
คดีดังนักการเมืองเจอคุก
คดีดังนักการเมืองเจอคุก : โอภาส บุญล้อมรายงาน
นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อศาลจังหวัดสมุทรปราการในชั้นศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษาคดีฟ้องร้อง นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ ในคดีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) นครสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 ซึ่งคดีนี้ต่อสู้กันมาสิบกว่าปี โดยศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก “เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ถือว่าคดีสิ้นสุดพร้อมส่งตัวเข้าเรือนจำไปทันที ซึ่งการนัดหมายฟังคำพิพากษาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ผลัดกันขอเลื่อนมาตลอด
สำหรับคดีทุจริตเลือกตั้ง ส.ท.นครสมุทรปราการ มีผู้สมัคร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มปากน้ำ 2000 ของนายชนม์สวัสดิ์ บุตรชายนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย และกลุ่มเมืองสมุทรของ นายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ โดยมีผู้บันทึกภาพชายลึกลับนำบัตรเลือกตั้งปลอมจำนวนมากมายัดใส่ในหีบบัตรลงคะแนน ต่อมานายประสันต์ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งและมีการขนานนามว่า “คดีโคตรโกงเลือกตั้งปากน้ำ”
จากนั้นอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการนายกเทศมนตรีและเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งโดยตำแหน่งในขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยเจตนาขัดขวางไม่เป็นไปตามกฎหมาย และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ รองนายก อบจ.สมุทรปราการ จำเลยที่ 2 ในฐานความผิดเดียวกัน และปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 6 ปี ซึ่งทั้งสองได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวพร้อมยื่นอุทธรณ์คดี ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี โดยจำเลยทั้งสองได้ยื่นฎีกาสู้คดี จนล่าสุดมีคำพิพากษายืนจำคุกตามศาลอุทธรณ์
สำหรับนายชนม์สวัสดิ์เพิ่งถูกสั่งพักงานในตำแหน่ง นายก อบจ.สมุทรปราการ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2558 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จากกรณีความไม่โปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ
ทั้งนี้ ไม่บ่อยครั้งนักที่นักการเมืองชื่อดัง ถูกพิพากษาจำคุก ซึ่งที่ผ่านมา มีนักการเมืองดังหลายรายที่ต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุก แต่บางส่วนก็หลบหนีไปต่างประเทศ ถือเป็นคดีน่าสนใจและเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักการเมืองที่ต้องพึงสังวรณ์ในการใช้อำนาจหน้าที่อย่างเที่ยงตรงโปร่งใส คดีเหล่านั้นอาทิเช่น
1.นายวัฒนา อัศวเหม ทุจริตที่ดินคลองด่าน เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทย, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ, อดีตหัวหน้าพรรคราษฎร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ในคดีที่นายวัฒนาเป็นจำเลย กรณีสืบเนื่องจากใช้อำนาจข่มขู่หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอยซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี และให้ริบพระผงสุพรรณเลี่ยมทองของกลาง พร้อมออกหมายจับเพื่อติดตามตัวจำเลย มารับโทษ ต่อมานายวัฒนาได้ยื่นขออุทธรณ์คดีดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา จนปัจจุบันนายวัฒนายังหลบหนีโทษจำคุก 10 ปี
2.นายรักเกียรติ สุขธนะ คดีรับสินบนบริษัทยา เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตรับสินบน ตามการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานทุจริตรับเงินสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยา ทำให้สาธารณสุขจังหวัดต้องจัดซื้อยาในราคาแพงกว่าปกติตั้งแต่ 50% ถึงกว่า 300% ในพื้นที่ 34 จังหวัดทั่วประเทศ ความเสียหายโดยประมาณ 181.7 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่าจำเลยสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางกฎหมายแต่กลับมาทำความผิดคอร์รัปชั่นเช่นนี้จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ให้ลงโทษจำคุก 15 ปี
นายรักเกียรติยังเป็นจำเลยในคดีร่ำรวยผิดปกติอีกด้วย โดยวันที่ 30 กันยายน 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของนายรักเกียรติจำนวน 233.88 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้มีโทษจำคุกตามคดีเช็คอีก 30 เดือน รวมทั้งสิ้นเป็น 17 ปี 6 เดือน
แต่นายรักเกียรติหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา จนกระทั่งมีผู้พบเห็นนายรักเกียรติมาออกกำลังกายในสวนสาธารณะย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงถูกตำรวจจับกุมตัวมารับโทษตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ภายหลังที่เข้ารับโทษที่เรือนจำคลองเปรม นายรักเกียรติได้รับการลดโทษเหลือ 9 ปี 2 เดือน และ 7 ปี 6 เดือน ตามลำดับ
นายรักเกียรติได้รับโทษจำคุกนานกว่า 5 ปี เหลือโทษจำคุกจริงอีก 2 ปี 6 เดือน หรือประมาณ 1 ใน 3 จึงเป็นคุณสมบัติตามเกณฑ์การขอพักการลงโทษ คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษฯ จึงอนุมัติให้พักการลงโทษและได้ส่งหนังสือแจ้งให้ปล่อยตัวนายรักเกียรติออกจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ต่อมานายรักเกียรติได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและลาสิกขา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556
3.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดิน ถนนรัชดาภิเษก เป็นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ” ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550
คดีนี้มีผลสืบเนื่องมาจากการที่คุณหญิงพจมานได้ทำการประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ด้วยราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส อย่างไรก็ตาม วันที่ 11 สิงหาคม 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาล โดยเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ต่อมา 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี ฐานกระทำผิด พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ส่วนคุณหญิงพจมาน มีคำสั่งยกฟ้อง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยคดีจะมีอายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ระหว่างหลบหนีโทษจำคุก
4.นายประชา มาลีนนท์ คดีทุจริตจัดซื้อเรือ-รถดับเพลิง กทม. โดยวันที่ 10 กันยายน 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำเลยที่ 4 บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์จากประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5 (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว), และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. จำเลยที่ 6
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งหรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 จากกรณีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท
ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 83 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 13 และมาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 83 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 12 การกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท แต่ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก นายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี และให้จำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 คือนายโภคิน จำเลยที่ 3 คือ นายวัฒนา และจำเลยที่ 6 นายอภิรักษ์ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง สำหรับนายประชาไม่มาฟังคำพิพากษาคดี ได้หลบหนีไปอยู่สหรัฐหรือยุโรป
5.นายสมชาย คุณปลื้ม คดีทุจริตซื้อที่ดินเขาไม้แก้วและคดีจ้างวานฆ่ากำนันยูร โดยนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ชาว จ.ชลบุรี ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก และเคยเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ที่มีผลงานมากมายจนทำให้ชลบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนนักการเมืองจากภาคตะวันออกหลายคน ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน และยึดทรัพย์ในคดีทุจริตซื้อที่ดินเขาไม้แก้ว และจำคุก 25 ปี ในคดีจ้างวานฆ่า นายประยูร สิทธิโชติ หรือกำนันยูร แล้วหลบหนีคดี
ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2556 เจ้าหน้าที่กองปราบฯ ได้จับกุมนายสมชาย ขณะโดยสารรถยนต์ส่วนตัว ทะเบียน ฎฎ 9579 กรุงเทพมหานคร ระหว่างทางบนถนนมอเตอร์เวย์ขาออก บริเวณด่านเก็บเงินลาดกระบัง จากการตรวจสอบพบว่านายสมชายเดินทางเข้ามารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยใช้ชื่อปลอมเป็น "นายกิม แซ่ตั้ง"
ภายหลังถูกจับกุมได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบปรามและส่งไปขอหมายจำคุกที่ศาลอาญา โดยนายสมชายรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่ต้องถูกจำคุกในคดีจ้างวานฆ่านายประยูร โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 25 ปี ศาลอาญาจึงออกหมายจำคุกโดยนับรวมกับโทษในคดีที่ดินเขาไม้แก้วซึ่งศาลจังหวัดชลบุรีพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 4 เดือน เป็นจำคุกทั้งสิ้น 30 ปี 4 เดือน ปัจจุบันยังถูกจำคุกอยู่ แต่เนื่องจากป่วยทางราชทัณฑ์ จึงให้มาควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดชลบุรี