ข่าว

ผวาบ้านทรุดกลางดึกชาวบ้านแตกตื่นหนีตายจ้าละหวั่น

ผวาบ้านทรุดกลางดึกชาวบ้านแตกตื่นหนีตายจ้าละหวั่น

15 ต.ค. 2558

ผวาบ้านทรุดกลางดึกชาวบ้านแตกตื่นหนีตายจ้าละหวั่น : พนอ ชมภูศรีรายงาน

              ...ครื้นๆๆๆ จากแรงสั่นสะเทือน และเสียงดังของตัวบ้านทำให้ นางสุพัตรา ธานีรัตน์ วัย 59 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 59/223 ซอย 6 หมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พร้อมครอบครัวรวม 4 ชีวิต ที่กำลังทำภารกิจต่างๆ กันอยู่ภายในบ้านต้องตื่นตกใจพากันรีบออกมาจากตัวบ้าน ซึ่งก็เหมือนๆ กับเพื่อนบ้านอีกหลายหลังที่อยู่ใกล้เคียงก็มีลักษณะคล้ายกัน เพราะได้ยินเสียงและตัวบ้านสั่นไหวจนไม่มีใครกล้าอยู่ในบ้าน แม้เวลานั้นจะกว่าราว 20.00 น. แล้วก็ตาม

              “ตอนนั้นรู้สึกตกใจและกลัวมากๆ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้เคยเกิดเหตุบ้านทรุดตัว แตกร้าวมาแล้วหลายหลัง ซึ่งบ้านที่เคยเกิดเรื่องเมื่อหลายปีก่อน ขณะนี้ยังเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่กับบริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกกังวลและห่วงว่าเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีก แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ กับบ้านของตนเอง”

              นายสุชน รักษาควร เจ้าของบ้านเลขที่ 59/198 ซอย 5 กล่าวว่า หมู่บ้านรินทร์ทอง ก่อสร้างมาตั้งแต่เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 ก็เกิดเหตุดินทรุดตัวทำให้บ้านทาวน์เฮ้าส์หลายหลังเกิดการทรุดตัวและแตกร้าว จนเจ้าของบ้านอยู่อาศัยกันไม่ได้ โดยในครั้งนั้นก็มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งก็มีการรับเรื่องร้องทุกข์และมีการฟ้องร้อง บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยในครั้งนั้นมีการเข้าชื่อของผู้เสียหายทั้งหมดราวๆ 153 ราย บ้านของตนเมื่อปี 2553 ก็ได้รับผลกระทบทำให้ผนังแตกร้าว โดยมีการประเมินค่าเสียหายเฉพาะบ้าน 9.4 หมื่นบาท

              แต่จนถึงวันนี้คดีความที่ฟ้องร้องกันก็ยังไม่ถึงไหน ล่าสุดทางอัยการมีหนังสือเรียกชาวบ้านไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีก 5 ราย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากนั้นก็เงียบหายไปอีก

              นางประนอม ผ่องใส เจ้าของบ้านอีกหลังที่เกิดเหตุทรุดตัว กล่าวว่า ตอนนี้ลำบากมาก เพราะบ้านทรุดตัวเสียหายมาก จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ต้องขนข้าวของบางส่วนไปฝากเพื่อนบ้านบ้างไปฝากไว้ที่บ้านญาติพี่น้องบ้าง รวมทั้งต้องไปอาศัยญาติอยู่ชั่วคราว จะไปอยู่ที่อื่นไกลๆ ก็ลำบากเพราะตนและลูกหลานก็ทำงานทำการกันในย่านนี้ ที่ผ่านมามีส่วนราชการต่างๆ เข้ามาดูแลและสอบถามว่า ถ้าใครไม่มีที่พักก็ให้ไปพักอาศัยชั่วคราวที่สถานสงเคราะห์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ธัญบุรี แต่เราคงไม่ไป เพราะถ้าไปอยู่ที่นั่นจะลำบากมากกว่าในเรื่องการทำงาน หวังแต่ว่าเจ้าของโครงการจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้าง

              น.อ.บุญส่ง จุ้ยกล่อม อดีตนายทหารข้าราชการเกษียณ อยู่บ้านเลขที่ 59/210 กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 13 ตุลาคม ต้องนอนผวาตลอดทั้งคืนไม่รู้ว่าจะลามไปถึงบ้านของตนเมื่อไร ปัญหาของบ้านทรุดนี้น่าจะเกิดจากโครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน มองดูจากใต้ล่างจะเห็นว่าฐานรากนั้นมีการแตกร้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีหัวเสาเข็มโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน และมีการทำพรุตติ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน

              ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช นายอำเภอลำลูกกา นายบุญไกร บุญคุ้ม นายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้ว พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และทหาร ต่างเร่งเข้ามาให้การช่วยเหลือและตรวจสอบตัวอาคารและขนย้ายทรัพย์สิน พบว่า ทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ที่ทรุดตัวแตกร้าวมากจนไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ มีทั้งสิ้น 5 หลัง และหลังที่อยู่ติดๆ กันก็เริ่มมีรอยแตกร้าวอย่างเห็นได้ชัด

              “การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการแก้ไขชั่วคราวเรื่องที่อยู่ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายตอนนี้อยู่ 5 หลังคาเรือนและได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนบ้านหลังไหนที่เกิดการทรุดตัวลงมากให้ผู้ที่อาศัยอยู่ย้ายออกจากบ้านและให้ไปพักที่บ้านญาติหรือสถานที่ของเทศบาลที่จัดไว้ให้อยู่ก่อน ส่วนการดูแลการช่วยเหลือในภาครัฐก็มีหน่วยงานพัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์ก็จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย 2,000 บาท ส่วนเรื่องอาหารและของใช้ที่จำเป็นทางกาชาดจังหวัด และอบจ.ก็จะช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง” นายจรูญศักดิ์ กล่าว

              ด้าน นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าฯ ปทุมธานี กล่าวว่า หมู่บ้านรินทร์ทองแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่สร้างมานานกว่า 30 ปีแล้ว เคยเกิดปัญหาบ้านแตกร้าว ทรุดตัวมาแล้วหลายหลัง โดยยังเป็นคคีความฟ้องร้องกันอยู่ในศาลระหว่างผู้ซื้อบ้านและเจ้าของโครงการ ทางจังหวัดก็ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยทั้งหมด ในการขนย้ายทรัพย์สิน ข้าวของออกไป รวมทั้งมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวนหนึ่ง

              อย่างไรก็ตาม ก็มีการประสานงานไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบหาสาเหตุของการทรุดตัวของตัวบ้าน โดยเมื่อได้ข้อสรุปของสาเหตุแล้ว ก็ต้องมีการร่วมประชุมเพื่อวางแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

              “ทางจังหวัดไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้มากกว่าการนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นและเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมามอบให้แก่ชาวบ้านที่ประสบเหตุ เนื่องจากการทรุดตัวของบ้านนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความเสียหายโดยภัยพิบัติตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด” ผู้ว่าฯ ปทุมธานี กล่าว

              ขณะที่ ดร.ธเนศ วีระศิริ ที่ปรึกษาเลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระราชินูปภัมภ์ ที่เดินทางมาตรวจสอบหาสาเหตุของการทรุดตัวของอาคาร กล่าวว่า ที่ดินที่ก่อสร้างหมู่บ้านแห่งนี้แต่เดิมเป็นบ่อขุดที่มีความลึกในหลายระดับตั้งแต่ 20 เมตร จนถึง 50 เมตร การก่อสร้างก็มีการถมดินเป็นจำนวนมาก

              คาดว่าสาเหตุที่มีการทรุดตัวนั้น น่าจะมาจากการเคลื่อนตัวของเสาเข็ม ที่อาจจะเคลื่อนตัวได้ตลอดเวลา และเมื่อเสาเข็มของบ้านหลังหนึ่งเกิดการเคลื่อนตัวและดินทรุด ก็จะทำให้ดึงบ้านที่อยู่ติดๆ กันทรุดตัวตามไปด้วย

              วิธีการแก้ไขก็พอมีแต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยการตอกเสาเข็มเพิ่มเติมลงไป แต่ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยว่า ต่องตอกลงไปลึกขนาดไหนถึงจะรับน้ำหนักสร้างความมั่นคงได้ อีกวิธีคือการตัดแยกบ้านหลังที่ทรุุดตัวออกจากบ้านที่ยังไม่ทรุด ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชะลอเอาไว้ได้

              “ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือช่วงนี้ถ้ามีฝนตกหนักติดต่อกัน ก็จะยิ่งทำให้ดินเกิดการเคลื่อนตัวและจะทรุดหนักมากขึ้นอีกด้วย”

              นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา (สคบ.) กล่าวว่า ความเสียหายในลักษณะดังกล่าวถือว่าผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโครงการ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของความบกพร่อง ความเสียหายจากการก่อสร้างบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน

              เมื่อ 3-4 ปี ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่ง วสท. หรือผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมโยธาฯ ก็ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาเกิดจากการยุบตัวของดินที่มีการถมดิน อัดดินที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่ง สคบ.ก็ได้มีมติให้มีการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคไปแล้ว ซึ่งขณะนี้คดียังไม่ยุติยังอยู่ในการพิจารณาของศาล หลังจากยื่นฟ้องไปเมื่อปี 2554

              ปกติการรับประกันโครงสร้างก็ 4-5 ปี ในส่วนควบเล็กๆ น้อยๆ ก็เพียง 1 ปีเท่านั้น ตรงนี้ หากสร้างไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นก่อนส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังนั้น สคบ.จึงพิจารณาเรื่องมาตรฐานตั้งแต่ต้นก่อนส่งมอบ ทั้งเรื่องถมดิน อัดดิน ได้มาตรฐานหรือไม่ แม้จะเกิน 5 ปี ไปแล้ว ผู้ประกอบการก็ปฏิเสธได้ยาก ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่หากสร้างได้มาตรฐานแล้ว เกินอายุการรับประกัน ก็ไปว่ากันอีกส่วนต่างหาก

              กรณีผู้เสียหายต้องไปเสียเงินเช่าบ้านอยู่ในระหว่างนี้ ทาง สคบ.ก็จะรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการ เพื่อที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม