
เสิร์ฟหนังออนไลน์ก้าวมั่นในโลกดิจิทัล
เสิร์ฟหนังออนไลน์ ก้าวมั่นในโลกดิจิทัล : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่องกอบแก้ว แผนสท้าน ภาพฐานิส สุดโต
"เป้าหมายผมมีหลายเฟส แต่ที่ใกล้ที่สุดคือ ผมอยากเป็นคนสร้างตลาดให้มันเกิดจริง เพราะว่า นอกเหนือจากตัวเองด้วย พันธมิตรผมก็มาจากโลกของการขายหนังแผ่น เขาก็อยากเห็นโลกเปลี่ยนจากหนังแผ่นมาเป็นหนังดิจิทัล ส่วนเฟสสอง เราอยากเห็นบริการของคนไทยที่เกิดโดยคนไทยทำโดยคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ออกไปในภูมิภาค หรือในเวิลด์ไวด์ คนของบริษัทค่อนข้างเป็นเวิลด์ไวด์ สแตนดาร์ดมากๆ มาตรฐานที่เราสร้างวันนี้ แม้กระทั่งเจ้าของคอนเทนท์ในฮอลลีวู้ดยังค่อนข้างทึ่งกับเทคโนโลยี"
ด้วยความมั่นใจสไตล์คนรุ่นใหม่ว่า หากจะลงมือทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ต้องมีความถนัดและความชื่นชอบเป็นต้นทุน คือที่มาของการปรับเปลี่ยนตัวเองที่ชื่นชอบภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจ คือพลังขับเคลื่อนให้ “ปืน” กษิดิศ กลศาสตร์เสนี เปลี่ยนสถานะจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ให้บริการแทน
"ส่วนตัวผมชอบดูหนัง ชอบดูซีรีส์ ชอบดูฟุตบอล ชอบดูอะไรต่างๆ แต่ที่ผ่านมารู้สึกว่าผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในตลาดบ้านเราไม่ตอบสนองความต้องการของผมได้ บวกกับตัวเองทำงานอยู่ในวงการไอทีมานาน ทำให้เห็นช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจ" นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ปืน” ผู้ให้กำเนิดบริษัทไพรม์ไทม์ โซลูชั่น จำกัด และ บริษัทไพรม์ไทม์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจด้านทีวีออนไลน์ ที่มีภาพยนตร์ ซีรีส์ และกีฬาระดับพรีเมียมลิขสิทธิ์จากฮอลลีวู้ด ส่งตรงแบบวิดีโอสตรีมมิ่งขนาดใหญ่ หวังมัดใจคอหนังคอกีฬาแบบอิสระในยุคดิจิทัล
"อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผมคือมนุษย์ดิจิทัล ทำงานด้านไอทีมาตลอดชีวิต ผมชอบอะไรที่เร็วๆ" กษิดิศแสดงตัวตนของเขาอย่างนั้น
หนุ่มวัย 36 ปี ทายาทของ พล.ร.อ.สุชาติ-นัทธีวรรณ กลศาสตร์เสนี ผู้มีดีกรีปริญญาตรี เกียรตินิยม 2 เหรียญเงิน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผสานกับงานในธุรกิจด้านไอทีและโทรคมนาคมมากว่า 15 ปี “ปืน” กษิดิศ เก็บเกี่ยวประสบการณ์นี้มาประยุกต์ใช้อย่างลงตัวกับวิถีธุรกิจของเขา
หนุ่มปืนบอกว่า งานด้านไอทีทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศอย่าง อเมริกา หรือยุโรป ธุรกิจด้านนี้มีความลึกซึ้ง เพราะมีเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้นเวลาจะตัดสินใจลงทุน จึงต้องยึด 2 หลัก คือ จะต้องไม่ก๊อบปี้ และต้องเป็นธุรกิจที่ตัวเองชอบจริงๆ
"วันนี้ในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ ทุกวันนี้จะมีแค่ระหว่างหนังโรงกับหนังละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งตรงนี้ผมตัดโลกของหนังแผ่นออกไปก่อน เพราะยังไงก็ต้องสเต็ปดาวน์ไปเรื่อยๆ อยู่แล้วตามสภาวะของธุรกิจ หากดูจากหลายๆ ประเทศจะเห็นว่า หลังจากหนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ หนึ่งหรือสองสัปดาห์ขึ้นอยู่กับความนิยม แต่หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเดียว ไม่มีหนังแผ่นแล้ว"
เมื่ออุปกรณ์คือทีวี อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนพร้อม ก็สามารถเข้าถึงความบันเทิงในรูปแบบที่เขานำเสนอได้แล้ว และที่สำคัญ ปืนบอกว่า ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระด้วยการซื้อทั้งแพ็กเกจที่มีราคาสูง และนี่คือจุดต่างระหว่างทีวีออนไลน์กับเปย์ทีวี
“โลกของเปย์ทีวี เป็นการนำเอาคอนเทนท์หลายๆ ประเภทมารวมกัน ทำราคาให้ดีที่สุด แล้วคาดหวังว่าผู้บริโภคจะไปซื้อแพ็กเกจราคาที่สูง สมมุติว่าคุณอยากดูรายการช่องหนึ่งมาก แต่บังเอิญไปอยู่ในแพ็กเกจราคาสูงจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องยอมจ่าย แต่โดยสถิติคนจะดูทีวีแค่ 2-3 ช่องเท่านั้น แต่คุณกลับได้มาถึง 200 ช่อง กลายเป็นว่าผู้บริโภคต้องยอมจ่ายส่วนเกินไป และนี่คือโอกาสของทีวีออนดีมานด์ ที่สามารถทำแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการผู้บริโภคที่อยากดูหนังและพร้อมจ่าย อีกอย่างคนยุคใหม่ไม่ชอบการรอ เพราะทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เลิกอยู่บ้านเพื่อรอดูรายการโปรดตอน 2 ทุ่มครึ่ง หรือ 4 ทุ่มแล้ว แต่เขาจะดูก็ตอนที่นึกอยากดู อาจเป็นตอนตี 3 ตี 4 หรือ 6 โมงเช้า ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ซึ่งในคอนเซ็ปต์ของออนดีมานด์สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์จุดนี้ได้"
อย่างไรก็ตาม แม้ทีวีออนดีมานด์จะมีข้อได้เปรียบดังกล่าว แต่กษิดิศเน้นว่า การให้บริการก็ถือเป็นหัวใจที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
"บริการหลังการขายต้องดี คอลเซ็นเตอร์ต้องพูดได้ 2 ภาษา การบริการทุกๆ ด้านต้องดีมาก เพราะตัวผมเองก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งที่จุกจิกเรื่องความคมชัดของภาพและระบบเสียงมาก มันจึงเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ถ้าผมรู้สึกว่าไม่ผ่านก็จะไม่ยอมให้ผ่าน”
อีกหนึ่งความพิถีพิถันนอกเหนือจากเทคโนโลยี ผู้บริหารหนุ่มผู้ลุ่มหลงในโลกดิจิทัลย้ำว่า เขายังให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ดี ไม่แพ้บริการ
“ในที่นี้คอนเทนท์ที่ดีต้องเป็นเนื้อหาที่คนอยากดู อย่างกีฬา และภาพยนตร์ ผมอยู่ในเรียลของเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จึงมีความเชื่อว่า มันมีปัจจัยไม่กี่อย่างที่คนยอมจ่ายให้การดูหนัง และกีฬา สำหรับฟังเพลงอาจจะยังไม่ค่อยมีคนจ่าย ดังนั้นหนึ่งอย่างที่เราหยิบเอามาหล่อหลอมให้เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ออนไลน์คืออะไรก็ได้ ที่เป็นเนื้อหาที่ผู้บริโภคจะยอมจ่ายตังค์ นั่นคือวิชั่นของบริษัท"
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้น แม้ “ปืน” กษิดิศ จะบอกว่า เปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่รักการดูหนังฟังเพลงและเกมการแข่งขันกีฬา หากแต่กำลังซื้อก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า
"เราอาจจะมองกลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 25-50 ปี ที่จะมาเป็นกลุ่มลูกค้าของเราจริงๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี จะไม่ใช่ลูกค้าของเรา” กษิดิศ ให้มุมมอง และบอกว่า จะพยายามเจาะกลุ่มผู้บริโภคอายุต่ำกว่า 25 ปี ที่ยังเลือกคอนเทนท์นอกลิขสิทธิ์ที่เคยตอบโจทย์พวกเขาในเรื่องปัญหากำลังซื้อ ให้เข้ามาอยู่ในระบบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งที่สุดเชื่อว่า ทีวีออนดีมานด์จะแจ้งเกิดในประเทศไทย
ปืน แบ่งธุรกิจของเขาออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเริ่มจากการสร้างตลาดด้วยพันธมิตรจากโลกหนังแผ่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นหนังดิจิทัล เฟสที่สอง จะพยายามทำให้ธุรกิจด้านนี้เป็นของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกขั้นตอนและส่งขายด้วยมาตรฐานโลกไปทั่วภูมิภาคหรือเวิลด์ไวด์อย่างอินเดีย ยุโรป
ส่วนหลักการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว “ปืน” กษิดิศ บอกว่า ยึดแนวทางของบิดา พล.ร.อ.สุชาติ กลศาสตร์เสนี เป็นต้นแบบ ที่สั่งสอนเสมอว่า คนเก่งสู้คนที่มีโอกาสไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็จะต้องใช้ให้เต็มความสามารถ
"การก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ นั้น มันมีหลายปัจจัย เราทำทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาในมุมของเราให้ดีที่สุด ถามว่า เราแก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ใช่ อย่างเรื่องอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจ ถึงผมคอนโทรลไม่ได้ แต่เราคงไม่รอให้มันดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้ เพราะธุรกิจต้องขับเคลื่อน เราจึงเลือกหาช่องทางที่จะทำให้ตัวเองเบาที่สุด แต่คุณภาพสูงสุด เพื่อวันหนึ่งหากใครต้องการแข่งกับผม เขาก็ต้องเจอโจทย์เดียวกับผม แต่เขาจะมีปัญหาเยอะ เพราะไม่ได้คุณภาพที่ดี ยกตัวอย่าง สมัยก่อนดูแค่วีซีดีก็ว่าชัดแล้ว พอมาดูดีวีดีแล้วกลับไปดูวีซีดีรู้สึกว่ามันไม่ชัดเลย พอมาดู บลู-เรย์ คุณจะกลับไปดูดีวีดีไม่ได้ ดูช่อง เอชดี วันนี้พอกลับไปดูช่องอนาล็อกรู้สึกไม่ชัดเลย นั่นเพราะคนมีพฤติกรรมจดจำงานศิลป์ที่เขาเสพ แล้วถ้าลูกค้าพอใจกับบริการที่เรามีมาตรฐานสูงแล้ว การที่คนอื่นจะเข้ามาแข่งก็ยากมาก นั่นเป็นจุดที่ผมมองว่า การสร้างความแตกต่างคือบริการ ข้อแรกคุณภาพเสียง สำหรับคนดูหนังอรรถรสเรื่องเสียงเรื่องภาพต้องมาก่อน"
กษิดิศเชื่อมั่นว่า ระบบดิจิทัลจะไม่ล้มหายตายจากไปเร็ววัน นั่นหมายถึงว่า มันจะสร้างเม็ดเงินให้แก่ธุรกิจประเภทนี้ได้อีกนาน อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปในอนาคต แต่ยังเชื่อว่า บุคลากรของบริษัท ไพรม์ไทม์ โซลูชั่น รับมือไหวแน่นอน
"วันหนึ่ง เมื่อไปถึงจุดนั้น ผมเชื่อว่าเราก็คงเปลี่ยนไปแล้ว ผมมองธุรกิจของบริษัทเป็นสองแกนเสมอ การให้บริการหรือคอนเทนท์ แกนพัฒนาอาร์แอนด์ดี อย่างไรเราก็ต้องอยู่ข้างหน้าเสมอ เพราะเราไม่มีตังค์เยอะเท่าบริษัทใหญ่ๆ หรือใครที่สามารถซื้อเทคโนโลยีได้ เราต้องเป็นคนสร้างเทคโนโลยีแล้วนำไปขาย จริงๆ ได้คุยกันบ้างแล้ว แต่ของอย่างนี้ต้องทำให้เห็น คือต้องโชว์ของ เพื่อให้ทุกคนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ยอมรับและมองเห็นภาพว่าเรากำลังทำอะไร อันนี้เป็นจุดที่ทำให้เราแข็งแรง ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ต่อให้เราแข็งแรงมากแค่ไหนก็สู้การมีพันธมิตรไมได้ นั่นเป็นภาพโมเดลของธุรกิจของผม” ไอทีหนุ่มแสดงความมั่นใจทิ้งทาย
โดดลงมาทำธุรกิจพึ่งพิงดิจิทัล ด้วยใจรักฝักใฝ่อยู่กับเทคโนโลยี ผสมผสานกลมกลืนกับเนื้อหาสาระอันเป็นงานศิลปะและการกีฬา สุนทรียรสของคนทั่วโลก ถึงอย่างไร “ปืน” กษิดิศ กลศาสตร์เสนี ก็ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปง ไม่ว่าจะมาช้าหรือเร็วก็ตาม