
ความเสี่ยงของคนไม่สำส่อน
11 ก.ย. 2558
ศุกร์กับเซ็กส์ : ความเสี่ยงของคนไม่สำส่อน : โดย...รัชดา ธราภาค มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
มีหลายโรคที่ถูกบอกว่า สาเหตุเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์กับหลายคน หรือที่เรียกว่า “สำส่อนทางเพศ” ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ โดยเฉพาะโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศ ที่เกิดจากการติดเชื้อเอ็ชพีวี (Human papilloma virus)
ผลวิจัยล่าสุด พบว่า สมมุติฐานเช่นนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขว้ และผู้หญิงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะการรับรู้ดังกล่าวกลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้พวกเธอได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็ง และรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
Eve Appeal สำนักวิจัยในประเทศอังกฤษ สำรวจความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อาสาสมัครหญิง อายุ 46 ถึง 55 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ราย ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 บอกว่า ที่ไม่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะไม่ต้องการเล่าประวัติเรื่องเพศสัมพันธ์ของตนให้หมอฟัง
1 ใน 5 เชื่อว่ามะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสำส่อนทางเพศ และ 4 ใน 10 รู้สึกว่า ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ จะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นพวกสำส่อน
ในความเป็นจริง แม้จะมีเพศสัมพันธ์กับหลายคน แต่หากไม่มีใครสักคนที่มีเชื้อเอ็ชพีวี ผู้หญิงก็ย่อมไม่ติดเชื้อนี้ ในทางกลับกัน คู่นอนเพียงคนเดียวที่มีเชื้อเอ็ชพีวี ก็ทำให้ผู้หญิงรับเชื้อนี้ได้ แต่เมื่อความรู้เรื่องโรคถูกสื่อสารโดยผูกโยงเข้ากับความสำส่อน ผู้หญิงรักเดียวใจเดียว มีสามีเพียงคนเดียว จึงคิดว่าตนเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็ง
Adeola Olaitan ผู้เชี่ยวชาญนรีเวชด้านเนื้องอกจากโรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ ในลอนดอน บอกว่า ตกใจกับผลสำรวจครั้งนี้ เพราะทางเดียวที่จะช่วยชีวิตผู้หญิงจากโรคมะเร็ง ก็คือการตรวจคัดกรองเพื่อให้พบสัญญาณบ่งชี้โรคแต่เนิ่นๆ จะได้รีบรักษา แต่กลายเป็นว่า ผู้หญิงไม่สามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้เพราะอุปสรรคจากทัศนคติและความเชื่อของสังคม
ในประเทศอังกฤษ แต่ละปีมีการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งในระบบสืบพันธุ์หญิงรายใหม่ 20,000 คน และในแต่ละปีมีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ไม่น้อยกว่า 7,600 คน
ในบ้านเรา มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 8,000 คน เสียชีวิตปีละ 4,500 คน ยังไม่รวมมะเร็งอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์ ปัญหาหลักเป็นเรื่องเดียวกันคือ ไม่กล้าเข้ารับการตรวจคัดกรองเพราะความอาย
คำว่า “สำส่อน” รวมไปถึง “การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย” หรือ “การมีคู่นอนหลายคน” ล้วนแต่เป็นคำเชิงลบ ที่มีความหมายเป็นการตำหนิประณามอยู่ในตัวเอง การเชื่อมโยง “ความสำส่อน” เข้ากับการเกิดโรค จึงแฝงความหมายในการข่มขู่ ห้ามปราม และตีตราตัดสินการกระทำด้วยคุณค่าทางสังคม แทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลเรื่องโรคอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบด้านลบมากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตสำหรับผู้หญิงอย่างแท้จริง