ข่าว

4แนวทางหลักแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

4แนวทางหลักแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

10 ส.ค. 2558

บทเรียนวิกฤติแล้งฤดูการผลิต57/58 -4แนวทางหลักแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน : ดลมนัส กาเจรายงาน

             จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนเพื่อการเกษตรในฤดูการผลิตปี 2557/2558 โดยเฉพาะเขตชลประทานสองฟากฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก เข้าสู่ขั้นวิกฤติที่สุดในรอบหลายปี ถึงขนาดต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรัง และชะลอการทำนาปีนั้น นับเป็นบทเรียนสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐบาล และก็เป็นบทเรียนสำคัญเช่นกันสำหรับเกษตรกรที่จะต้องทบทวนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาว่ามีการใช้อย่างฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็นหรือไม่

             สำหรับปัญหาหลักที่ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำในครั้งนี้ ที่วิกฤติที่สุดคือเขตชลประทานตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสักเท่านั้น เพราะในรอบปี 2557 เกษตรกรหันมาปลูกข้าวทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นแรงจูงใจ ทำให้เขื่อนต่างๆ ต้องปล่อยน้ำเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอีกด้วย

             แม้ช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา จะมีปริมาณฝนตกลงมาและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ในระดับหนึ่ง แต่หากดูปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนสำคัญที่ปล่อยน้ำลงสู่เจ้าพระยา และลุ่มป่าสักนั้น ก็ถือว่ายังอยู่ในขั้นวิกฤติ ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่ใช้ได้จริงเพียง 2% เท่านั้น ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ 8% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มี 12% ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำที่ใช้ได้ 4% ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือตั้งแต่เกษตรกรจนถึงหน่วยงานของรัฐเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำอย่างยั่งยื่น

             การจัดนิทรรศการโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 และจะสิ้นสุดในเดือนสิ้นปี 2558 โดยให้หน่วยงานต่างๆ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สลับเป็นเจ้าภาพเดือนละครั้ง ล่าสุด สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2558 นั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่รณรงค์เพื่อที่จะให้คนไทยทุกย่อมหญ้าได้หันมาตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัด

             “การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเทิดพระเกียรติ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดินกระทรวงเกษตรฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ได้ร่วมรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้” นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน

             อย่างไรก็ตาม นายปีติพงศ์ มองว่า แนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สำคัญนั้นมี 4 แนวทางหลักคือจัดหาแหล่งกักน้ำใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ตามความเหมาะสม ซึ่งที่กำลังสำรวจอยู่ พร้อมกับการซ่อมแซมปรับปรุงสระน้ำชุมชนซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศมาลอกและขุดใหม่ให้ลึกลงไปอีกจะสามารถกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ อีกแนวทางหนึ่งคือรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชทนแล้งให้มากขึ้น ปัจจุุบันมีพืชเศรษฐกิจรวมถึงข้าวที่มีสายพันธุ์ทนแล้ง และที่สำคัญจะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี คือดึงน้ำจากภายนอกคือผันน้ำจากแม่น้ำโขง และสาละวิน ด้วยการสำรวจพื้นที่เหมาะสม ขุดสระขนาดใหญ่ผันน้ำแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือผันน้ำจากสาละวินมา แต่ทั้งนี้ต้องมีการหารือละเอียดก่อน เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

             ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน แสดงมุมมองบนเวทีเสวนา “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันน้ำท่าจากธรรมชาติมีทั้งหมด 258,230 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ความต้องการน้ำรวมนิเวศ 151,750 ล้าน ลบ.ม. แต่จัดการได้เพียง 102,140 ล้าน ลบ.ม. ยังจัดการไม่ได้ 49,610 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในปี 2570 ความต้องการรวมนิเวศ 156,820 ล้าน ลบ.ม. จะจัดการไม่ได้ 45,200 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ต้องเก็บน้ำสำรองไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝน และจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำให้กิจกรรมต่างๆเป็นต้น

             ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า การประหยัดน้ำมีหลายแนวทางบางครั้งมองข้ามไป อย่างกรณีการเลือกพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ซึ่งที่ผ่านมา สวก.เองมีการดำเนินงานด้านการวิจัยพืชเพื่อได้มาของสายพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ซึ่งที่วิจัยกันแล้ว อาทิ ข้าวทนแล้ง ลำใยทนแล้ง และอีกหลายชนิดที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่งานวิจัยต้องใช้เวลาพอสมควรจนกว่าจะมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ ปริมาณผลผลิต และรสชาติด้วย

             ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่ง ในการที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร หรือวิกฤติแล้ง ทั้งนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ