
เมื่อบิ๊กเบนตีระฆังผิดเวลาครั้งแรกในรอบ156ปี
29 ส.ค. 2558
เวิลด์วาไรตี้ : เมื่อบิ๊กเบนตีระฆังผิดเวลา ครั้งแรกในรอบ 156 ปี
นาฬิกานั้นมีหน้าที่บอกเวลาที่เที่ยงตรงให้แก่เจ้าของ แม้ว่าเจ้าของจะเป็นคนที่ตรงต่อเวลาหรือไม่ นาฬิกาก็ได้รับการออกแบบมาให้เป็นผู้รักษาเวลาที่ถูกต้องตามมาตรฐานอยู่เสมอ และยิ่งเป็นนาฬิกาที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง “บิ๊กเบน” ที่ติดตั้งอยู่กลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยิ่งมีความสำคัญมากในการบอกเวลาที่เที่ยงตรง
เพราะบิ๊กเบนเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงลอนดอน หรือจะเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งอังกฤษ สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ อ้างอิงการตีระฆังบอกเวลาของบิ๊กเบน เป็นสัญลักษณ์ของเวลาการออกอากาศรายการวิทยุไปทั่วโลก ยิ่งทำให้ความสำคัญของเวลาบนหน้าปัดของนาฬิกาเรือนยักษ์เรือนนี้ ที่มีอายุถึง 156 ปี ยิ่งเพิ่มทวีมากขึ้นไปด้วย

แต่เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ นาฬิกาบิ๊กเบนกลับส่งเสียงกังวานของระฆังที่ตีบอกเวลาเร็วกว่ากำหนดถึง 6 วินาที ทำให้เกิดความวุ่นวายกันในหลายส่วน ที่แน่ๆ สำนักข่าวบีบีซีภาคโทรทัศน์ภายในประเทศ และวิทยุบีบีซีที่ส่งข่าวสารกระจายเสียงไปทั่วโลกที่อาศัยเสียงระฆังบิ๊กเบนนั้นปั่นป่วนกันไปถ้วนทั่ว
ร้อนถึงผู้ดูแลนาฬิกาบิ๊กเบน ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ที่มีประสบการณ์ในการดูแลนาฬิกาขนาดใหญ่เรือนนี้มากว่า 3 ทศวรรษ ต้องค้นหาสาเหตุของการผิดเพี้ยนของบิ๊กเบน เพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว แต่จนถึงวันอังคาร (25 ส.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ดูแลนาฬิกาก็ยังคงปวดหัวกับการหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบอกเวลาที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน เดินเร็วไปกว่าปกติไม่ได้
นายเอียน เวสท์เวิร์ธ ผู้ดูแลนาฬิกาบิ๊กเบน ยอมรับกับบีบีซี เรดิโอ ว่ามีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์แล้วค่อยๆ สะสมกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีการสังเกตความผิดปกติมาก่อน ทั้งยังกล่าวติดตลกด้วยว่า นาฬิกาอายุ 156 ปีเรือนนี้อาจจะเกิดอาการเจ้าอารมณ์ขึ้นมาก็ได้
“ลองคิดดูสิว่าคุณติดเครื่องรถยนต์ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี และ ติดต่อกันเป็นเวลา 156 ปีนั้นจะเป็นอย่างไร” นายเวสท์เวิร์ธ กล่าว

วิธีการปรับตั้งเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาบิ๊กเบนนั้นมีเคล็ดลับอยู่ที่การใช้น้ำหนักถ่วงตุ้มน้ำหนักเพนดูลัมขนาดใหญ่หลังตัวเรือน แต่น้ำหนักที่ว่านั้นไม่ได้เป็นก้อนเหล็กหรือโลหะขนาดใหญ่โต เพราะเครื่องช่วยรักษาเวลาบิ๊กเบนให้แม่นยำนั่นคือเหรียญเพนนีรุ่นเก่า ที่ผู้ดูแลจะนำไปวางบนตุ้มน้ำหนักเพนดูลัม หรือนำเหรียญออกมาเพื่อปรับความเร็ว-ช้าของตุ้มน้ำหนักเพนดูลัม ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกการเดินของนาฬิกา ซึ่งการเปลี่ยนน้ำหนักบนตุ้มน้ำหนักลูกนี้จะมีผลต่อการแกว่งให้ได้ระยะทางที่ยาวขึ้นเมื่อมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ในเวลานี้เหรียญดังกล่าวถูกนำออกมาเพื่อให้นาฬิกาเดินช้าลงจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่อภิรักษ์บิ๊กเบนจะปีนขึ้นไปดูแลกลไกของนาฬิกาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อทำการเทียบเวลาให้เที่ยงตรง โดยอาศัยเวลาจากสำนักงานมาตรฐานของอังกฤษที่จะมีนาฬิกาแบบบอกเวลาด้วยเสียงให้บริการทางโทรศัพท์ (เหมือนกับบริการของสำนักงานอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ที่ให้บริการเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1811)

ชื่อของบิ๊กเบน ที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อของนาฬิกา หรือหอนาฬิกา ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์บริเวณสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ในกรุงลอนดอน แต่เป็นชื่อของระฆัง ที่ใช้ตีบอกเวลาทุกชั่วโมง ที่มีน้ำหนักมากถึง 13.7 ตัน แขวนอยุ่บนหออลิซาเบธ ที่มีการติดตั้งนาฬิกากลไกทั้งสี่ด้านบนยอดหอสูง 96 เมตร เพื่อบอกเวลาให้แก่ชาวเมืองผู้ดี
มีทฤษฎีที่อธิบายว่า ระฆังใบนี้ได้ชื่อบิ๊กเบน มาจากวิศวกรผู้ควบคุมการหล่อระฆังที่ชื่อ เบนจามิน ฮอลล์ ที่มีการจารึกชื่อของเขาไว้บนระฆังใบนี้ด้วย จึงมีการเรียกขานชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ เบนจามิน ฮอลล์ ว่า “บิ๊กเบน” นั่นแล