ข่าว

จับตาถนน-สะพานโกลเด้นเกทเกิด-ไม่เกิดยุค‘บิ๊กตู่’

จับตาถนน-สะพานโกลเด้นเกทเกิด-ไม่เกิดยุค‘บิ๊กตู่’

18 ก.ย. 2558

จับตาถนน-สะพานโกลเด้นเกท เกิด-ไม่เกิดยุค‘บิ๊กตู่’

              นับเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับกรมโยธาธิการ ได้ศึกษาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และถนนเชื่อมต่อ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ กับ จ.สมุทรสาคร

              กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เจ้าของโครงพยายามผลักดันมาโดยตลอด กระทั่งมาถึงยุคสมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงพยายามเร่งรัดให้โครงการเมกะโปรเจกท์เลียบปากอ่าวรูป ก.ไก่ เกิดขึ้นให้ได้

              เป้าหมายหลักก็คือการระบายการจราจรจากสมุทรปราการสู่สมุทรสาคร และล่องใต้ไปรวมกับถนนพระรามที่ 2 เดิม

              หลับตานึกภาพถนนพระรามที่ 2 ในอนาคต ก็จะมีถนนในระดับ "มอเตอร์เวย์” มารวมอย่างน้อยๆ 3 สายคือ สายเลียบปากอ่าว(สมุทรปราการ-สมุทรสาคร)ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างใน 1-2 ปีข้างหน้า สายนครชัยศรี-พระราม 2 และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง ที่จะตัดชื่อไปรวมพระราม 2 ที่เพชรบุรีด้วย

              ถนนพระสมุทรเจดีย์-สมุทรสาคร(มหาชัย) ตามโครงการใหม่ของกรมทางหลวงชนบทนี้จะต้องสร้างสะพาน 2 แห่ง คือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่พระสมุทรเจดีย์ ตรงนี้จะเป็นสะพานเสาขึง ที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า สะพานแขวน จะสร้างเทียบเคียงกับสะพานโกลเดนเกท ของสหรัฐอเมริกา ระยะทางยาว 1,120 เมตร กับสะพานข้ามปากแม่น้ำท่าจีน บริเวณท่าฉลอม ความยาว 1,000 เมตร

              สำหรับรายละเอียดแนวเส้นทางตามโครงการนี้ จะตัดผ่านพื้นที่ของ 3 จังหวัด 1 เขต 3 อำเภอ 1 แขวง 17 ตำบล ประกอบด้วย

              1.กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน

              2.สมุทรปราการ มี 2 อำเภอคือ อ.เมืองสมุทรปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ 9 ตำบล ประกอบด้วย เทพารักษ์ แพรกษาใหม่ แพรกษา ท้ายบ้านใหม่ ท้ายบ้าน ในคลองบางปลากด แหลมฟ้าผ่า บ้านคลองสวน และนาเกลือ

              3.สมุทรสาคร 1 อำเภอ ได้แก่ เมืองสมุทรสาคร และ 8 ตำบลคือ พันท้ายนรสิงห์ โคกขาม บางหญ้าแพรก โกรกกราก ท่าฉลอม มหาชัย บางกระเจ้า และท่าจีน

              ทั้งโครงการมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4-6 ช่องจราจร 8 กิโลเมตรอยู่ในสมุทรปราการ เชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ที่คุ้นเคยกันดี เพราะทุกวันนี้คนใช้กันเยอะและการจราจรหนาแน่น ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างด่านเก็บค่าผ่านทางเทพารักษ์กับด่านศรีนครินทร์

              ต่อจากนั้น แนวถนนจะเบี่ยงมาทางบ้านคลองใหม่ บ้านคลองหนองรี บ้านคลองขวาง บ้านคลองเล้าหมู บ้านแพรกษา วัดแพรกษา โรงเรียนแพรกษา บ้านคลองตาตุ่ม ข้ามถนนสุขุมวิทสายเก่า ตัดผ่านมาทางโรงเรียนบ้านคลองหลวง บ้านคลองศาลาแดง บ้านคลองสรรพสามิต อยู่ในเขต อ.พระสมุทรเจดีย์ จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

              แนวเส้นทางจะผ่านถนนสุขสวัสดิ์แล้ววิ่งมาตาม ถ.คลองสรรพสามิต ซึ่งเป็นบนถนนเดิม 2 ช่องจราจร จะปรับปรุงใหม่โดยขยายถนนเพิ่มเป็น 4-6 ช่องจราจร และสร้างถนนตัดใหม่บริเวณวัดศรีคงคาราม บ้านหัวท่อ ก่อนเข้าพื้นที่เขตบางขุนเทียน

              การออกแบบจะวิ่งตัดลงมาไปตามแนว ถ.คลองสหกรณ์ ซึ่งเป็นทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจร จะปรับปรุงใหม่เป็น 4-6 ช่องจราจรในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ผ่านโรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม บ้านคลองสหกรณ์

              ก่อนจะเข้าสมุทรสาคร ผ่านโรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา(ปัจจุบันมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรระดับหรูไปตั้งอยู่จำนวนมาก) วัดโฆสิตาราม บ้านคลองพระราม บ้านสหกรณ์ เบี่ยงขึ้นไปทางบ้านกำพร้า บ้านโกรกกราก โดยจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนบริเวณท่าฉลองขนาด 4-6 ช่องจราจร รูปแบบเป็นสะพานขึง

              จากนั้นจะเป็นถนนตัดใหม่ระยะทางประมาณ 3-4 กม. แนวเส้นทางจะไปทางวัดหลังศาลประสิทธิ์ แล้วไปบรรจบกับถนนพระรามที่ 2 บริเวณแยกบ้านแพ้ว เชื่อมต่อนครปฐม

              รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 60 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างถึงขณะนี้พุ่งทะลุแตะระดับ 8 หมื่นล้านบาทแล้ว

              อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คณะที่ปรึกษาโครงการได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน 3 จังหวัด โดยเฉพาะจะประมวลและทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดแนวสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการต่อไป คาดหมายว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 นี้

              และเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2560 จากนั้นอีก 2 ปี ถนนเส้นนี้ก็จะเปิดประตูบานใหม่เชื่อมระหว่างภาคตะวันออก(ถนนวงแหวน) สู่ภาคใต้ เป็นโครงการข่ายการขนส่งเพื่อเศรษฐกิจและบรรเทาการจราจร ที่คาดว่าถนนพระราม 2 กำลังจะวิกฤติในอีกไม่นานนี้

              โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการตอบโจทย์เขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี อีกทางหนึ่งด้วย

              ถ้าหากทุกอย่างไม่สะดุดหยุดลง เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพราะต้องไม่ลืมว่า เส้นทางดังกล่าวมานี้ จะตัดผ่านป่าชายเลน และหย่อมย่านเกษตรกรรม

              เวลานับจากที่ พล.อ.อ.ประจินฝากการบ้านเอาไว้จนถึงปลายปีหน้า จึงเป็นห้วงยามที่จะต้องลุ้นกันพอสมควรว่า จะมีแรงต้านจากชาวบ้านเหมือนกับหลายๆ โครงการของรัฐที่ผ่านมา และโครงการร่วมแสนล้านบาทนี้จะผ่านในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

 

เวที“ชาวบ้าน”ด่านสำคัญ
 
            ความคาดหวังที่จะผลักดันให้เมกะโปรเจกท์ชิ้นนี้ เดินหน้าลุล่วงตามแผนงานที่วางไว้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนยอมรับให้ได้ว่า การเกิดขึ้นของโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา ซึ่งอาจไม่ง่ายนัก เพราะยังมีชาวบ้านบางกลุ่มเห็นต่างจากข้อมูลของรัฐบาล 
 
            ดังเช่นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งใน ต.โคกขาม ภายใต้การนำของ เลอพงษ์ จั่นทอง ประธานสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด (สหกรณ์เกลือโคกขาม) วิชา รังสี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย ที่ยังคงตามไปชูป้ายคัดค้านทุกครั้งที่ตัวแทนกรมทางหลวงชนบทเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ล่าสุดก็ที่ อบต.โคกขาม และ อบต.พันท้ายนรสิงห์ เมื่อวันที่ 16-17 กันยายน ที่ผ่านมา
 
            เลอพงษ์ ให้เหตุผลว่า ชาวบ้านไม่ต้องการเมกะโปรเจกท์ชิ้นนี้ เพราะหวั่นเกรงว่า การเข้ามาของถนนและสะพานยกระดับขนาดใหญ่จะทำให้วิถีชีวิตของชาวชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนไป อาชีพดั้งเดิมที่เคยเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เช่น ประมงพื้นบ้าน นาเกลือ นากุ้ง จะสูญหาย
 
            “สาเหตุที่เรารวมตัวกันไม่มีอะไรมาก แค่ออกมาชูป้ายคัดค้านโครงการเพื่อให้รู้จุดยืนที่ไม่เห็นด้วย และเคยคัดค้านตั้งแต่มีเวทีครั้งก่อนๆ เพราะชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยกันมานาน จะเดือดร้อน หากมีถนนพาดผ่านเข้าบริเวณชายฝั่งทะเล อาชีพดั่งเดิมอย่างนาเกลือ ประมงพื้นบ้าน วังกุ้ง วังหอย ปู ปลา เป็นอาชีพเก่าแก่ของประเทศนั้น จะเดือดร้อนแน่”