
เชฟอาหารไทยไปเชฟโลก
03 ส.ค. 2558
เชฟอาหารไทยไปเชฟโลก : ไลฟ์สไตล์
สมัยก่อนคนทำอาหารไทย หรือ “พ่อครัวไทย” เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมน้อยมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจอาหารไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้ค่าตอบแทนของคนทำอาหารไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเชฟอาหารต่างประเทศ แต่เมื่อปัจจุบันเทรนด์เปลี่ยนไป ธุรกิจอาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่เฉพาะตลาดในต่างประเทศ ทว่าดูได้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยต่างก็พร้อมใจกันขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจอาหาร ดังนั้นแรงงาน “เชฟ” จึงเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง และเหตุนี้ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ เชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเล็งเห็นในอัตราการขยายตัวของธุรกิจดังกล่าว จึงลงทุนตั้ง บริษัท เอ็ม เอส ซี ไทยคูซีน จำกัด เปิดโรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี ด้วยเงินทุนกว่า 60 ล้านบาท
ในฐานะที่บริษัททำธุรกิจร้านอาหารมีสาขาอยู่ทั่วโลก เห็นว่าอาหารไทยมีศักยภาพพอที่จะสามารถเติบโตไปสู่ระดับสากลได้ไม่ยาก จึงจุดประกายให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ขึ้น ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานฝ่ายการวางแผนและกลยุทธ์ แห่งไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ กล่าวถึงความตั้งใจว่าเป็นการร่วมทุนระหว่างสองบริษัทในการตั้งใจผลักดันบุคลกรไทยให้เป็นเชฟและมีประสบการณ์ในการทำอาหารมากขึ้น รวมถึงความต้องการผลักดันอาหารไทยให้มีชื่อเสียงมากขึ้นไปสู่ระดับสากล ผ่านโรงเรียนการอาหาร และธรุกิจที่ปรึกษาพัฒนาอาหารไทยให้กับบริษัทหรือคนไทยที่ต้องการทำธุรกิจร้านอาหาร
ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงอาหารมานาน เชฟชุมพล แจ้งไพร กรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการใหญ่ โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี เปิดเผยว่า การจัดตั้งโรงเรียนในครั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย อีกทั้งพร้อมให้บริการในการเป็นที่ปรึกษาสำหรับธุรกิจอาหารไทยอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นแหล่งในการพัฒนาและผลิตบุคลากรคุณภาพในการประกอบอาหารหรือเชฟที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่จะพร้อมสนับสนุนธุรกิจอาหารที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย ผ่านหลักสูตรเชฟมืออาชีพอาหารไทยระยะเวลา 1 ปี โดยผู้ที่ผ่านการเรียนการสอนและการสอบทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติจะได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
“ไม่มีร้านอาหารไทยที่ไหนไม่อยากได้เชฟคนไทย แต่ปัญหาทุกวันนี้คือเราไม่มีบุคลากรด้านอาหารไทยมากพอ ส่วนที่มีก็ไปไม่ได้ ประการแรกไม่มีใบรับรอง สองทักษะทางด้านภาษาไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบ้านเราไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เน้นการเรียนการสอนด้านนี้โดยตรง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรเชฟมืออาชีพอาหารไทย สำหรับผู้ที่สนใจอายุ 18-45 ปี ระยะเวลา 1 ปี ปีละ 4 รุ่น รุ่นละ 28 คน ซึ่งจะแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 936 ชั่วโมง ภาคทดลองงาน 888 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเปิดคอร์สอบรมระยะสั้นทุกวัน เมื่อจบคอร์สแล้วก็จะได้รับใบรับรองเช่นกัน สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดอบรมให้แก่ผู้มีองค์ความรู้แต่ยังขาดใบรับรองเพื่อนำไปใช้สมัครงานอีกด้วย” เชฟหนุ่มใหญ่เผย
ฟังความเห็นของนักเรียนการอาหารไทยรุ่นล่าสุด “ออน” ศรีสุดา คงไพศาลกิจ เปิดใจว่า เพราะครอบครัวมีอาชีพขายข้าวแกง เธอจึงมีโอกาสได้คลุกคลีกกับเรื่องอาหารมาโดยตลอด พอเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงตั้งใจมาสมัครเรียนที่นี่โดยตรง ส่วนที่เลือกเรียนอาหารไทยแทนอาหารนานาชาติ เจ้าตัวบอกข้อดีว่าเพราะมีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งยังใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 1 ปี ซึ่งตอนนี้เรียนมาได้ 3 เดือนแล้วก็เริ่มนำความรู้ไปปรับใช้กับอาหารที่ร้านบ้างแล้ว ส่วนในอนาคตตั้งใจว่าหลังเรียนจบจะเก็บเกี่ยวหาประสบการณ์ก่อนสักระยะแล้วค่อยกลับไปทำร้านที่บ้านต่อไป