ข่าว

ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกวันอาทิตย์ : ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 
                       ราวกับเกิดไฟโลกันต์เผาผลาญเมืองเทียนจิน หรือเทียนสิน เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมังกร เมื่อเกิดระเบิด 2 ครั้งซ้อน วัดระดับความรุนแรงได้เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีหนัก 3 ตันและ 21 ตัน ตามลำดับ จนลุกโชนโชติช่วงไปทั่วทั้งเมือง ทั้งๆ ที่เป็นเวลาใกล้เที่ยงคืนแล้วก็ตาม นับเป็นเหตุระเบิดในโรงงานเคมีภัณฑ์ในนิคมอุตสาหกรรมหนักทางชายฝั่งตะวันออกครั้งล่าสุดแต่รุนแรงที่สุดจากเหตุระเบิด 7 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในปีนี้ หรืออาจจะเป็นสถิติรุนแรงที่สุดนับแต่ช่วงทศวรรษที่แล้วเป็นต้นมา เมื่อเทียบกับเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในโรงงานเคมีภัณฑ์ที่มณฑลจี๋หลิน เจียงซู ฝูเจี้ยน และซานตง ไม่นับรวมระเบิดเล็กระเบิดน้อยภายในโรงงานเคมีภัณฑ์อีกหลายแห่ง
 
 
ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน
 
 
                       เพียงวันเดียวที่เมืองเทียนจินลุกเป็นไฟ ผู้เชี่ยวชาญทางเคมีและนิวเคลียร์จากกองทัพได้เร่งรุดเดินทางเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุท่ามกลางกระแสกดดันจากสังคมที่อยากรู้ปฐมเหตุหรือเบื้องหน้าเบื้องหลังแท้จริงที่เกิดขึ้น แต่ละคนสวมชุดป้องกันสารพิษเพื่อความปลอดภัยระหว่างตรวจหาสาเหตุ รวมทั้งหาทางหยุดยั้งความเสี่ยงที่เคมีภัณฑ์อันตรายจะเกิดรั่วไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง จนกลายเป็นผีซ้ำด้ำพลอย เกิดมลภาวะทั้งในอากาศและในแม่น้ำลำคลอง อันจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ต้องพูดไกลไปถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะต้องเกิดขึ้นตามมา เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเทียนจินได้ตัดสินใจระงับการดำเนินการชั่วคราวเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน
 
                       ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมเทียนจินที่โรงงานหรือโกดังเก็บเคมีภัณฑ์และสารอันตรายรุ่ยหัว อินเตอร์เนชั่นแนล ต้นเหตุของเหตุระเบิดตั้งอยู่นั้น เป็นนิคมอุตสาหกรรมบริเวณแนวชายฝั่งระยะทาง 153 กิโลเมตร ย่านท่าเรือปินไห่ ในเทศบาลมหานครเทียนจิน ครอบคลุมพื้นที่ 2,270 ตารางกิโลเมตรหรือใหญ่กว่าเกาะฮ่องกง 2 เท่า ในนิคมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลัก 8 ประเภท อาทิ การบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ การผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ ปิโตรเคมีโรงกลั่นน้ำมันและพลังงานแนวใหม่ ที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือ เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์ของหลายประเทศ เช่น โตโยต้าของญี่ปุ่น โฟล์กสวาเกนของเยอรมนี และเรโนลต์จากฝรั่งเศส ตลอดจนโรงงานประกอบเครื่องบินอย่างแอร์บัส และยังเป็นที่ตั้งของ “เทียนเหอ-1เอ” ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการคำนวณเป็นอันดับ 2 ของโลก
 
 
ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน
 
 
                       ส่วนโกดังเก็บเคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายรุ่ยหัว อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งเมื่อปี 2554 อีก 2 ปีต่อมาก็ได้รับใบอนุญาตให้สามารถส่งเคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายได้ โกดังแห่งนี้ได้จัดส่งเคมีภันฑ์มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตรายทั้งหมดที่มีการขนส่งกันที่เมืองเทียนจินเมื่อปีที่แล้ว
 
                       แม้สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมเมืองเทียนจินจะแถลงถึงผลการวัดค่ามลภาวะในอากาศว่าไม่ได้สูงเกินค่ามาตรฐานมากนัก จนอาจเป็นอันตรายหากสูดหายใจเข้าไปเป็นเวลานาน แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซได้เตือนถึงอันตรายจากสารเคมีพิษที่อาจรั่วไหลจนอาจเกิดวิกฤติซ้ำซ้อนขึ้น แม้สภาพอากาศยังไม่เป็นพิษถึงระดับอันตรายก็ตาม
 
                       กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองเทียนจินชี้ว่า ภายในโกดังได้เก็บเคมีภัณฑ์อันตรายหลายประเภทที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพ อาทิ โซเดียมไซยาไนด์ สารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรงโทลูอีนไดไอโซไซยาเนต ที่มีผลต่อระบบหายใจแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนังและบิวทาโนน ที่จะเป็นอันตรายต่อดวงตาและจมูก เคมีภัณฑ์อันตรายเหล่านี้จะก่อปฏิกิริยารุนแรงเมื่อผสมกับน้ำ ปัญหาก็คือ กรมอุตุนิยมวิทยาของจีนเพิ่งจะทำนายว่าจะเกิดฝนตกหนักในบริเวณนี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่า หากสารเคมีพิษเหล่านี้จะเกิดปฏิกิริยารุนแรง โดยเฉพาะเมื่อถูกชะล้างสู่แหล่งน้ำในบริเวณนั้น อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อมลภาวะทางน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่นับรวมไปถึงผลกระทบต่อมลภาวะในอากาศจากการที่สารพิษถูกเผาในกองเพลิง
 
 
ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน
 
 
                       เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นที่มณฑลจี๋หลินถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2548 เมื่อโรงงานผลิตเบนซินแห่งหนึ่งเกิดระเบิด ทำให้ระดับของเบนซิน อันเป็นสารก่อมะเร็งที่ไหลลงสู่ในแม่น้ำซ่งหัว แม่น้ำสายหลักของจี๋หลินและเฮย์หลงเจียงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 100 เท่าของระดับปกติ ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2553 เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่และกระแสน้ำได้พัดถังบรรจุสารเคมีอันตรายจากโกดังโรงงานเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่งราว 3,000 ถัง สู่แม่น้ำซ่งหัว ทำให้ประชาชนก่า 360 ล้านคน ไม่มีน้ำดื่มน้ำกินน้ำใช้ แถมยังเกิดอาการคลื่นเหียนอาเจียน วิงเวียนศีรษะ จากกลิ่นฉุนของสารเคมีพิษด้วย
 
                       หลังเกิดเหตุระเบิด สื่อจีนหลายสื่อได้ร่วมกันตรวจสอบและขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังของโรงงานรุ่ยหัว อินเตอร์เนชั่นแนล แล้วพบความจริงที่ถูกปิดบังไว้หลายประการ ไม่ว่าจะกรณีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยได้ไปตรวจสอบโกดังเคมีภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปลายปี 2556 และเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ได้สรุปผลการตรวจสอบว่า คอนเทนเนอร์กว่า 4,300 ตู้ ที่บรรจุสารพิษนั้น มีอยู่อย่างน้อย 5 ตู้ ที่มีการเก็บสารเคมีพิษโดยไม่เหมาะสมหรือไม่ได้มาตรฐาน
 
                       นักข่าวของ ”วอย์ ออฟ ไชน่า” พูดคุยกับพนักงานของโรงงานแห่งนี้ ซึ่งรอดตายราวปาฏิหาริย์เนื่องจากออกไปซื้ออาหารให้เพื่อนร่วมงาน 6 คน แล้วก็ได้คำตอบที่น่าตกใจว่า คนงานทุกคนไม่เคยได้รับการฝึกอบรมให้พร้อมรับมือกับเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตรายแม้แต่น้อย นั่นหมายความว่ามีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว
 
 
ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน
 
 
                       ขณะที่ผลการเจาะข่าวของหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ พบว่าการก่อสร้างโรงงานแห่งนี้เห็นได้ชัดว่าละเมิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย เพราะตามกฎหมายของจีน โรงงานหรือโกดังเก็บเคมีภัณฑ์ที่เป็นอันตรายนั้นจะต้องตั้งห่างจากบ้านเรือนประชาชนและถนนสายหลักอย่างน้อย 1 กม. แต่ปรากฏว่าที่ตั้งของโรงงานนี้กลับรายล้อมด้วยอาคารที่พักอาศัย โรงพยาบาล ศูนย์ประชุม สนามฟุตบอล และถนนหลักหลายสาย
 
                       อีกหลักฐานหนึ่งที่สามารถยืนยันถึงความไม่ชอบมาพากลของการอนุญาตให้โรงงานรุ่ยหัว อินเตอร์เนชั่นแนล ประกอบกิจการได้ก็คือ ช่วงที่มีการอนุมัติใบอนุญาตประกอบการเมื่อปี 2556 นั้น มีขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับมีการประกาศขายบ้าน อพาร์ตเมนต์ และอาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ใกล้ๆ ส่อให้เป็นว่าอาคารที่พักอาศัยนี้สร้างก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะก่อสร้าง นั่นหมายความว่า โรงงานนี้ไม่ควรจะผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นแล้ว
 
                       ด้านหนังสือพิมพ์เนชั่นแนล บิสิเนส เดลี่ อ้างคำเปิดเผยของแหล่งข่าวคนหนึ่งว่า ตั้งแต่ต้นมาแล้วเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ไม่เคยมีแผนให้มีการตั้งโรงงานเคมีภัณฑ์แต่อย่างใด ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การออกแบบให้แต่ละโรงงานตั้งอยู่ชิดใกล้กันมากเกินไป
 
                       สถาบันคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในเทียนจินยังเปิดเผยผลการสำรวจผลกระทบจากรุ่ยหัว อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อปี 2556 พบว่าเคมีภันฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายและเป็นสารไวไฟ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดอันตรายได้ระหว่างการขนย้าย หรือแม้ระหว่างการเก็บที่โรงงาน แต่รายงานผลการสำรวจชิ้นนี้ได้สรุปในตอนท้ายว่า ความเสี่ยงนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
 
                       ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2555 สื่อจีนรายงานว่า ทะเลป๋อไห่ ซึ่งเคยเป็นยุทธภูมิสำคัญในการทำสงครามกับกองทัพ 7 พันธมิตรในปลายสมัยราชวงศ์ชิงและกับญี่ปุ่นกำลังเป็นพิษจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเคมีในเทียนจินและเมืองรอบๆ
 
                       สะท้อนถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและตอกย้ำความเชื่อที่ว่า มีเงินก็จ้างผีโม่แป้งได้ ก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะประกาศวาระสำคัญของประเทศมุ่งมั่นจะกวาดล้าการทุจริตให้สิ้นซาก
 
 
 
 
 
---------------------
 
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : ไฟโลกันตร์ที่เทียนจิน : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ