
ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง 'ทูตมรณะ' นักเรียนช่างกล
09 ส.ค. 2558
เรื่องเล่าข่าวดัง : ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง 'ทูตมรณะ' นักเรียนช่างกล : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม
“ลูกเรารู้ตัวนะว่าเป็นนักเรียนอาชีวะค่อนข้างเสี่ยง แต่เขาไม่ใช่เด็กเกเรตั้งใจเรียนและทำงานระหว่างเรียนไปด้วย ก่อนเกิดเหตุเขาก็บอกว่าจะหาซื้อรถยนต์ขับแทนรถจักรยานยนต์เพราะเวลาไปเรียนจักรยานยนต์อันตราย ตกเป็นเป้าถูกทำร้ายได้ง่าย เราก็บอกให้เขาหารถ ซึ่งก่อนเกิดเหตุเขาก็บอกว่าหาได้แล้วเรากำลังอยู่ระหว่างทำเรื่องเพื่อเช่าซื้อรถให้แต่ไม่ทัน เขาถูกยิงเสียชีวิตก่อน เสียใจมากพูดไม่ออกอยากให้เรื่องนี้เกิดกับเราแทนอยากให้ลูกกลับคืนมา ถ้าเป็นเคราะห์กรรมของครอบครัวเราก็ให้มาเกิดกับแม่แทน หัวใจแตกสลายเหมือนตายทั้งเป็น พยายามทำใจให้ลูกไปสู่สุคติ”
ความทุกข์ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของมารดาเหยื่อกระสุนนักเรียนนักเลงที่ก่อเหตุประหัตประหารกันเพราะปัญหาความแปลกแยกเรื่องสถาบันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ราวภาพยนตร์เรื่องเก่าที่นำมาฉายซ้ำใหม่

“เคยเห็นเกิดขึ้นในข่าวไม่คิดว่าจะมาเกิดขึ้นกับตัวเอง พอได้รับโทรศัพท์เขาบอกว่าลูกเราโดนยิงมันเหมือนฟ้าผ่าลงกลางกบาลทำอะไรไม่ถูกได้แต่ภาวนาว่าขอให้เขาแค่บาดเจ็บอย่าถึงเสียชีวิต แต่พอไปถึงหมอบอกลูกเราไม่อยู่แล้วหมอบอกหัวใจเขาหยุดเต้นก่อนถึงมือหมอ ผมได้แต่ขอให้หมอช่วยปั๊มหัวใจให้เขาได้กลับมาบอกลากันสักคำก็ยังดี แต่มันไม่ได้แล้วเขาไปแล้ว พ่ออย่างผมมันเหมือนตายทั้งเป็นนะ ลูกผมทั้งคนถูกฆ่าตายผมไม่สามารถทำอะไรได้เลย"
คำบอกเล่าด้วยเสียงสะอื้นสองแก้มเปื้อนน้ำตาเกิดขึ้นบ่อยครั้งในครอบครัวของเด็กนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างนักเรียนอาชีวะ หรือที่เรียกกันติดปาก “นักเรียนช่างกล” เช่นเดียวกับสองสามีภรรยาคู่นี้ที่เพิ่งสูญเสียบุตรชายวัย 17 ปี นักเรียนชั้นปี 1 สถาบันอาชีวศึกษาชื่อดังย่านบางกะปิ ซึ่งถูกคู่อริต่างสถาบันยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านโดยที่เหยื่อความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนรายนี้กำลังเดินทางอยู่บนถนนรามคำแหง ท้องที่รับผิดชอบ สน.หัวหมาก
หนุ่มน้อยวัย 17 ปี รายนี้ถูกยิงเสียชีวิตไม่ทันข้ามเดือนก็เกิดเหตุร้ายซ้ำเมื่อนักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่งย่านมีนบุรี วัย 18 ปี ถูกคู่อริซึ่งอยู่ในวัยเรียนเช่นกันยิงเสียชีวิต เหตุเกิดริมถนนรามอินทรา พื้นที่รับผิดชอบของ สน.โคกคราม สร้างความเสียใจให้แก่ครอบครัวผู้ตายไม่แพ้กัน
และหากย้อนดูสถิติการเกิดเหตุย้อนหลัง พบว่าเพียง 8 เดือน ของปี 2558 มีเหตุนักเรียนนักเลงทำร้ายกันแล้วถึง 33 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 14 คน บาดเจ็บ 19 คน และมีเยาวชนถูกจับกุมดำเนินคดีจนต้องเสียอนาคตไปแล้วถึง 36 คน

“ขัดแย้งระหว่างสถาบัน” คือเหตุผลที่นักเรียนนักเลงผู้ก่อเหตุอ้างถึงทุกครั้งที่ถูกจับกุม
พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รอง ผบช.น. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้ข้อมูลว่า นักเรียนนักเลงที่มีเรื่องราวความขัดแย้งที่อ้างว่าเป็นเรื่องของสถาบันการศึกษามีอยู่ 13 สถาบันการศึกษา ซึ่งตั้งอยู่มากในย่านมีนบุรี รามอินทรา หัวหมาก บางกะปิ โดยพื้นที่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 และ 4 ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ในแต่ละครั้งจะขึ้นกับอาวุธที่นำมาใช้ จำนวนคู่กรณี และการเข้าถึงพื้นที่ของตำรวจว่าเร็วหรือช้า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันคือรุ่นพี่ที่ถูกไล่ออกชักชวนรุ่นน้อง
“ช่วงเวลาที่เกิดเหตุบ่อยคือ 15.00-19.00 น. พื้นที่เสี่ยงคือศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึงถนนที่เกิดเหตุบ่อยๆ คือ พหลโยธิน สุขุมวิท ลาดพร้าว รามคำแหง รามอินทรา และเสรีไทย ซึ่งส่วนมากจะเป็นเส้นทางผ่านสายรถเมล์ที่ผ่านสถาบันการศึกษาที่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง" พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ ให้ข้อมูล
เหตุผลหนึ่งที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในกลุ่มนักเรียนอาชีวะคือการเข้าถึงอาวุธได้ง่าย โดยเฉพาะปืน “ทูตมรณะ” ที่กลุ่มนักเรียนนิยมนำมาใช้ก่อเหตุ มีทั้งที่หาซื้อมา และผลิตขึ้นเองทำให้ยากต่อการควบคุม การเข้าถึงอาวุธที่ทำได้ง่ายทำให้มีความพร้อมก่อเหตุรุนแรง
หลายครั้งที่เกิดเหตุนักเรียนอาชีวะยกพวกตีกันแล้วส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง บางรายไม่ใช่เป้าหมาย แต่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เพราะความรุนแรงของอาวุธที่นำมาใช้ห้ำหั่นกันเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้เพียงมีด ไม้ที ไม้กระบอง หรืออีดาบ แต่ปัจจุบัน ระเบิดปิงปอง และปืนคืออาวุธหลักที่นำมาใช้ประหัตประหารกัน กลายเป็นคำถาม...อาวุธเหล่านี้มาจากไหน?

“เราก็นำเหล็กมา 1 ชิ้น เข้าโรงกลึง เพื่อตีปล่อง มาทำปลอก และตัวจับให้เขากลึงให้ คว้านลูกกระสุน แล้วเอาลูกเหล็กวัดไซส์ เข้าโรงกลึง เขาก็รู้เลย แล้วจะบอกวิธีมา และเรียนรู้จากรุ่นพี่มาอีกทีหนึ่ง ปืนทำได้ 2 แบบ แบบปืนปากกา และปืนยิง แบบแกะสลักง่ายกว่า ทีเดียวออก 2 ลูก ใช้ความรู้ที่อาจารย์สอนโรงกลึงก็สอน เราก็จำมา" นี่คือแหล่งที่มาของปืนจากปากคำของนักเรียนสถาบันอาชีวะแห่งหนึ่ง
เขาอ้างว่านักเรียนช่างมีความรู้ในการทำอาวุธ มีห้องเรียนที่เอื้อต่อการผลิตจึงเลือกผลิตปืนใช้เอง บางส่วนส่งสืบทอดรุ่นต่อรุ่น แต่มีไม่น้อยที่หาซื้อในตลาดมืด ส่วนสาเหตุที่ต้องพกปืนเพราะมีไว้เพื่อป้องกันตัว
“เราไม่ทำเขาเขาก็ทำเรา” นักเรียนอาชีวะวัย 18 ปี อ้าง
"ไม่ทำเองก็มีขาย ซื้อง่ายตามเว็บไซต์ พวกรุ่นพี่ใช้แล้วก็ขายต่อให้รุ่นน้องก็มาก มีเงิน 800-900 บาท ก็ซื้อได้แล้ว” นักเรียนช่างรายเดิม บอก
ข้อมูลการสืบสวนของตำรวจพบว่า ปัจจุบันมีปืนเถื่อนหมุนเวียนอยู่ในไทยนับแสนกระบอก ตัวเลขนี้ไม่รวมที่ผลิตใหม่ แต่มาตรการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปืนจึงหลุดรอดถึงมือเยาวชนนำไปใช้ก่อเหตุได้ไม่ยาก
“ปืนเถื่อน” จึงกลายเป็น “ทูตมรณะ” ที่เยาวชนไทยซื้อง่ายขายคล่อง สามารถนำไปปลิดชีพกันได้ง่ายราวบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีขื่อไม่มีแป
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านเด็กและเยาวชน ยอมรับว่าปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งที่เด็กถูกกระทำหรือเป็นผู้กระทำนับวันยิ่งทวีความรุนแรง และแก้ไขได้ยากขึ้น ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับศาลเด็กและเยาวชนผลักดันปัญหานี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานขึ้นมาขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งหากทำได้ในเร็ววันนี้จะถือเป็นความหวังในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนทั้งระบบ
--------------------
(เรื่องเล่าข่าวดัง : ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง 'ทูตมรณะ' นักเรียนช่างกล : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม)