ข่าว

'ดีไซน์ใหม่ ประดับอาเซียน'

'ดีไซน์ใหม่ ประดับอาเซียน'

14 ก.ย. 2558

ดีไซน์ใหม่ ประดับอาเซียน : ไลฟ์สไตล์

      
          ปัจจุบันมีนวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตลของผู้ใช้ในกลุ่นใหม่ๆ มากขึ้น  ขณะเดียวกันงานฝีมือแบบดั่งเดิมก็ยังถูกอนุรักษ์สานต่อเป็นมรดกทางงานฝีมือชั้นเลิศ สองความต่างนี้ถูกตีแผ่ให้เห็นชัดในงานพิธีมอบรางวัลและจัดแสดงผลงานของผู้ชนะในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป จัดการประกวดพร้อมคัดเลือกผู้ชนะจาก 9 ประเทศ เดินทางมาจากแต่ละประเทศของอาเซียน เปิดโชว์ศักยภาพและทัศนคติงานออกแบบของคนรุ่นใหม่ บริเวณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองมองธานี เมื่อวันก่อน 
 
          มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสร้างรายได้ให้ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมีมูลค่าการส่งออกสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของสินค้าส่งออกกลุ่มประเทศอาเซียน เหตุนี้จึงจัดการประกวดออกแบบเครื่องประดับเพื่อสนับสนุนส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่สืบทอด สร้างสรรค์ เครื่องประดับอัญมณี กระตุ้นให้เกิดการสร้างความร่วมมือกันระหว่างนักออกแบบจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างรากฐานแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ระหว่างภูมิภาค  การจัดการประกวดได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผานมา แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการจัดประกวดและคัดเลือก 5 ผลงาน ที่ดีที่สุดมาตัดสินกันในระดับภูมิภาคให้เหลือผู้ชนะประเทศละ 1 ท่าน โดยคณะกรรมการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบเครื่องประดับอัญมณีจากประเทศ สเปน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ผู้ชนะทั้ง 9 ท่านจะได้รับทุนการศึกษาดูงานกับบริษัทเครื่องประดับ John Hardy ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย 
    
          โดยผลงานยอดเยี่ยมจาก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม, อินโดนีเซีย, สปป.ลาว, มาเลเซีย, สหภาพเมียร์มา,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์,เวียดนาม และ ไทย ถูกแสดงผ่านแฟชั่นโชว์หรู สะท้อนความงามตามเอกลักษณ์ของนักออกแบบแต่ละคน จิตรกานต์ บรรเทิงไพบูลย์ ผู้ชนะจากประเทศไทย เผยว่า ได้นำเทคนิคเลเซอร์คัต และ 3D ปริ้นท์ มาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับ ให้มีความแปลกใหม่ทั้งรูปแบบการผลิต และรูปทรงของชิ้นงานชื่อ Fairly Fairy นำเสนอผ่านเรื่องของจินตนาการที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน เป็นเครื่องประดับที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการคิดว่าการใช้เทคโนโลยีผลิตเครื่องประดับแบบนี้สามารถออกแบบได้อิสระมาก เข้าถึงคนหลากหลายสไตล์ ทำซ้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากเป็นการผลิตแบบใหม่ต้นทุนจึงค่อนข้างสูงซึ่งผู้ผลิตจะต้องพัฒนาปรับใช้กับการตลาดต่อไป  
 
          อีกหนึ่งผลงานชื่อ Ever Foliage  โดย Achillea Teng Siow Lee ผู้ชนะจากประเทศสิงคโปร์ เธอเล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหยกและความรักในธรรมชาติ ใช้ต้นสน ซึ่งเป็น หนึ่งใน 3 เพื่อนรักแห่งฤดูหนาว (ต้นสน,ต้นไผ่ และต้นพลัม) เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืน กลายเป็นสร้อยคอที่ดูแข็งแกร่งแต่ยังมีความนุ่มนวลผ่านใบที่พริ้วไหว โดยเลือกใช้งานแฮดเมคทั้งหมดเพราะอยากให้ชิ้นหยกนั้นดูเป็นธรรมชาติซึ่งเทคโนโลยีไม่อาจเติมเเต่งรายละเอียดบางอย่างได้ ทั้งยังเป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อมาเพียงแต่ปรับให้การออกแบบดูทันยุคสมัยขณะเดียวกันก็ยังสื่อสารเรื่องราววัฒนธรรมได้มากขึ้น