
'พัชรพงศ์ ตันธนสิน'ชาวนารุ่นใหม่ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง
'พัชรพงศ์ ตันธนสิน'ชาวนารุ่นใหม่ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยสแตนลี่ย์ เบนเน็ตต์
ความร่ำรวยอาจหาใช่กุญแจสำคัญไขสู่ประตูแห่งความสุข ความสำเร็จเสมอไป บางครั้งคนเราเกิดมาแล้วย่อมแสวงหาความสุขนั้นด้วยตัวของเราเอง ดั่งการศึกษาและอาชีพ ที่ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่จะผลักดันให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปข้างหน้าไปอย่างมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
ไม่ต่างกับวิถีของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีดีกรีนักเรียนนอก ผู้เลือกเดินบนเส้นทางที่สวนกระแสกับเด็กสมัยใหม่ เป็นเส้นทางแห่งความยากลำบาก ที่ต้องใช้ความมานะบากบั่น เพราะขึ้นชื่อว่า “ชาวนา” แล้วนั้น ถ้าเลือกได้ ย่อมไม่มีใครอยากเลือกเดิน
เด็กหนุ่มวัยเพียง 28 ปี ละทิ้งชีวิตคนเมืองหลวงออกเดินทางสู่ฝัน ด้วยการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ ผ่านการคัดสรรด้วยกรรมวิธีที่ทันสมัย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแรงขับเคลื่อน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมจัดจำหน่ายสินค้าชาวนาไทยที่ได้คุณภาพ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “Chiangmai Rice Life” ซึ่งเขาเชื่อว่า ตอบโจทย์เทรนด์ของคนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี
“พีช" พัชรพงศ์ ตันธนสิน เล่าถึงจุดหักเหจากลูกนักธุรกิจในกรุงเทพมหานคร สู่ชีวิตชาวนาของเขาว่า เดิมที่บ้านทำธุรกิจค้าหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ มีพ่อเป็นผู้บริหาร แต่กลับเห็นว่า งานเกษตรกรรมน่าสนใจกว่าธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว และพืชผลทางการเกษตรทั้งหลาย อีกทั้งยังฝันใฝ่ที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรให้คนทั่วไปสามารถเข้าศึกษาและเรียนรู้ได้
ก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันเข้าสู่เกษตรกรรุ่นใหม่นั้น เขาเคยศึกษาต่อปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ที่่มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงที่เรียนก็ไปช่วยน้าทำร้านอาหาร รับหน้าที่เป็นทั้งพ่อครัวและเด็กเสิร์ฟในคราวเดียวกัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นขั้นพื้นฐานที่บ่มเพาะให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและการหาเงินด้วยตัวเขาเอง ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญที่เด็กหนุ่มตัวเล็กๆ อย่างเขาควรได้รับ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นภูมิคุ้มกันในยามก้าวเดินเผชิญต่อโลกกว้างได้ จึงเป็นผลส่วนหนึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว แม้เบื้องต้นจะยังไม่สามารถบอกพ่อถึงเส้นทางชีวิต ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นงานกราฟฟิกดีไซน์ไปได้ แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปเห็นแปลงนา 50 ไร่ที่พ่อซื้อทิ้งไว้และให้คนเช่า บริเวณริมถนนเส้นสันกำแพงเก่า ซอยเรือนแพ 1 บ้านมอญ หมู่ 1 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดไอเดีย
"วันนั้นทำให้ผมได้รู้จักกับลุงชาวนาที่มาขอเช่าที่นาของพ่อ เราได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกัน ในบริบทด้านการทำนาของชาวนา ผมว่าน่าสนใจ รวมถึงเมื่อมองไปรอบๆ และเห็นว่า ณ ปัจจุบันทุ่งนาที่เขียวขจีกำลังถูกเมืองใหญ่กลืนกิน โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ที่ไล่ที่มาจนไม่เหลือความเป็นท้องถิ่น จึงจุดประกายให้ผมเริ่มคิดที่จะลองทำนาข้าว อนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่นไว้ และกลับไปบอกพ่อว่า ผมจะปลูกข้าวและพัฒนาผืนดินแห่งนี้ให้เป็นทั้งนาข้าวและแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้รู้จักและสามารถนำไปต่อยอดในอาชีพที่เขาทำได้”
นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเข้าสู่วิถีเกษตรกรรมอย่างเต็มตัว หลังปรึกษาพ่อเรื่องเงินทุนและการบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาด้วยก็คิือ วิสัยทัศน์กว้างไกลอย่างนักธุรกิจ ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้ความฝันของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้เป็นจริงขึ้นมา ด้วยการซื้อที่ดินเพิ่มเติมบริเวณบ้านมอญ หมู่ 1 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพิ่มอีก 20 ไร่ รวมแล้วกว่า 70 ไร่ อีกทั้งยังได้สร้างเรือนไม้และที่อยู่อาศัย และศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ใช้เงินงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท
หลังจากนั้นพัชรพงศ์ก็ได้ลงมือศึกษาหาความรู้ด้านเกษตรอย่างจริงจัง โดยเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น โครงการเกษตรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรหมุนเวียนและการสร้างรายได้จากการทำธุรกิจภาคเกษตร รวมถึงเข้ารับการอบรมเกษตรอินทรีย์ 100% จากมูลนิธิขวัญข้าว ได้เรียนรู้การหลีกเลี่ยงใช้ปุ๋ยเคมี และหันมาใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์แทน เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ที่ได้จากกากน้ำตาลและผลไม้ เหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานความรู้ขั้นต้นที่ทำให้เขาเข้าใจและลึกซึ้งถึงคุณค่าในวิถีการเกษตรแบบอินทรีย์ เนื่องจากปัจจุบันจะพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจและน้อมนำไปปฏิบัติ หลังจากพบว่าเกษตรเคมีนั้นแม้จะให้ผลผลิตได้รวดเร็วและเป็นจำนวนมาก แต่ก็สร้างความเสียหายให้ดิน และสารเคมีตกค้างในผลผลิต
“สารเคมีแม้จะข้อดีอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อเสียคือ ใช้มากๆ จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศโดยเฉพาะระบบนิเวศในดิน ที่พวกไส้เดือน หรือแร่ธาตุต่างๆ จะหายไป เกิดปัญหาดินเค็มตามมา แต่สำหรับระบบอินทรีย์นั้น เราไม่ต้องไปกระวนกระวายว่าหน้าดินจะคงคุณภาพที่จะปลูกพืชผลทางการเกษตรหรือไม่ เพราะความอินทรีย์คือความเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ข้อด้อยของอินทรีย์คือ ดูแลค่อนข้างยาก และละเอียด ต้องใช้ความประณีตและมีใจรักถึงจะทำได้”
พัชรพงศ์มีโอกาสไปเรียนหลักสูตรการทำนาที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ที่สอนลงลึกเรื่องการปลูกข้าว ทั้งปลูกด้วยมือ หรือเครื่องจักร ประสานสอดคล้องกับประสบการณ์ตรงที่เขาได้รับจากผืนนา
ลุงซัน ชาวนาผู้ช่ำชองได้พร่ำสอนเทคนิคการปลูกข้าวแบบชาวนาแท้ๆ และทำให้เขาได้ซึมซับความเป็นชาวนาได้อีกขั้นหนึ่ง เมื่อมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ไต้หวัน ที่นั่นเขาได้สัมผัสกับนวัตกรรมด้านการเกษตรมากมาย โดยเฉพาะการทำคันนาแบบซีเมนต์ ที่อาจไม่ค่อยได้เห็นในประเทศไทย หรือการใช้พลาสติกคุมคันนาเพื่อลดปริมาณหญ้าที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว (อ่านล้อมกรอบประกอบ) และนั่นน่าจะเป็นการลงมือทำนาในแปลงอย่างจริงจัง และย่างก้าวเข้าสู่อาชีพ “ชาวนา” อย่างเต็มภาคภูมิ ก่อนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ปัจจุบันพัชรพงศ์บอกว่า ไม่เพียงแต่ใช้พื้นที่กว่า 70 ไร่ สำหรับการเพาะปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาให้มีร้านกาแฟ ให้เป็นหนึ่งในที่สงบที่คนเมืองสามารถมาสัมผัสวิถีความเป็นชนบทได้ที่นี่ และที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย
“บางคนเกิดความสงสัยว่ามีที่แบบนี้อยู่ใน จ.เชียงใหม่ด้วยหรือ ยิ่งช่วงฤดูกาลที่ข้าวเติบใหญ่และเขียวชอุ่ม นักท่องเที่ยวจะเริ่มได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตแล้วนั้น จึงเป็นช่วงที่พวกเขาจะได้มานั่งกินบรรยากาศมากที่สุด”
สำหรับศูนย์การเรียนรู้เรื่องการเกษตรเพื่อยกระดับศักยภาพบนพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษา พีชเล่าว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยน่านและสภากาชาดไทย เคยนำนักศึกษาและบุคลากรมาศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเทศบาลตำบลสันกลาง ได้จัดการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ผมมองว่าของเหล่านี้มันอยู่ที่ความชอบ ใช้ใจทำ ต้นทุนเป็นเพียงส่วนประกอบ เพราะการทำนาเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้สึก ถ้าใจไม่รักก็ทำไม่ได้ มีเงิน ใจไม่มี ก็ไปไม่รอด ยิ่งเราเป็นหัวหน้าคนด้วยแล้ว จะต้องลงมากลิ้งเกลือกกับพื้นดิน ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเป็นทุกอย่างให้เป็น เมื่อเกิดกรณีเครื่องเสียหรือคนงานใช้ไม่เป็น เราก็สามารถเข้าไปสอนเขาได้ ผมมองในแง่บวกเสมอว่า การทำงานนั้น เราจะเหนื่อยแค่ 10 วัน หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ในช่วงที่รอเก็บเกี่ยวก็สามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง บริหารร้านกาแฟ หรือมีเวลาไปศึกษาดูงานและศึกษาส่วนของธุรกิจเพิ่มเติม มีอิสระในการทำงานมากกว่าเห็นๆ”
พัชรพงศ์ บอกว่า ทุกวันนี้มีความเป็นชาวนา 70% ส่วนที่เหลือคือกิจกรรมในวิถีชีวิตอีกหลายอย่างที่ต้องทำร่วมกันไป รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเป็นส่วนประกอบในการทำงาน จึงไม่ถือว่าเป็นชาวนา 100% โดยในอนาคตยังมีแนวคิดต่อยอดการศึกษาเพิ่มเติม โดยการเรียนช่าง เพราะเป็นหนึ่งในทักษะที่ชาวไร่ชาวนาควรต้องมี
สำคัญที่สุด พัชรพงศ์ตั้งเป้าหมายการผลิตข้าวของเขาเอาไว้ว่า จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ข้าว Rice Life ให้ได้มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการเกษตร ที่ตั้งมั่นอยู่บนความเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้การยอมรับจากสังคม
พัชรพงศ์กับวิถีคันนาคอนกรีต
พัชรพงศ์ ตันธนสิน อธิบายข้อดีของการทำคันนาแบบซีเมนต์(คอนกรีต) และการใช้พลาสติกคุมหน้าดินว่า “คันนาดินนั้นมีอุปสรรคมากกว่า ต้องดูแลและมีกรรมวิธีการรักษา ซึ่งแตกต่างจากคันนาซีเมนต์ที่จะช่วยประหยัดในเรื่องของพื้นที่ มีการแบ่งสัดส่วนการปลูกข้าวได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถป้องกันปูกับหนูนาที่จะเข้ามากัดกินโคนข้าว หรือเป็นพาหะนำโรคต่างๆ มาแพร่ระบาดต้นข้าวได้ เพราะต้องการผลผลิตที่มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ต้องมาพะวงเรื่องการตัดหญ้า"
สำหรับระบบการจ่ายน้ำเพื่อใช้ในนาข้าวนั้น พีชบอกว่า โชคดีที่พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณที่มีน้ำจากธรรมชาติไหลผ่าน เช่น คลองและหนองน้ำ ที่เชื่อมมาจากเขื่อนแม่กวงและลำน้ำคาวที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดปี เรียกได้ว่า นาข้าวของเขานั้นแทบไม่ต้องดิ้นรนเรื่องน้ำเลยทีเดียว
พัชรพงศ์เลือกการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ที่พึ่งพิงธรรมชาติทำให้เนื้อดินในนาข้าวของเขามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหญ้าที่ได้จากการตัดหรือการไถกลบตอซังพืช ใช้การบ่มโดยใช้น้ำเรียกว่า การพักน้ำ เพื่อให้วัชพืชเน่าและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ผิดกับวิธีของชาวนาสมัยก่อนที่เน้นการเผา ซึ่งถือเป็นที่วิธีผิดๆ เพราะทำให้หน้าดินสูญเสียแร่ธาตุ และสร้างปัญหาดินเค็มตามมา
เมื่อผืนดินในนาข้าวมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งาน จึงไปขอคำแนะนำจาก “ลุงซัน” ซึ่งได้รับความรู้กลับมาว่า ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวนาปี ต้องปลูกตามฤดูกาล ต่างจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 120-130 วัน ต่อมาก็ได้นำร่องด้วยการปลูกข้าวหอมมะลิและไรซ์เบอร์รี่บนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี สามารถสร้างผลผลิตได้มากถึง 6 ตัน (6,000 กิโลกรัม)
และในระหว่างนั้นก็ได้ซื้อเครื่องอบข้าวมาจากไต้หวัน เนื่องจากเขามองว่า ลำพังวิธีการตากข้าวแบบเก่าต้องใช้ราว 2 แดด หรือ 2 วันเต็ม ให้ผลผลิตที่ช้ากว่าการอบที่ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง ก็สามารถนำไปสีและบรรจุภัณฑ์ได้เลย พร้อมกับลงทุนซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตข้าวเข้ามาเป็นส่วนเสริม เช่น เครื่องปลูกต้นกล้า, รถสีข้าว เรียกได้ว่า มีการนำเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่มาใช้เพื่อร่นระยะเวลาการทำงาน ให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตให้ตรงตามเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบเลยทีเดียว
สำหรับช่องทางการขายนั้น พีชบอกว่า จัดจำหน่ายให้เพื่อน และประเดิมตลาดที่กรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก แม้ขณะนั้นจะยังไม่เป็นที่รู้จัก ยอดขายจะยังได้ไม่ถึงเป้า แต่ความสำเร็จอยู่ที่หัวใจของการทำ เขาสามารถทำสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันให้ออกมาเป็นรูปธรรม จากก้าวแรกก็เป็นก้าวที่สอง สาม สี่ ตามลำดับ เมื่อได้กำลังใจจากการผลิตข้าวในครั้งแรก นอกจากทำให้ไม่รู้สึกย่อท้อแล้ว กลับเกิดพลังใจครั้งยิ่งใหญ่ พัชรพงศ์ตัดสินใจว่า เพิ่มผลผลิตครั้งใหญ่ โดยขยายพื้นที่เพาะปลูกจากเดิม 20 ไร่ เป็น 50 ไร่ ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก ที่แต่เดิมปลูกไรซ์เบอร์รี่กับข้าวหอมมะลิพร้อมกัน ก็ใช้การปลูกข้าวหอมมะลิก่อนในรอบแรก แล้วจึงปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ตามในภายหลัง เพื่อให้ได้การคำนวณตัวเลขเรื่องของระยะเวลาการปลูก, ปริมาณผลผลิต และต้นทุนที่ใช้ไปการปลูกข้าวในแต่ละชนิดถูกต้องที่สุด
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมสามารถปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวหอมมะลิรวมกันแล้วได้ 2.2 ตัน นี่คิดรวมกันแล้วนะครับ แบ่งเป็น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1.8 ตัน ข้าวหอมมะลิ 396 กิโลกรัม โดยเรื่องราคาขายนั้น ผมจะขายส่งกิโลกรัมละ 100 บาท ซื้อ 10 แถม 2 บรรจุเป็นกล่อง 1 โหลมี 12 ห่อ และเน้นส่งเฉพาะภายในประเทศ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเรายังเป็นแบรนด์ใหม่ การจะขยายตลาดทีเดียวเลย ถือเป็นความเสี่ยงเรื่องของเงินทุน จึงค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหากลองคำนวณแล้วจะพบว่า 1 ปีทำนา 2 รอบ 1 ไร่ สามารถสร้างรายได้ถึง 2 แสนบาท ตัวอย่างเช่น เมล็ดข้าวหอมมะลิ 120 กิโลกรัม สามารถทำผลผลิตได้ 5 ตัน (5,000 กิโลกรัม) บนพื้นที่ 18 ไร่ ซึ่งใช้งบประมาณราว 1.8 หมื่นบาท ก็เฉลี่ยไร่ละ 1,800 บาท ถือว่าถูกมาก แม้ที่ผ่านมายอดขายจะยังไม่ถึงเป้าที่วางไว้คือ 2 แสน แต่ก็ไม่เสียใจ เพราะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”
อีกทั้งในช่วงที่ทำนาข้าวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบปัญหามากมาย โดยช่วงแรกๆ นั้นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ หอยเชอร์รี่ ศัตรูตัวสำคัญที่เข้าทำลายกอข้าวอยู่เสมอ จึงได้ศึกษาในส่วนลึกของการดูแลพันธุ์ข้าวในระหว่างที่กำลังเจริญเติบโต ด้วยการนำเป็ดมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้สำหรับกินไข่และตัวของเชอร์รี่ หรือตัวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่คอยสร้างปัญหาให้นาข้าวอยู่เสมอ จึงได้นำวิธีแบบธรรมชาติมาใช้ นั่นคือการปลูกต้นตะไคร้รอบนาข้าว เพราะในตะไคร้มีสารระเหย สามารถขับไล่แมลงเหล่านี้ออกไปได้
“ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพืชผลทางการเกษตร ยอมรับว่า บางครั้งรู้สึกท้อ แต่ด้วยใจรักที่จะทำ จึงมองปัญหาต่างๆ ให้เป็นดั่งครู”