ายต่อต้าน อยู่ที่ประมาณ 9.1 หมื่นคนนับจากปี 2544
มีเหตุสูญเสียชีวิตพลเรือนหลายครั้งที่สร้างความโกรธแค้นและต่อต้านทหารต่างชาติ นองเลือดสุดคือเหตุการณ์ที่สหรัฐทิ้งระเบิดทางตะวันตกอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 90 คน และเมื่อ 11 มีนาคม 2555 ทหารอเมริกันรายหนึ่งสังหารพลเรือน 16 คนใน จ.คันดาฮาร์ และล่าสุดเมื่อ 3 ตุลาคมปีนี้ สหรัฐทิ้งระเบิดโรงพยาบาลที่องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนดำเนินการอยู่ ทำให้คนไข้และบุคลากรของแพทย์ไร้พรมแดน เสียชีวิต 24 ราย
การคงทหารเกือบหมื่นนายในปีหน้า ก่อนลดลงเหลือ 5,500 นายในต้นปี 2560 จะช่วยให้กองทัพอัฟกานิสถานมีความพร้อมขึ้นมากแค่ไหน หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อาจทำให้สหรัฐต้องเพิ่มขนาดกองกำลังในอัฟกานิสถานอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่สามารถชี้ชัดได้
แต่อย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ สงครามยืดเยื้อที่สุดของสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีโอบามา รับมรดกมาจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช และปิดไม่ลงตามที่ตั้งใจนั้น จะเป็นมรดกตกทอดยังประธานาธิบดีคนต่อไป และไม่มีวี่แววเมื่อไหร่จะวางมือจากสมรภูมินี้ได้
ส่วนตาลีบันนั้นประกาศชัดเจนว่าพวกเขาจะสู้ต่อไปจนกว่าจะขับไล่ผู้ยึดครองคนสุดท้ายได้ โฆษกคนหนึ่งตาลีบันกล่าวหลังฟังโอบามาแถลงว่า "การรุกรานอัฟกานิสถาน อเมริกันเป็นฝ่ายตัดสินใจ แต่พวกเราจะตัดสินใจให้เองว่าจะให้ออกไปเมื่อไหร่"
--------------------
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : หล่มสงครามอัฟกัน 14 ปี มรดกผู้นำสหรัฐคนต่อไป : โดย...อุไรวรรณ นอร์มา)