
กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ : มอนิเตอร์ร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวเนชั่น
“คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือ กรณีกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แต่งตั้ง ที่ต้องเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง” คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บอกต่อสื่อมวลชน
ก่อนหน้านี้ มีการจับตากันว่า “กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” จะมีการเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก อย่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถึงขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า “กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” จะมีการเขียนรับรองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ การนำเอา “กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” มาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีผลตามมาอย่างนัยสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ “คณะรัฐมนตรี ประยุทธ์” ได้มีมติให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีเลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน, เลขาธิการ ครม. และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธาน ทำหน้าที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว โดยนำนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ ประเด็นปฏิรูปของ คสช. 11 ด้าน และ สปช. 36 เรื่ิอง มาเป็นกรอบ
ดังนั้น การที่นำ “กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” มาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ชัดเจนว่าสิ่งที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า รัฐบาลใหม่สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ที่คิดว่าไม่จำเป็นได้นั้น จะเป็นไปได้ยากมาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำได้ยาก เนื่องจากมีการล็อกถึง 2 ชั้น ที่ต้องผ่านทั้งศาลรัฐธรรมนูญและต้องมีการทำประชามติด้วย
ที่น่าคิดก็คือ เมื่อประเทศเรามีการเลือกตั้งแล้ว หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่ไม่สอดคล้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะทำอย่างไร นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกขัดขวางหรือยกเลิก แล้วดำเนินการตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับตีกรอบการทำงานให้กับรัฐบาลในอนาคต
และหากรัฐบาลชุดใหม่ ใช้วิธีดำเนินการแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ชาติ อาจเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญเข้าไปอีกหรือไม่ และอาจสุ่มเสี่ยงโดนร้องและถูกถอดถอน หรือเมื่อแก้แผนยุทธศาสตร์ชาติแล้วทำไม่ได้ ไม่สำเร็จ จะกลายเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
อีกทั้งในร่างรัฐธรรมนูญมีอยู่มาตราหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ" ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติจะแบ่งเป็น 5 ด้านใหญ่ๆ คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และด้านกฎหมาย
ดังนั้น หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อไหร่ ก็เท่ากับเป็นการมัดมือชกรัฐบาลชุดต่อๆ ไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ให้ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาล คสช.กำหนดเอาไว้ ห้ามเดินออกนอกกรอบนี้
แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีความหมายอะไรในเมื่อถูกตีกรอบด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติไปแล้ว
ไม่ต่างจากผู้มีบารมีนอกระบอบการเมือง แต่คราวนี้ผู้มีบารมีทางการเมืองนี้ จะเข้ามามีที่ทางในรัฐธรรมนูญ