ข่าว

ใส่นวัตกรรมให้'ขนมไทย'ยกระดับเทียบชั้นสากล

ใส่นวัตกรรมให้'ขนมไทย'ยกระดับเทียบชั้นสากล

14 ก.ย. 2558

ใส่นวัตกรรมให้'ขนมไทย'ยกระดับเทียบชั้นสากล : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยอนัญชนา สาระคู ช่างภาพ... กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

              ปัจจุบันอาหารไทยถือเป็น 1 ใน 5 อาหารสากล นับว่าเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกไม่น้อยทีเดียว และคงจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากเราจะได้เห็น “ขนมไทย” ขึ้นเทียบชั้นระดับสากลด้วย

              ทั้งนี้ การที่จะก้าวสู่การเป็น “ขนมสากล” ได้ ก็น่าจะเป็นขนมที่ผู้คนทั่วโลกเลือกที่จะรับประทานเป็นขนมกินเล่น เป็นอาหารว่าง กินควบกับน้ำชา และกาแฟ หรือถูกจัดวางอยู่ในตู้วางขนมของร้านกาแฟยอดนิยมทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับสารพัด เค้ก คุกกี้ บราวนี่ ทาร์ท มาการอง และสโคน เป็นต้น หรือการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะเลือกขนมไทยไปเป็นของฝากเมื่อเดินทางกลับบ้าน เหมือนอย่างที่คนไทยชื่นชอบขนมญี่ปุ่นและหอบหิ้วกันกลับมาฝากเพื่อน พี่ น้องที่บ้าน

              แต่อะไรคงไม่สำคัญเท่ากับการที่เรายังคงไม่ลืม “ขนมไทย” แม้ว่าจะมีขนมอร่อยๆ จากเมืองนอก เมืองนามาให้ชื่นชมอยู่กันตลอดก็ตาม

              อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล ผู้ก่อตั้ง “นพวรรณขนมไทย” คือหนึ่งในผู้รักขนมไทยตัวยง ต้องการรื้อฟื้นขนมไทยที่มีมาแต่ในอดีตให้เป็นที่รู้จักแก่คนไทยรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ อยากเห็นเด็กไทยรักและชื่นชอบในขนมไทย และมีขนมไทย อาหารว่างไทยเข้าไปเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลก ซึ่งเป็นที่มาของการคิดค้นพัฒนาขนมไทยให้มีความหวานน้อยลง เพื่อเพิ่มเติมคุณค่าในด้านการดูแลสุขภาพ การมองเห็นปัญหาและแก้ปัญหาการขาดช่วงของขนมไทย รวมทั้งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสามารถนำพาขนมของไทยขึ้นสู่ระดับสากลตามความตั้งใจ

              จนกลายมาเป็น “ชุดทำขนมสำเร็จรูป” สำหรับการลงมือทำขนมด้วยตัวเอง เริ่มต้นที่ชุดสำเร็จรูปในการทำ “ขนมลูกชุบ” ซึ่งอาจารย์นพวรรณ บอกว่า ชุดขนมที่ว่านี้ทำได้ง่ายมาก เด็กวัยอนุบาลที่อยู่ในช่วงของการฝึกปั้น ก็สามารถที่จะทดลองทำได้เช่นกัน เพียงนำถั่วสำเร็จรูปเติมน้ำร้อนตามที่กำหนด คนให้เข้ากัน ผสมสีที่เตรียมไว้ให้ แล้วปั้นให้เป็นรูปต่างๆ จากนั้นก็นำไปชุบวุ้นที่จัดไว้ให้สำเร็จรูปเช่นกัน เพียงไม่กี่นาทีก็ทำเสร็จพร้อมรับประทาน

              เหมาะในทุกโอกาส ทั้งการทำกินเองที่บ้าน จัดงานเลี้ยงขนาดย่อมๆ นำไปทำบุญ และมอบให้คนที่รักเคารพ

              สำหรับผลิตภัณฑ์ชุดทำขนมไทยสำเร็จรูปนี้ เพิ่งทำออกมาได้ไม่นานนี้ และเตรียมเปิดตัวครั้งแรกในงาน “Thailand Innovation and Design Expo 2015” การแสดงผลงานด้านนวัตกรรมการออกแบบ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และนอกจากจะนำผลิตภัณฑ์ชุดทำขนมลูกชุบสำเร็จรูปนี้ไปจัดแสดงแล้ว ยังมีชุดทำขนม “ดอกจอก” สำเร็จรูปไปแสดงด้วย โดยชุดทำขนมสำเร็จรูปทั้ง 2 ชนิดนี้ยังได้รับตราสัญลักษณ์ไทย ซีเล็คท์ เสมือนตรารับรองรสชาติอาหารไทยแท้ เพื่อนำไปโปรโมทในตลาดต่างประเทศได้ด้วย

              รวมทั้ง ยังมีอาหารว่างคือ “ช่อม่วง” ที่จะนำไปแสดงด้วยเช่นกัน เพราะเพิ่งคิดค้นตัวไส้ สำหรับทำช่อม่วงได้สำเร็จ เพราะเป็นความตั้งใจของอาจารย์เอง ที่ต้องการรื้อฟื้นขนมไทย อาหารว่างแบบไทยๆ ที่หายไปตามกาลเวลา ให้กลับมาสู่ปัจจุบันอีกครั้ง โดยช่อม่วงเองมีเรื่องราวให้เล่าถึงความเป็นมาและเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีอาหารว่างชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 2

              อาจารย์นพวรรณ เล่าว่า ตัวเองเป็นคนรักขนมไทย และอยู่กับขนมไทยมาตั้งแต่เกิด ชอบที่จะพัฒนาและคิดค้นสิ่งต่างๆ สำหรับการทำขนมไทยมาตั้งแต่เด็ก จนมาในสมัยปัจจุบันที่เห็นว่า เด็กไทยชอบกินขนมแต่ส่วนใหญ่จะไม่ชอบกินขนมไทยกันเลย ตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด ก็คิดหาปัญหาว่าอยู่ตรงไหน จนคิดได้ว่าน่าจะอยู่ตรงที่เราไม่เคยทำให้เด็กๆ เขาได้รู้จักกับขนมไทยกันอย่างจริงๆ จังๆ และตอนที่ได้ไปเห็นในต่างประเทศ เวลานำขนมไทยไปจัดแสดงในงานเทศกาลต่างๆ เราเห็นชาวต่างชาติชื่นชอบขนมไทย เลยทำให้คิดได้ว่าการที่เด็กไม่กินขนมไทยนั่นเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ทำให้เขากิน เรามีแต่ไปโชว์ในต่างประเทศอย่างเดียว

              นอกจากนี้ ยังคิดว่าการที่เด็กไทยหนีห่างออกจากขนมไทย อาจจะเป็นเพราะวิธีทำและขั้นตอนที่ยุ่งมาก กว่าจะทำเสร็จจะต้องใช้เวลานาน เพราะจากประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้อาจารย์เข้าใจในเรื่องนี้ดี จึงหาทางที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของธุรกิจขนมไทยได้ จึงถอยกลับออกมายอมที่จะเป็น “ครัวกลาง” เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ โดยหันมามุ่งทำงานเรื่องนวัตกรรมเพื่อให้โลกใบนี้ได้เห็นว่า เราสามารถทำอะไรก็ได้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น และตั้งใจ

              เริ่มตั้งแต่การทำให้ได้ตามที่โลกต้องการ คือการทำขนมให้หวานน้อยลง และใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด จนได้มาร่วมมือกับบริษัทแบ็คไทย ในการนำหญ้าหวาน ซึ่งมีความหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 300 เท่า มาใช้ทดแทนน้ำตาลทราย จนทำให้ทุกวันนี้ขนมหวานนพวรรณ เป็นขนมไทยที่ไร้แคลอรี่ แต่ยังมีขนมหวานอีกหลายชนิดที่จำเป็นต้องใช้น้ำตาลทรายเพื่อช่วยในการขึ้นรูป เช่น ทองหยิบ ทองหยอด จึงต้องละไว้ไม่สามารถใช้หญ้าหวานแทนได้ ส่วนที่สามารถใช้หญ้าหวานได้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีส่วนผสมของแป้ง และสาคู ซึ่งขนมกลุ่มนี้มีโครงสร้างของตัวเองอยู่แล้ว

              จากนั้น ก็ได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการคิดค้นและพัฒนา รวมทั้งการทำแป้งสำเร็จรูป หรือผงถั่วสำเร็จรูปสำหรับทำลูกชุบ จึงจับมือกับโรงงานในการทำชุดทำขนมสำเร็จรูปนี้ขึ้นมา

              “ในด้านการตลาด ขณะนี้เรายังเปิดกว้างสำหรับการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดให้สำหรับผู้ที่สนใจติดต่อมาเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ ซึ่งติดตามได้ทางเฟซบุ๊กในชื่อ นพวรรณขนมไทย ส่วนต่างประเทศตั้งใจจะให้ลูกสาวซึ่งอยู่ที่อเมริกาเปิดตลาดในส่วนนี้ให้ นอกจากนี้ก็ยังออกงานแสดงต่างๆ ขณะเดียวกันขนมชุดสำเร็จรูป ยังจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ผู้ที่ต้องการจะเปิดร้านขนม มีอาชีพอยู่ที่บ้านได้อีกทางหนึ่ง เด็กมหาวิทยาลัยที่ชอบทำก็สามารถจับมือกับเพื่อนๆ ทำขายในมหาวิทยาลัย ลองผิดลองถูก มีอาจารย์คอยติชม เพื่อพัฒนางานของตัวเอง ก็เริ่มจากตรงจุดนี้ก็ได้เช่นกัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมการทำขนมให้กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ติดต่อมาได้” อาจารย์นพวรรณ กล่าวและว่า หรือแม้แต่ใครก็ได้บนโลกใบนี้ก็สามารถทำได้ เพียงเพราะเราต้องการให้เขาได้ทำขนมไทย ได้ทำอาหารว่างของไทย เหมือนเช่นที่เราทำเค้กในทุกวันนี้ แค่นี้ก็เป็นที่ภูมิใจของตัวเองแล้ว

              อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเสน่ห์ของขนมไทยอยู่ที่กระบวนการ หรือขั้นตอนต่างๆ ในการทำอย่างพิถีพิถัน ซึ่งการที่อาจารย์ทำออกมาเป็นเซตสำเร็จรูปนี้ กระบวนการที่ว่านี้จะหายไป แต่เมื่อนำมาเทียบกับการที่ว่าเด็กๆ ไม่ยอมรับในกระบวนการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยาก แล้วจะให้ทำอย่างไร เด็กรุ่นใหม่อาจจะทิ้งขนมไทยไปเลยก็ได้ กับการแลกที่จะได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ยึดการทำขนมไทยเป็นอาชีพ เห็นภาพการที่เด็กนั่งจีบดอกช่อม่วงที่ตลาดน้ำโชว์นักท่องเที่ยว และจำหน่ายมีรายได้ กับการที่ไม่มีภาพนี้ให้เห็นเลย เราคงต้องเลือกดูว่าจะเอาอย่างไหน

              ทั้งนี้ สำหรับ “นพวรรณขนมไทย” อาจารย์บอกว่า จะนึกถึงเรื่องขนมมงคล ขนมเพื่อสุขภาพ และขนมไทยในวาระพิเศษต่างๆ เช่นงานวัดเกิด งานแต่งงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะติดต่อเรามา เพราะเราไม่มีหน้าร้าน แต่จะรับสร้างสรรค์งานเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของงานนั้นๆ เหมือนเป็นการสร้างงานประติมากรรม สร้างสรรค์ชิ้นงานแบบพิเศษๆ ออกมาเฉพาะงานนั้นๆ มากกว่า โดยมุ่งที่จะรักษาในเรื่องของคุณค่า และความเป็นไทย ไม่ได้มุ่งทำธุรกิจเพื่อทำกำไรแต่อย่างใด

              นอกจากนี้ ยังขายแฟรนไชส์ ซึ่งร้านแรกที่ทำเฟรนไชส์นพวรรณขนมไทยอยู่ที่จ.เชียงใหม่ จากปัจจุบันล่วงมา 20 ปีแล้ว โดยรูปแบบแฟรนไชส์ อาจจะแตกต่างจากสมัยก่อน เพราะตอนนี้ระบบจะง่ายมากขึ้นด้วยการที่เรามีแป้งสำเร็จรูปให้ใช้ จึงน่าจะใช้เวลาไม่นานนักในการเรียน หรือราว 1 เดือนก็จบแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีคนนัดมาเรียนกับอาจารย์เกือบทุกวัน นอกจากนี้ ยังรับเป็นที่ปรึกษาในการคิดค้นงาน หรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับการรับประทาน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ออกกำลังกาย เพื่ออาหารที่จะเพิ่มพลังงานให้นักปั่นจักรยาน เป็นต้น และรับปรึกษาในการคิดค้นสูตรใหม่ๆ การคิดสูตรเครื่องแกง ต้มยำ และอาหารไทย ซึ่งอาจารย์ก็จะใช้แบรนด์ครัวนพวรรณ สำหรับอาหารคาวด้วย

              อย่างไรก็ตาม สำหรับความมุ่งมั่นตั้งใจของอาจารย์นพวรรณ เธอบอกว่า ค่อนข้างตั้งความหวังไว้มากในการสร้างชื่อเสียงให้ขนมไทย และเมื่อคิดได้แล้วก็อยากเห็นแนวคิดนี้ขยายกว้างออกไป โดยหวังไว้ว่าในต่างประเทศจะมีอาหารไทยและขนมไทยเข้าไปเติมเต็มได้มากขึ้น เพื่อจะสามารถนำประโยชน์กลับประเทศชาติมาได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากไม่มีใครรู้ ไม่เป็นไร แต่ตัวเองก็เชื่อว่าสวรรค์มีตา เราถือว่าได้จุดเทียน และจ่อเปลวไฟติดกันต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดแสงสว่าง เมื่อมากขึ้นผู้คนก็จะได้เห็นว่าเรามีอุดมคตินี้อยู่

สร้างสรรค์ขนมไทยด้วยใจรัก

              “คนจะทำขนมไทยจะต้องมีใจรัก แต่ก็เห็นว่าต้องมีพื้นฐานมาจากครอบครัวจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก” อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในแวดวงขนมไทยและครัวไทยจำนวนมาก กล่าว

              อาจารย์เล่าว่า แบรนด์นพวรรณขนมไทยเกิดจากความรู้สึกรักในเรื่องขนม เพราะคุณแม่ทำขนมและมีคุณยายเป็นเจ้าของโรงสีข้าวที่นำมาทำขนม ขณะที่ทางคุณย่ามีสวนดอกไม้ ก็เลยกลายมาเป็นขนมหอม ประจวบเหมาะกับการเป็นคนติดครอบครัว ทุกๆ อย่างเลยลงมาที่เรา ได้รู้จักขนมนานาชนิด และเป็นคนที่ชอบคิด ชอบพัฒนางานมาตั้งแต่เด็ก ขนมที่คุณแม่ขายเหลือกลับมา จึงนำมาผสมนู่น นั่น นี่ ก็สามารถกลายมาเป็นขนมอีกแบบที่สามารถกินได้เช่นกัน เช่น น้ำกะทิทุเรียนเหลือ ก็เสียดายไม่อยากทิ้งเพราะจะต้องทิ้งและทำใหม่ทุกวัน เราก็เสียดายเลยนำมากวนกับขนมเปียก ออกมาเป็นขนมเปียกรสทุเรียน ทางผู้ใหญ่เห็นก็ชมว่าเราคิดได้อย่างไร แต่ก็คิดและคำนวณสูตรการทำอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว

              นอกจากนี้ เมื่อทำขนมมากๆ เข้าก็ได้รู้ว่าตัวเองมีรสมือดี เพราะจริงๆ การทำอาหารไทย ขนมไทย ในเรื่องสูตรไม่สำคัญเท่ารสมือ

              อย่างไรก็ตาม ในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างนี้ คิดว่าเป็นคนโชคดีที่มีครอบครัวเป็นเหมือนปริญญาชีวิต คือไม่ต้องออกไปหาปริญญานอกบ้านเลย แต่ในบ้านนี่ล่ะ พอเติบโตขึ้นมาก็ค่อยๆ ซึมซับและเริ่มทำเป็นธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เด็ก ทำแล้วมีความสุข คิดดี ทำดี ผ่านการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็ก และรู้ว่ารักที่จะทำอะไร จึงบอกได้ว่าคนเราทุกคนถ้ารู้จักตัวเองตั้งแต่เด็ก เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

              สำหรับอาจารย์ ยังเล่าถึงแนวคิดการใช้ชีวิตในวัยเกือบ 70 ปีแล้ว ว่ายังทำงานทุกวัน คิดทุกวัน ทั้งเรื่องอาหารว่าง อาหารไทย รวมทั้งขนมไทย จึงยังรับเป็นที่ปรึกษา และการคิดสูตรต่างๆ ซึ่งหากใครทุนน้อย ไม่พอที่จะไปจ้างใคร ก็มาที่นี่ก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมของเนื้องาน ซึ่งถ้าเราว่างก็จะสามารถคิดให้ได้ทันที จึงอยากบอกว่าคิดไปเถอะ ตราบใดที่เรายังไม่ลงมือทำ เราก็ยังไม่เสียอะไร ไม่มีต้นทุน แต่ขอให้ได้คิด ทำให้สมองแข็งแรง จิตใจมีความสุข ซึ่งตัวเองได้พลังจากส่วนนี้มาสร้างเป็นพลังของตัวเอง นอกจากนี้ ก็ยังได้มีสมาธิกับงาน ไม่ไปคิดในเรื่องอื่น

              “เมื่อเรามีสมาธิกับงาน เรามองเห็น จินตนาการก็จะไปได้ เมื่ออาจารย์อยู่กับสิ่งที่รักและมีความสุข นี่ก็คือสมาธิ เก็บเวลาของตัวเองทั้งหมดให้มีค่า อย่าทำแบบสะเปะสะปะ แล้วอะไรที่ไม่ใช่เรื่องของเราก็อย่าไปยุ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเข้าวัด ซึ่งตัวเองไม่ได้เข้าวัดมากนัก แต่คิดว่าสิ่งที่เราทำ เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นการทำบุญไปในตัวด้วย ซึ่งการทำบุญไม่ใช่การเข้าวัดอย่างเดียว แต่เป็นการที่เราให้สิ่งดีๆ กับผู้อื่น อย่างขนมชุดสำเร็จรูปที่ทำออกมาก็ยังคิดที่จะนำไปบริจาคกับทางวัดที่อุปการะเด็กด้อยโอกาส เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้กับขนมไทยด้วย” อาจารย์นพวรรณ กล่าว

              นอกจากนี้ เรื่องของการคิดบวก ก็ทำให้เรามีความสุข อย่างที่เราทำเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าเพื่อประโยชน์ของชาติ คนไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่อยากจะบอกว่าขอให้ทำดีไว้เถอะ ถ้าเขาไม่เห็นในวันนี้ก็ไม่เป็นไร แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องสะสมการทำความดี เวลาที่มีต่อจากนี้ไปอาจารย์คิดว่า สิ่งที่จะติดตัวเราไปได้ก็มีแค่บุญ กับบาปเท่านั้น แล้วเราจะเลือกทำไรล่ะ เราก็เลือกที่จะทำบุญดีกว่า มีความสุขกับชีวิตและเวลาที่ว่างเพื่อการทำงาน คิดงาน แต่อย่าไปเครียดกับมัน