ข่าว

สภาสตรีฯดูของจริงชุมชนทอผ้าไหมโคราช

สภาสตรีฯดูของจริงชุมชนทอผ้าไหมโคราช

12 ต.ค. 2558

สภาสตรีฯลงพื้นที่ดูของจริงชุมชนทอผ้าไหมในอ.สีดาและปักธงชัย เพื่อส่งเสริมการทอผ้าไหมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย

             12ต.ค.2558 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีฯ  เดินทางมาเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าไหมใน จ.นครราชสีมา  เพื่อศึกษาพัฒนาการตลาดผ้าไทยในท้องถิ่น ในโครงการ “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” โดยมีนางณัฎฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

             ทั้งนี้ ชุมชนที่คณะกรรมการสภาสตรีฯเดินทางไปดูกิจกรรม ประกอบด้วย  บ้านแฝก-โนนสำราญ อ.สีดา ชุมชนทอผ้าไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นหูกวาง ปลูกต้นคูณ การสาวไหม การมัดย้อมผ้าให้เป็นลวดลาย การทอผ้า โดยแบ่งหน้าที่การทำงานเป็นรายครัวเรือน  เมื่อทอผ้าเป็นผืนได้แล้ว ก็นำออกจำหน่าย นำรายได้มาแบ่งปันกัน เป็นแบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง  นอกจากนั้นยังได้เดินทางไป ชุมชนจะโป๊ะ อ.อปักธงชัย ชุมชนใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ มีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีพิพิธภัณฑ์ผ้าของชุมชนที่เก็บสะสมผ้าไว้ เพื่ออนุรักษ์ลายผ้า บางผืนมีอายุกว่า 105 ปี
 
             ดร.วันดี กล่าวว่า การทอผ้าที่อ.สีดาเป็นการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเกิดมาจากการฝึกฝนและพรสวรรค์ของผู้ทอ ผ้าไหมทอมือถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายสวยงาม ปัจจุบันยังมีหมู่บ้านที่ยังทอผ้ากันเป็นอาชีพประจำ สร้างรายสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างดี ขณะที่ฝีมือการทอถือว่า มีความหลากหลายลวดลายสีสัน มีทั้งผ้าหางกระรอก ผ้ามัดหมี่ ผ้าลายขอทบเชือก ถือว่าเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของที่นี่ นอกจากนี้ชาวบ้านอ.สีดายังนิยมปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและสาวไหมในหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำนาอีกด้วย
 
             อย่างไรก็ตาม มีการรวมกลุ่ม “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝก-โนนสำราญ” ที่ อ.สีดา เป็นการนำผ้าไหมที่แต่ละคนทอ และนำมาฝากขาย มีการเก็บเงินเป็นกองกลางเข้ากลุ่ม สำหรับคนที่ทอเก่ง หรือฝีมือดีจะสามารถขายผ้าไหมได้ถึงชิ้นละ 5000-6000 บาท ปัจจุบันมีคนทอผ้ามากขึ้น ต่างกับเมื่อก่อนเป็นการทอไว้ใช้เอง เพราะมีหน่วยงานราชการได้เข้ามาช่วยให้ความรู้และพัฒนาเพิ่มศักยภาพ  และยังเป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ไม่ว่าดูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
 
             สำหรับ การทอผ้าไหมที่บ้านจะโปะ อ.ปักธงชัย ถือว่าเป็นหมู่บ้านเส้นทางสายไหมที่มีประวัติมายาวนาน  บ้านจะโปะเป็นชุมชนโบราณของปักธงชัย มีประวัติยาวนาน มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นเมืองหน้าด่านสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีวิถีชีวิตในการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ส่วนทำนาเป็นอาชีพรอง ลักษณะผ้าทอพื้นเมืองที่อ.ปักธงชัย ผ้าไหมพื้นสีเดียวจะมีสีสันสดใสสวยงามมาก ถือว่า เป็นลักษณะเด่นของผ้าไหมอำเภอปักธงชัย