
ทหารพรานหญิง 2 คนแรกของสหรัฐ
23 ส.ค. 2558
เปิดโลกวันอาทิตย์ : ทหารพรานหญิง 2 คนแรกของสหรัฐ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
หนึ่งในอาชีพที่มีการกีดกันทางเพศมากที่สุดในโลกก็คือกองทัพ ซึ่งจะมีข้ออ้างซ้ำซากเหมือนกันทุกหนแห่งทั่วโลกว่าผู้หญิงมีความแข็งแกร่งไม่เท่าชายไม่ว่าจะด้านกายภาพหรือจิตใจ ด้วยเหตุนี้ตำแหน่งงานในหน่วยงานสำคัญๆ โดยเฉพาะในหน่วยรบ จึงมี "นาย” ทหารผูกขาดมาแต่ไหนแต่ไร
แต่ขณะนี้ 2 ยอดหญิงผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักรบหญิงรุ่นใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นในกองทัพบกของแดนดินถิ่นอินทรีผยอง เมื่อพวกเธอสามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกขึ้นจากการเป็น ยอดหญิง 2 คนแรกที่ผ่านหลักสูตรการฝึกประจัญบานที่แสนหฤโหดที่สุดในโรงเรียนทหารพรานของกองทัพบกสหรัฐที่ท้าทายความสามารถและความอดทนทั้งกายและใจมากเป็นพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ นี้เอง
นับเป็นนายทหารหญิง 2 คนแรกที่ได้ติดเครื่องหมายของหน่วยทหารพรานบนเครื่องแบบพร้อมๆ กับเพื่อนนายทหารร่วมรุ่นอีก 94 คน จากเดิมที่มีนายทหารเข้าฝึกทั้งสิ้น 381 คน และทหารหญิงอีก 19 คน แต่ส่วนใหญ่จะถูกคัดออกหรือลาออกกลางคันเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานทั้งกายและใจ

ร้อยเอกคริสเทน กรีสต์ ฝึกรบที่ฟอร์ท เบนนิง รัฐจอร์เจีย
ร้อยเอกคริสเทน กรีสต์ สารวัตรทหารจากคอนเนตทิคัต วัย 26 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ และร้อยโทเชย์ ฮาเวอร์ วัย 25 ปี นักบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีอาปาเช ซึ่งถือเป็นนักบินชั้นยอดประเภทสายพันธุ์พิเศษจากเท็กซัส ที่จบจากเวสต์ปอยต์เช่นกัน เปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า พวกเธอต่างหวังว่าความสำเร็จนี้จะช่วยเปิดประตูกว้างให้แก่ผู้หญิงที่ชอบความเสี่ยงสมบุกสมบันในเขตแนวหน้าของสนามรบ และก็หวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ผู้หญิงพร้อมจะฮึดสู้จนสามารถรับมือกับความเครียดและความยากลำบากทั้งกายและใจได้เหมือนกับผู้ชาย

ร้อยโทเชย์ ฮาเวอร์
กรีสต์ยังเผยด้วยว่าฝันอยากมาฝึกที่โรงเรียนทหารพรานมาตั้งแต่สมัยเรียนที่เวสต์ปอยต์แล้ว และครูคนหนึ่งก็เสนอให้เธอไปร่วมฝึกของกองพลทหารราบ แต่เธอไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางกายภาพ
อย่างไรก็ดี เธอก็ไม่ท้อแท้ยังคงฝึกฝนตัวเองอย่างเข้มงวด เมื่อได้มาฝึกที่โรงเรียนทหารพราน ตอนแรกๆ ก็กลัวแต่ว่าจะแบกของหนักไม่ไหวและไม่สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้ แต่เพราะไม่อยากเป็นภาระเพื่อนร่วมทีม รวมทั้งนึกไกลไปถึงอนาคตของทหารหญิงรุ่นใหม่ เธอจึงฮึดสู้เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเธอเหล่านั้น ทั้งหมดนี้ยิ่งสร้างแรงกดดันให้แก่ตัวเอง แทบไม่น่าเชื่อว่าเธอกลับเป็นทหารหญิงคนเดียวที่เพื่อนทหารชายต่างยกนิ้วให้ว่าเป็นยอดหญิงจริงๆ ที่ผู้ชายก็ยังสู้ไม่ได้
หลักสูตรการฝึกประจัญบานของโรงเรียนทหารพราน ใช้เวลาอย่างน้อย 61 วันในการเพิ่มทักษะและมาตรฐานการฝึกให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดทั่วทุกมุมโลกและด้วยขีดความสามารถในการรบในทุกภูมิประเทศไม่ว่าจะอยู่มุมใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดทั้งกลางวันหรือกลางคืนและด้วยความรวดเร็วฉับไว

กรีสต์และเพื่อนๆ ต้องใช้เวลาฝึกลาดตระเวนและการสู้รบอย่างต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่สุดโหดที่สุดเป็นเวลา 4 เดือนกว่าจะจบหลักสูตร โดยต้องฝึกถึง 20 ชั่วโมงในแต่ละวันจนแทบไม่กินไม่ได้นอน ต้องแบกอุปกรณ์จำเป็นพร้อมอาวุธหนักถึง 90 ปอนด์ (ราว 41 กก.) แต่เธอก็ไม่ย่อท้อและไม่ยอมถอดใจกลางคัน “ฉันไม่เคยคิดมากแม้ตอนที่ได้แต้มต่ำๆ โดยเฉพาะตอนผ่านปลักตมในฟลอริดา และฉันก็ไม่เคยคิดว่าเป็นหลักสูตรสุดโหดเกินไป แต่ก็รู้สึกดีใจมากตอนที่จบหลักสูตรนี้”
ส่วนฮาเวอร์ยอมรับว่าเธอเคยท้อแท้จนคิดจะขอเลิกฝึกกลางคันเหมือนกัน แต่เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ทำให้เธอฮึดสู้ จนกระทั่งสำเร็จหลักสูตรพิเศษนี้ “ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนที่จะถูกโจมตีตลอดเส้นทางไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่พอมองไปรอบๆ แล้วก็เห็นเพื่อนๆ ถูกบดขยี้อย่างสุดแสนเลวร้ายพอๆ กัน ทำให้ฉันฮึดสู้ต่อไป และก็ค่อนข้างแน่ใจว่าพวกเขาก็คิดอย่างเดียวกัน”
“ระหว่างการฝึก คุณแทบจะแยกไม่ออกว่าคนไหนเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” พันเอกเดวิด ไฟว์โคท ผู้บัญชาการกองพลน้อย ศูนย์การฝึกหน่วยคอหนังและทหารพราน ให้ความเห็น และความเห็นนี้สามารถพิสูจน์ได้จากประสบการณ์ของผู้ฝึกหลายคนที่ยอมรับว่าเคยสงสัยว่าเพื่อนทหารหญิงว่าจะมีโอกาสผ่านหลักสูตรนี้หรือไม่
“ผมเคยไม่เชื่อในความสามารถของผู้หญิงจนกระทั่งตอนที่พวกเราต้องปีนขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง” ร้อยตรีไมเคิล จานาวสกี เท้าความไปถึงตอนฝึกระดับที่ 2 บริเวณที่ราบสูงห่างไกลในรัฐจอร์เจีย
“ผมต้องฝืนเดินหน้าด้วยความยากลำบากสุดฤทธิ์ เพราะต้องแบกเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 320 ซึ่งหนักมาก จนต้องหยุดกลางทางแล้วถามว่าใครจะช่วยแบกเครื่องยิงระเบิดนี้ให้ที แน่นอน เกือบทุกคนต่างโอดครวญว่าขนาดของตัวเองก็แทบจะแบกไม่ไหวแล้ว แต่ปรากฏว่าเชย์ตรงเข้ามาช่วยแบกเครื่องยิงระเบิดให้จนถึงจุดหมายปลายทาง นับตั้งแต่นั้นผมก็เลิกสงสัยในเรื่องนี้อีกต่อไป”

ส่วนนายทหารอีกคนหนึ่งยอมรับเช่นกันว่าตอนแรกก็ดูถูกฝีมือของทหารหญิง เกรงว่าทั้ง 2 คนจะเป็นภาระให้พวกเขาต้องแบกรับเพิ่ม แต่ตอนนี้ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว หลังจากมีประสบการณ์คล้ายกับจานาวสกี นั่นก็คือสุดจะฝืนทนแบกปืนกลที่บรรจุกระสุนพร้อมได้อีกต่อไปหลังจากทนแบกมา 3 วันเต็ม และไม่มีใครยอมช่วยเหลือ แต่กรีสต์เข้ามาช่วยทั้งๆ ที่สุดแสนจะเหนื่อยล้าเหมือนกับคนอื่นๆ
แม้จะผ่านหลักสูตรโรงเรียนทหารพรานแล้ว ทั้งกรีสต์และฮาเวอร์ก็ยังไม่ได้รับการบรรจุในกรมทหารพรานที่ 75 ซึ่งยังไม่ได้ยกเลิกกฎระเบียบเดิมที่ห้ามผู้หญิงมาประจำการในกรมนี้ ขณะนี้ได้แต่รอรัฐมนตรีกลาโหมที่จะลงนามในเดือนมกราคมปีหน้า ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไฟเขียวให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปทำงานในทุกกรมกอง ตามที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้เสนอต่อกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2556 ว่าทุกกรมกองในกองทัพบกแม้กระทั่งในหน่วยรบควรจะให้ผู้หญิงสามารถประจำการได้ภายในปี 2559
ซึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญของกองทัพส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของพวกเธอที่ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศในกองทัพมีเสียงดังมากขึ้น หลังจากกองทัพได้จับตามองความคืบหน้าและพัฒนาการของทหารหญิงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโอกาสและความหวังของทหารหญิงในเขตแนวหน้ายังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ และกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในสายงานอาชีพของนายทหารหญิงไม่ให้ไต่เต้าจนมียศสูงๆ เพราะการเลื่อนยศจำเป็นจะต้องพิจารณาประสบการณ์ในการรบมาประกอบด้วย

กระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุว่า ในกองทัพมีบุคลากรหญิงมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่มีไฟเขียวให้เปิดตำแหน่งในหน่วยรบให้แก่ผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสไต่เต้าในตำแหน่งต่างๆ ถึง 111,000 ตำแหน่งจาก 331,000 ตำแหน่งที่เคยผูกขาดไว้กับเฉพาะนายทหารชายเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งขณะนี้มีอยู่ราว 220,000 ตำแหน่ง หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ของทุกตำแหน่งในกองทัพบก หน่วยนาวิกโยธิน กองทัพอากาศและกองทัพเรือที่ยังห้ามผู้หญิงเข้าไปประจำการ
ผู้สนับสนุนการเท่าเทียมกันทางเพศในกองทัพหลายคนให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วผู้หญิงได้เข้าไปประจำการอยู่ในเขตแนวหน้าแล้วอย่างในอิรักและอัฟกานิสถาน อาทิ มีทหารหญิงอยู่เคียงข้างหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐระหว่างการบุกอัฟกานิสถานในช่วงกลางคืน โดยหน้าที่หลักก็คือสร้างความสัมพันธ์กับพลเรือนหญิงซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับผู้ชาย และพวกเธอสามารถปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ถึงขนาดที่นาวิกโยธินอเมริกันในอัฟกานิสถานได้ตั้ง “หน่วยประจัญบานหญิง” ขึ้นเพื่อลาดตระเวนในพื้นที่ที่พวกเธอสามารถต่อสู้ประจัญบานเพื่อจะสร้างความไว้วางใจขึ้นในหมู่พลเรือนที่เป็นผู้หญิง
ขณะเดียวกัน พลเรือเอกโจนาธาน กรีนเนิร์ธ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการทางทะเลของนาวิกโยธินสหรัฐ แถลงว่า นาวิกโยธินมีแผนจะเปิดทางให้ผู้หญิงเข้าไปประจำการในหน่วยซีลได้ถ้าหากสามารถผ่านหลักสูตรการฝึกที่ได้ชื่อว่าโหดที่สุดได้ หน่วยนี้จะปฏิบัติการจู่โจมในสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดและในพื้นที่อันตรายมากที่สุด รวมไปถึงการลุยสังหารผู้นำกลุ่มอัลไกดาในที่กบดานในปากีสถาน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากค่ายทหารมากนักเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554
----------------------
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : ทหารพรานหญิง 2 คนแรกของสหรัฐ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)