ข่าว

‘เรือดำน้ำจีน’?แสนยานุภาพกองทัพเรือที่รอคอย

‘เรือดำน้ำจีน’?แสนยานุภาพกองทัพเรือที่รอคอย

04 ก.ค. 2558

‘เรือดำน้ำจีน’?แสนยานุภาพกองทัพเรือที่รอคอย

                เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมหลังจากกองทัพเรือเตรียมเสนอแผนจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" ใหม่จากจีน 3 ลำ งบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งนับเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของกองทัพเรือในการผลักดันให้ประเทศมีเรือดำน้ำประจำการด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

                หากนับเอาปีแรกที่มีการจัดทำเอกสารการจัดโครงสร้างกำลังทางเรือเมื่อ 2453 สามารถประมาณได้ว่า ในปี 2558 นี้ ถือเป็นความพยายามมากว่า 100 ปี ที่กองทัพเรือต้องการจัดหา "เรือดำน้ำ" มาประจำการ

                เมื่อย้อนดูเอกสารการจัดโครงสร้างกำลังทางเรือที่ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 6 นั้น ระบุไว้ว่า ให้มี เรือ ส. (สับมะรีน) จำนวน 6 ลำ แต่จนแล้วจนเล่าประเทศไทยไม่เคยมีเรือดำน้ำ กระทั่งในปี 2458 มีความพยายามในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จากนั้นในปี 2478  รัฐบาลไทยสามารถมีเรือดำนำเสริมเขี้ยวเล็บทางหาร โดยให้บริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นต่อให้ จึงเป็นที่มาของตำนานเรือดำน้ำ 4 ลำ คือ "มัจฉานุ วิรุณ สินสมุทร และ พลายชุมพล"

                ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ใช้เรือดำน้ำที่มีอยู่ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ปัญหาการซ่อมบำรุงเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถหาอะไหล่มาทดแทนส่วนที่สึกหรอได้ ประกอบกับในปี 2494 เกิด "กบฏแมนฮัตตัน" กองทัพเรือจึงถูกบอนไซด้วยการลดขนาดกำลังพล และถูกสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ ตามด้วยการปลดประจำการเรือดำน้ำในตำนานของไทยทั้ง 4 ลำ

                เรือดำน้ำนับเป็นอาวุธลับไว้ต่อกรกับศัตรู เพราะสามารถพรางตัวแอบไปยิงข้าศึกที่มีขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นจึงมีความพยายามจัดหาเรือดำน้ำมาอย่างต่อเนื่อง

                ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย กองทัพเรือเริ่มขยับขยายด้วยการจัดให้มีหน่วยเรือดำน้ำในปี 2528 และขยับขึ้นเป็นกองเรือดำน้ำเมื่อปี 2533

                ที่ฮือฮามากที่สุดคือปี 2537 กองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณ 17,000 ล้านบาทเพื่อจัดหาเรือดำน้ำชั้น Gotland ที่มีบริษัทค็อกคูมส์ ประเทศสวีเดน เป็นผู้ผลิต

                ว่ากันว่า Gotland เป็นเรือดำน้ำที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เพราะมีระบบ AIP (เหมือนกับ เรือดำน้ำชั้นหยวน ของจีน)  หากไทยจัดซื้อได้ก็ได้ชื่อว่า "ไทยมีเรือดำน้ำที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค" แต่น่าเสียดายที่ในช่วงนั้นกองทัพเรือถูกโจมตี และอภิปรายในสภาในเรื่องของค่าคอมมิชชั่น และเรื่องงบประมาณ เพราะเพิ่งจัดหาเรือหลายลำ หนึ่งในนั้นคือ เรือจักรีนฤเบศร สุดท้ายต้องพับโครงการนี้ไป ขณะที่ประเทศไทยพับโครงการนี้ไป ปรากฏว่า สิงคโปร์เซ็นสัญญาจัดหาเรือดำน้ำชั้นชาเลนเจอร์ 4 ลำ จากสวีเดน

                อย่างไรก็ตาม ในปี 2544 กองทัพมีความพยายามจะจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง แต่โครงการไม่ผ่าน ขณะที่มาเลเซียกลับเซ็นสัญญาจัดหาเรือดำน้ำได้สำเร็จในปีเดียวกันนี้

                ถัดมาอีกในปี 2552 กองทัพเรือมีความพยายามอีก แต่ก็จบลงแบบเดิมอีก แต่เวียดนามซึ่งมีปัญหากับจีนในเรื่องเขตแดน ได้เซ็นสัญญากับรัสเซียจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo จำนวน 6 ลำ (ปัจจุบันส่งมอบแล้ว 3 ลำ)

                แม้จะผิดหวังมาหลายครั้ง กองทัพเรือไทยยังไม่ลดละ ปี 2553 เสนอโครงการเรือดำน้ำอีกครั้งภายใต้งบประมาณสูงลิ่ว 48,000 ล้านบาท เป็นจังหวะที่กองทัพเรือเยอรมนี ปลดระวางเรือ U206 พอดี โดยเยอรมนีเตรียมจะขายให้ไทยประกอบด้วยเรือ 4 ลำ อะไหล่ 2 ลำพร้อมอาวุธ อุปกรณ์เครื่องฝึก ในราคาโลว์คอสต์เพียงแค่ 75,000 ล้านบาท

                แต่เป็นอีกครั้งที่กองทัพเรือต้องผิดหวัง เมื่อถูกโจมตีว่า เป็นของมือสอง ทำให้กระทรวงกลาโหมตีกลับให้กองทัพเรือทบทวนจนหมดเวลา ส่งผลให้กองทัพเรือโคลอมเบียได้รับอานิสงส์ส้มหล่นได้เรือดำน้ำเยอรมนีไปครอบครอง

                มาถึงครานี้ในรัฐบาลที่มีผู้นำเป็นหัวหน้าเหล่าทัพ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดของกองทัพเรือในการจัดหาเรือดำน้ำได้สำเร็จ

                ถ้อยแถลงของ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ยืนยันความโปร่งใส ไม่มีนอกมีใน คณะกรรมการทั้ง 17 คน มีอิสระในการตัดสินใจ ภายหลังจากไปดูงานเรือดำน้ำมาแล้ว 6 ประเทศ สุดท้ายตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีน เพราะเสนอออปชั่นทั้งการฝึกอบรม อะไหล่ รวมเบ็ดเสร็จแล้ว 3 ลำ 36,000 ล้านบาท เทียบกับซื้อจากที่อื่นได้แค่ 2 ลำเท่านั้น

                เรือดำน้ำของจีนรุ่นนี้ ใช้ระบบ Air-Independent Propulsion system AIP (เหมือนของบริษัทค็อกคูมส์) โดยเครื่องยนต์ไม่ต้องพึ่งอากาศจากผิวน้ำอันจะทำให้เรืออยู่ใต้น้ำนานได้นานถึง 21 วัน ทำให้ปลอดภัยจากการตรวจจับของดาวเทียมทหาร

                จุดที่น่าสนใจตรงที่บอกว่า ทุกฝ่ายต่างยืนยันว่า งานนี้ไม่มีการล็อบบี้จากฝ่ายการเมือง แต่เมื่อกลับไปดูข้อมูลกลับพบว่า ตัวแทนของบริษัท เอสซีโอเอส ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อเรือของจีน เดินทางมาบรรยายเกี่ยวกับเรือดำน้ำให้กองทัพเรือตั้งแต่เดือนมกราคมมาแล้ว

                ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม คนที่ ผู้บัญชาการทหารเรือบอกว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจนำเรื่องเข้า ครม.หรือไม่นั้น ได้เดินทางไปเยือนจีน ซึ่งหลังจากเดินทางกลับมานักข่าวถามเรื่องเรือดำน้ำ พล.อ.ประวิตร บอกว่า ต้องไปถามกองทัพเรือ แม้กระทั่งผู้บัญชาการทหารเรือบอกว่า กองทัพเรือเคาะแล้วว่าจะซื้อเรือจีน พล.อ.ประวิตร ยังบอกว่า ให้ไปถามกองทัพเรือ

                แต่ที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ เมื่อวันที่ 28 เมษายน หรือ 20 วันถัดมา ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาทให้กองทัพเรือไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ซึ่งในความเป็นจริง กองเรือดำน้ำนั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว รอแค่ว่า จะมีเรือดำน้ำได้เมื่อไหร่เท่านั้น

                มติ ครม.ในวันเดียวกัน ยังให้ยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ที่ให้ชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำไว้ก่อน

                หมายความว่าอย่างไร?

                หรือจะหมายความว่าให้เดินเครื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำได้ต่อไปใช่หรือไม่ ?

                เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นถึงแม้ พล.อ.ประวิตร จะเคยบอกว่า มติครม.เห็นชอบในหลักการที่กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีในวันนี้พรุ่งนี้

                การจัดซื้อดังกล่าวถึงแม้ว่าจะมีเสียงทักท้วงในเรื่อง "เทคโนโลยี" จากจีน เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยซื้อเรือจากจีนมาแล้ว รวมทั้งข้อสงสัยในเรื่องของความพร้อมของไทยว่ามีกำลังซื้อพอหรือไม่ มาถึงคำถามสำคัญอีกคำถามคือ ภัยคุกคามทางทะเลของไทยนั้น รุนแรงจนถึงกับต้องมีเรือดำน้ำในเร็วๆ นี้หรือไม่ เพราะหากจะเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ก่อนหน้านี้ถูกยกมาเป็นเหตุผลว่า "เพื่อนบ้านมี เราก็ต้องมี" 

                เมื่อวิเคราะห์กันด้วยเหตุผลจะพบว่า แม้มาเลเซียจะมีเรือดำน้ำ แต่มาเลเซียถือเป็นหุ้นส่วนกับไทยที่แบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ขณะเดียวกันในส่วนของกัมพูชาก็พบว่าในอนาคตนี้ไทยกับกัมพูชาจะเป็นหุ้นส่วนในการแบ่งก๊าซในอ่าวไทยด้วยเช่นกัน ทั้งหมดจึงไม่น่าจะถูกจัดให้เป็น "ภัยคุกคาม" ส่วนประเทศพม่าก็เกาะเกี่ยวกับไทยจากโครงการทวาย แม้วันนี้พม่าจะยังไม่มีเรือดำน้ำ แต่ก็มีแผนในการจัดหาเรือดำน้ำ
               
                ดังนั้น การมีเรือดำน้ำของไทยคงไม่ใช่จากเหตุผลที่ว่า "เพื่อนบ้านมีกันแล้ว เป็นแน่แท้"