ข่าว

อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจีบำบัดอารมณ์ด้วยศิลปะ

อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจีบำบัดอารมณ์ด้วยศิลปะ

15 ก.ค. 2558

อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี บำบัดอารมณ์ด้วยศิลปะ : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยวันวิสา โรจน์แสงรัตน์

               การบำบัดรักษาโรคต่างๆ ด้วยการแพทย์ทางเลือกเข้ามามีบทบาทต่อสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในเรื่องของ “ศิลปะบำบัด” ก็เช่นกัน แต่ก่อนอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ระยะหลังมานี้ได้รับการตอบรับกว้างขวางขึ้น ในขณะที่นักศิลปะบำบัดในบ้านเรายังมีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณของผู้ต้องการบำบัดที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสตร์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรือที่เรียกว่า มนุษยปรัชญา ผู้ที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรงยังมีเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

               หนึ่งในจำนวนน้อยนิด มีหนุ่มอารมณ์ดีวัย 38 ปีที่ใครๆ เรียกกันติดปากว่า “ครูมอส” อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี รวมอยู่ด้วย เขาเป็นทั้งครูและกลุ่มที่ริเริ่มศิลปะบำบัดในประเทศไทยด้วย

               วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับครูมอส ที่โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ในซอยสุขุมวิท 40 สถานที่ฝึกงานแห่งแรกหลังจากที่เขาที่เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ ภาควิชาประถมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

               ครูมอสเล่าให้ฟังว่า เป็นคนชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยจึงมีโอกาสได้สร้างผลงานและจัดแสดงหลายครั้ง บวกกับเป็นคนชอบเดินทาง ช่วงที่เรียนอยู่ปี 4 จนถึงเรียนจบใหม่ๆ จึงได้เข้าร่วมโครงการศิลปะในนามมูลนิธิเด็ก เป็นอาสาสมัครอยู่ราว 4 ปี เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ชีวิตหลังจบการศึกษา

               จากที่เป็นอาสาสาสมัครนี้เอง ครูมอสจึงพยายามหาหนทางว่าจะสอนศิลปะให้เด็กกลุ่มต่างๆ อย่างไร เพราะการสอนไม่มีอะไรที่ชัดเจนตายตัว เป็นแนวคิดของแต่ละคนว่าจะสอนเด็กด้วยวิธีใดให้เข้าใจศิลปะอย่างถ่องแท้ จนวันหนึ่งเขาได้พบกับแนวการศึกษาหนึ่งที่เรียกว่าวอลดอร์ฟ ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกที่อนุบาลบ้านรักแห่งนี้

               “ที่นี่ใช้แนวการศึกษาวอลดอร์ฟทำการศึกษากับเด็กเล็ก ตอนเข้ามาฝึกงานความรู้สึกแรกเลยคือทำไมโรงเรียนนี้มีศิลปะมากมายขนาดนี้ พอฝึกงานก็เริ่มเห็นว่าการศึกษาแนวนี้น่าสนใจเพราะจะเน้นให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ที่นี่เราจะเห็นเด็กวิ่งเล่น เด็กยังเล่นทรายอยู่ ยังปีนป่ายอยู่ นี่คือการเรียนรู้ของเด็กที่ยังไม่ใช่ตรงสมอง ไม่ได้เรียนที่ศีรษะอย่างเดียว แต่เรียนผ่านร่างกาย” ครูมอสเท้าความเมื่อครั้งเริ่มต้นฝึกงาน

               หลังจากจบการฝึกงานในแนวที่สนใจ ครูมอสจึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นจุดกำเนิดของศิลปะแนววอลดอร์ฟเพื่อศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง และการไปครั้งนั้นเองที่ทำให้เขาค้นพบตัวเอง จากความรู้สึกชัดเจนในการทำงานด้านเด็ก และให้ความสำคัญกับคำว่าศิลปะ เป็นที่มาให้เขาตัดสินใจเรียนศิลปะอย่างลึกซึ้งไปจนถึงขั้นของการบำบัด ทั้งๆ ที่เวลานั้นคนที่สนใจเรื่องศิลปะบำบัดหรืออาร์ตเธอราพีแทบจะไม่มีเลย เขาจึงนับเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ศึกษาด้านนี้โดยตรง ด้วยความอนุเคราะห์ด้านทุนการศึกษาของประเทศเยอรมนี โดยไม่มีข้อผูกมัด มีเพียงข้อจำกัดให้กลับมาสร้างงานในประเทศไทยเท่านั้น

               “ที่บอกว่าค้นพบตัวเองซึ่งไม่ไช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการศึกษาทั่วไป ครูในแนวนี้จะต้องพัฒนาตัวเองผ่านศิลปะในเส้นทางต่างๆ เช่น ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว การะบายสี การปั้น การเล่านิทาน เป็นต้น มันจะไม่ใช่ศิลปะในระดับกายภาพแต่เป็นศิลปะในระดับจิตวิญญาณ อย่างตอนที่ผมไปเรียนเป็นนักศิลปะบำบัด ผมก็ต้องพัฒนาตัวเองให้รู้สึกถึงความสงบ การปล่อยวาง รู้สึกถึงรายละเอียด รู้สึกถึงความเชื่อมโยงของศิลปะที่เกิดขึ้น ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไม่ได้เป็นนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนแล้ว แต่ผมกำลังนำเอาโลกของศิลปะมาเชื่อมโยงกับการดูแลบำบัดทางการแพทย์ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ” ครูมอสเล่าถึงที่มาของการเข้าสู่วงการศิลปะบำบัด

               ช่วง 10 ปีที่ไปเยอรมนีคือการเดินทางไปกลับอยู่ตลอดเวลา เดินทางไปเรียนแล้วกลับมาสร้างงานในเมืองไทยแล้วกลับไปอีก เรียกว่าเป็นการเรียนผ่านการทำงานไปด้วย และเมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาอยู่เมืองไทยถาวร ครูมอสจึงเริ่มทำงานในโรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญทางด้านนี้ ซึ่งเวลานั้นคือ สมิติเวชศรีนคริทร์ เป็นแห่งแรก ในตำแหน่งพยาบาลดูแลด้านเด็ก โดยใช้ศิลปะบำบัดมาทำงานกับเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือเด็กพิเศษ

               “ผมเริ่มจากงานด้านการแพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ คุณหมอที่นั่นเคยเห็นศิลปะบำบัดในต่างประเทศ พอรู้ว่ามีคนที่ศึกษาด้านนี้มา เลยชวนไปทำด้วย นับเป็นความกรุณาของโรงพยาบาลในเมืองไทย เพราะตอนนั้นโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าศิลปะบำบัดคืออะไร ผมเริ่มทำงานจากกรณีศึกษาในศูนย์เด็กพิเศษ คือเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ วิตกกังวล ขาดความเชื่อมั่น ปรับตัวช้า ขาดความรักความอบอุ่นจากปัญหาครอบครัวที่หย่าร้างกัน รวมถึงเด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม ฯลฯ หลังจากนั้นก็ทำงานที่โรงพยาบาลมนารมย์ และรับเป็นวิทยากรบ้าง” นักบำบัดเล่าอย่างอารมณ์ดี

               ใช้ชีวิตในโรงพยาบาลอย่างมีความสุขมาตลอด จนเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน ชีวิตการงานของครูมอสก็เดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเพื่อนชวนไปดูที่ดินใน อ.เชียงดาวแล้วถูกใจมาก อาจจะเป็นความบังเอิญและทั้งเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตที่อยากจะมีสถานที่ให้ผู้เข้ารับการบำบัด และเข้าถึงธรรมชาติได้ด้วย ครูมอสจึงตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนั้น พร้อมกับเริ่มสร้างสตูดิโอ “7 Arts Inner Place” เป็นสถานที่ทำอาร์ตในเชิงด้านใน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่จริงจัง แต่จะมีการจัดกิจกรรมปีละ 1-2 ครั้ง

               “ด้วยความที่เราเป็นนักบำบัดเป็นอาชีพที่ต้องใช้พลังใจกับคนอื่นเยอะ แล้วการอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีมลภาวะเป็นพิษมากมาย นักบำบัดจะไปสูดมลภาวะที่ดีจากไหน นักบำบัดต้องแข็งแรงก่อนใช่ไหม ก็เหมือนกับตอนที่เราเริ่มต้นเรียนวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่นั่นจะมีแนวคิดที่จะทำให้ผู้เรียนแข็งแรงก่อน คำว่าแข็งแรงไม่ใช่สุขภาพแข็งแรงแต่แข็งแรงทางใจ ผมเชื่อเสมอว่านักบำบัดต้องแข็งแรงทางใจล้านเปอร์เซ็นต์ถึงจะไปบำบัดคนอื่นได้” นักบำบัดบอกอย่างนั้น

               จนเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมารู้สึกอิ่มตัวกับกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคืออยู่แล้วไม่ค่อยได้รับพลังชีวิต รวมถึงพลังใจด้วย เมื่อตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงดาวอย่างเต็มตัว นักบำบัดมืออาชีพจึงต้องเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนชีวิตของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งปรับแต่งสถานที่ให้เหมาะแก่ผู้เข้ารับการบำบัด พยายามทำทุกอย่างให้ลงตัว เพราะที่นี่กำลังพูดถึงชีวิตที่ลงตัวกับผู้รับการบำบัดด้วย

               ผู้ที่มาบำบัดภายใน “7 Arts Inner Place” จะได้รับแสงจากธรรมชาติ ได้สัมผัสกับพลังของภูเขา อาคารสตูดิโอเป็นปูนฉาบดิน ก่อเกิดเป็นพลังของสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นพลังของดิน น้ำ ลม ไฟ และความอบอุ่นของแสงอาทิตย์ ซึ่งนี่คือความสัมพันธ์ในการแพทย์และการบำบัดแบบองค์รวม ผู้มาบำบัดจะนำพาตัวเองหลุดจากกรุงเทพฯ ไปสู่อีกโหมดหนึ่ง

               “สตูดิโอที่ของเรามีหลายมิติ ไม่ได้ทำศิลปะบำบัดอย่างเดียว บางคนไม่ได้ถูกวินิจฉัย ไม่ได้เจ็บป่วย แต่อยากมาแสวงหาด้านใน แสวงหาประสบการณ์ ค้นหาความสงบ ซึ่งตรงนี้เราจะแบ่งภาคว่าอะไรคือความเหมาะสมของกลุ่มนี้ รวมถึงว่าเราทำงานในด้านบำบัดมานาน สิ่งที่เราเห็นคือพ่อแม่อยากมีความรู้ อยากได้คำแนะนำ เวลาที่เราทำบำบัดกับเด็กแล้ว พ่อแม่มักจะถามว่าต้องดูแลเด็กอย่างไร เราก็ต้องอบรมพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าให้ผู้ปกครองไปวาดรูป แต่อบรมผู้ปกครองให้ใช้ชีวิตในบ้านแล้วสมดุล นั่นหมายถึงสมดุลที่จะมีชีวิตให้มีความสุขระหว่างพ่อแม่ลูก” นักศิลปะบำบัดอธิบาย

               สำหรับกระบวนการการบำบัดใน 3 ครั้งแรก ต้องศึกษาและสังเกตผู้ได้รับการบำบัดว่าเขาใช้ศิลปะอย่างไร พร้อมทั้งดูจากกระบวนการประกอบกันด้วย เราไม่ได้พูดว่าวาดรูปอะไร แต่เรากำลังทำงานในเชิงว่าวาดอย่างไร เลือกใช้สีอย่างไร ศิลปะการระบายสีมันคือการส่งผ่านทางด้านจิตวิญญาณ มันจะเปิดเผยด้านในของคนคนนั้น ไม่ได้เอาความมืดมนหรือความโกรธออกมา แต่เป็นการทำงานทั้งสองมิติ เป็นการนำคุณภาพของสิ่งที่เป็นความสมดุลของคนๆ นั้นเติมเข้าไปในตัวผู้รับการบำบัด เพราะศิลปะบำบัดมีสถานะของการรับเข้าและส่งผ่านออกมาด้วยเราจึงเรียกว่าสมดุล

               หลังจาก 3 ครั้งแรกผ่านไป ก็ต้องวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากนักบำบัด จากรูปภาพ จากผู้ปกครอง จากการแพทย์ มาผสมผสานกันเพื่อเป็นข้อมูลว่าจะทำงานบำบัดเขาต่อไปอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีผู้มาเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าคอร์ส 3-4 วันในราคา 2,500 บาทต่อวัน ซึ่งช่วงเริ่มต้นนี้ถือว่าน่าพอใจมากเพราะยังไม่มีการทำการตลาด และในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ครูมอสเองก็ยอมรับว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

               เมื่อถูกตั้งคำถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เข้ารับการบำบัดมีอาการดีขึ้นหรือไม่" ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า อย่างแรกเลยคือดูจากกระบวนการของรูป เช่นเด็กสโลว์ขึ้นในรูป เด็กที่อารมณ์แรง การระบายแปรงของเขานุ่มนวลลง เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึก เพราะการทำงานของนักบำบัดเป็นการทำงานระหว่างจิตวิญญาณกับจิตวิญญาณ อย่างเด็กอยู่ในท้องตลอดเวลา 9 เดือนรู้ว่าแม่ร้องเพลงให้ฟังทุกวันออกมาอารมณ์ดี ทำไมถึงรู้ทั้งๆ ที่เด็กยังไม่รู้จักภาษาเพราะมันมีภาษาอื่นอยู่ในชีวิต เช่นเดียวกัน แสง สี ความนุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นในรูปทั้งหมดเป็นภาษาของชีวิต เป็นพลังที่ทำให้รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน รู้การเคลื่อนที่หรือทิศทางที่เกิดขึ้น รู้แม้กระทั่งตำแหน่งที่เขาวาดรูป รวมถึงรู้ว่าเขาเป็นเด็กช่างฝันหรือเป็นเด็กที่อยู่กับปัจจุบัน

               “ทั้งนี้นักบำบัดที่ผ่านการอบรมมาจะไม่ได้ดูแต่ที่รูปเท่านั้น แต่จะดูที่องค์รวมแม้กระทั่งเท้า ขณะวาดรูปเราดูไปถึงการเกร็งของกล้ามเนื้อ ดูการบิดสีใดสีหนึ่งแล้วสีเลือดฝาดทำงานกับใบหน้า นี่คือสิ่งที่เราอยากทำให้เห็นว่าพลังของศิลปะมีผลกับทุกคนในสังคม ผมถึงทำสิ่งที่เป็นการดูแลรักษาหรือเรียกว่าการบำบัดให้มีความนุ่มละมุนละไม เหมือนกับเวลาที่เราไปโรงพยาบาลเราก็อยากได้ความรู้สึกนี้” ครูมอสอธิบายปิดท้าย

 

คืนสู่สังคม

               นอกจากเข้าคอร์สการบำบัดแบบมีค่าใช้จ่ายแล้ว ครูมอสก็ไม่ลืมที่จะแบ่งปันให้แก่สังคม ด้วยการร่วมกับโรงเรียนในกลุ่ม อ.เชียงดาว และโรงเรียนเด็กพิเศษทั่วประเทศ 19 แห่งในกลุ่มปัญญานุกูล ทำบำบัดให้นักเรียนฟรี รวมถึงอบรมครูผ่านกระบวนการและแนวคิดของ “7 Arts Inner Place” เพื่อให้ครูได้เข้าถึงเด็กผ่านศิลปะ ซึ่งทำให้เห็นว่าตอนนี้มีคนท้องถิ่นให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น

               ปัจจุบันการใช้ศิลปะบำบัดเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่บุคลากรก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ครูมอสจึงก้าวไปสู่ขั้นการผลิตบุคลากร ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรพื้นฐานนักศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ที่ยังไม่เคยมีใครสอนในประเทศไทย เป็นหลักสูตร 3 ปี ขณะนี้เป็นรุ่นที่ 2 โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาสอน ในหนึ่งปีจะแบ่งการเรียนเป็นเรียน 4 บล็อก บล็อกละ 1-2 สัปดาห์ แต่จะมีการสั่งงานให้กลับไปทำ เพราะการเรียนด้านนี้เป็นความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนทุกวัน แต่ต้องกลับไปพัฒนาตัวเอง คนที่มาลงเรียนเราจะไม่ได้มองว่าเป็นเด็กปริญญาตรี แต่จะมองว่าอาชีพนักบำบัดเป็นอาชีพที่มีวุฒิภาวะ ซึ่งมีคนจากหลายสาขาที่ทำงานกับผู้คนมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นายแพทย์ ฯลฯ ตอนนี้นักศึกษารุ่นแรกจบไปแล้ว และสามารถกลับไปทำงานทั้งในภาครัฐและสถานบำบัดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป