
'ชาบูกู'สไตล์ไทยสูตรสำเร็จเถ้าแก่รุ่นใหม่'เนติพัฒน์ อำภา'
'ชาบูกู'สไตล์ไทย รสชาติในแบบกู สูตรสำเร็จเถ้าแก่รุ่นใหม่'เนติพัฒน์ อำภา' : คมคิดธุรกิจนิวเจน สุรัตน์ อัตตะ เรื่อง อนันต์ จันทรสูตร์ ภาพ
“ลูกไม้ไกลต้น” น่าจะเป็นคำจำกัดความได้ดีสำหรับ "เนติพัฒน์ อำภา” คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เลยวัยเบญจเพสมาเพียงแค่ขวบปี แต่กลับมีธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น สไตล์ไทย "ชาบูกู” มากกว่า 10 สาขามีมูลค่าหลายสิบล้านที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการในปัจจุบัน
สมญา "เถ้าแก่น้อย” ก็ไม่น่าจะเกินเลยนักสำหรับเขาด้วยวัยขนาดนี้ เมื่อเทียบกับมูลค่าของธุรกิจที่ต้องดูแลรับผิดขอบที่สร้างขึ้นมากับมือของตัวเองล้วนๆ เพราะแต่ละก้าวย่างกว่าจะถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาในทุกรูปแบบด้วยตัวเอง โดยไม่หวังการช่วยเหลือพึ่งพาจากใคร แม้กระทั่งครอบครัว
“ผมเกิดในครอบครัวทหาร พ่อแม่เป็นทหาร เชื่อว่าครอบครัวข้าราชการส่วนใหญ่อยากให้ลูกมีอาชีพรับราชการ ยิ่งถ้าครอบครัวทหารด้วยแล้วร้อยทั้งร้อยอยากให้ลูกเข้ารับราชการทหาร โดยเฉพาะลูกชาย ผมก็เช่นกันสอบเตรียมทหารอยู่ 3 ครั้งตอนเรียนมัธยม แต่ก็ไม่ผ่าน”
เนติพัฒน์ย้อนอดีตวันวาน หลังสอบไม่ผ่านเข้าเรียนเตรียมทหารก็มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ด้วยความหวังอยากเป็นนักปกครอง จึงเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ แต่ด้วยความที่เพื่อนร่วมชั้นมัธยมต้นสมัยโรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรีส่วนใหญ่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้มีเพื่อนน้อย และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงย้ายมาอยู่ในรั้วพ่อขุนมหาวิทยาลัยรามคำแหงในสาขาบริหารรัฐกิจแทน
“ผมเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนปี 1 ที่ราม ตอนนั้นทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย โดยกลับไปเลี้ยงวัวอยู่ที่บ้านพ่อราชบุรีมีอยู่ 10 กว่าตัวและดูแลสวนปาล์มประมาณ 40 ไร่ พ่อเป็นคนราชบุรี ท่านมีสวน แต่ไม่มีใครดูแล ผมก็ไป ทำอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี จึงเข้ากรุงเทพฯ”
แม้จะมีความสุขกับชีวิตชาวสวน แต่กลับมาใช้ชีวิตในเมืองกรุงอีกครั้ง หลังเพื่อนรุ่นพี่ เจ้าของโชว์รูรถยนต์ย่านทองหล่อชวนมาให้ดูแลด้านการตลาดและช่วยจัดอีเวนท์ตามงานต่างๆ ตลอดจนดูแลรถให้ลูกค้า โดยทำอยู่ประมาณปีเศษ หลังเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงลาออกเพื่อมาเปิดกิจการร้านอาหารร่วมกับน้องชาย ซึ่งกำลังเรียนเชฟอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
“ตอนนั้นก็มาร่วมคิดกับน้องว่าหาธุรกิจอะไรทำกันดีกว่า ผมก็เลยถามน้องว่ามันมีฟาสต์ฟู้ดญี่ปุ่นจานด่วน ข้าวแกงกะหรี่ ข้าวหน้าแซลมอน มันน่าจะทำได้ไม่ยากแล้วเราก็ไปหาทำเลเปิดร้านใกล้สถาบันการศึกษาแล้วกันก็เลยเลือกทำเลข้างม.กรุงเทพ เปิดร้านอาหารครั้งแรกเป็นอาหารจานด่วนแบบญี่ปุ่น ผมเป็นคนบริหารจัดการร้าน น้องจะดูแลเมนูอาหาร”
ห้องแถวเล็กๆ ในซอยรังสิตภิรมย์ ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพถูกเนรมิตให้เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดญี่ปุ่น สไตล์ไทย ภายใต้ชื่อร้านบาร์ยาร์ด หมายถึงร้านอาหารที่ปูด้วยสนามหญ้าเปิดให้บริการ หวังเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษาเป็นหลัก โดยเน้นอาหารจานด่วน ไม่กี่รายการ อาทิ ข้าวหน้าหมูตุ๋น ข้าวหน้าแกงกะหรี่ ข้าวผัดเบค่อน จากนั้นก็เริ่มดัดแปลงมาเป็นชาบู สไตล์ไทยที่เน้นบริการแบบบุฟเฟ่ต์ คิดรายหัว หัวละ 139 บาท ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับร้านหมูกระทะกำลังได้รับความนิยม โดยใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อดึงลูกค้าที่ไม่ต่างจากร้านหมูกระทะมากนัก
“ตอนนั้นใครอยากจะกินชาบูต้องไปกินที่ชาบูชิ เพราะมันมีแบรนด์เดียวขายอยู่บนห้าง อย่างนี้เหรอที่ญี่ปุ่นเขากินกัน ที่จริงมันก็คือจิ้มจุ่มของคนไทยนี่แหละ เอาหมูมาสไลด์เป็นแผ่นบางๆ ตอกไข่ใส่ต้มในหม้อแล้วเอามาจิ้มกับน้ำจิ้มสุกี้”
หลังรู้ว่าชาบูชิเป็นอย่างไร จากนั้นเขาก็ตัดสินใจซื้อเครื่องสไลด์หมูแผ่นมาทดลองทำ ส่วนน้ำจิ้มนั้นถามสูตรจากผู้เป็นลุง ซึ่งเคยทำร้านอาหารสุกี้มาก่อนแล้วนำมาดัดแปลงเป็นสูตรน้ำจิ้มของตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร้านอาหารเมื่อปี 2553 ก่อนจะเลิกกิจการไปโดยปริยาย เนื่องจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 ทำให้ข้าวของภายในร้านได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เหลือเพียงแค่เครื่องสไลด์หมูแผ่นที่สามารถนำมาใช้ได้อีก
“เปิดร้านมาได้ปีกว่า ทำท่าว่าจะไปได้ดี มาเจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 ทุกอย่างไปกับน้ำหมดเลย เจ๊งครับ ต้องกลับมาของานพี่เขาทำที่โชว์รูมรถยนต์อีกครั้งในตำแหน่งฝ่ายขาย” เนติพัฒน์เผย พร้อมระบุว่าหลังทำอยู่ประมาณครึ่งปี เจอรุ่นพี่สมัยเรียนมัธยมถามถึงร้านชาบู ซึ่งได้ปิดตัวลงไปพร้อมกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงตัดสินใจเปิดร้านใหม่อีกครั้ง โดยรุ่นพี่เป็นคนลงทุน ส่วนตัวเขาเป็นผู้บริหารกิจการร้านกับน้องชาย โดยย้ายทำเลมาใกล้กับมหาวิทยาลัยรังสิตแทน
การเปิดร้านครั้งใหม่นี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากมีปัญหากับหุ้นส่วน ประกอบกับตัวเขาเองและน้อง ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการร้านเป็นหลักกำลังจะเรียนจบ จำเป็นต้องมีการฝึกงานในภาคเรียนสุดท้าย จึงไม่มีเวลามาดูแลร้าน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกกิจการเป็นครั้งที่สอง
จากนั้นเนติพัฒน์ก็เข้าสู่วิถีลูกจ้างอีกครั้ง ด้วยการไปทำงานที่สหพันธ์มวยไทยโลก ซึ่งรับผิดชอบดูแลมวยไทยไฟท์ ทำให้ได้เรียนรู้การบริหารองค์กร การประสานงานต่างๆ โดยทำอยู่ประมาณเกือบปี จนกระทั่งน้องชายเรียนจบ จึงมีแนวคิดทำร้านชาบูอีกครั้ง
“ช่วงนั้นผมกับน้องเรียนจบพอดีแล้วมีเพื่อนๆ ที่จบมาด้วยกัน สนใจร่วมหุ้นกันเปิดร้านชาบูอีกครั้ง มีทั้งหมด 6 หุ้น แต่ละหุ้นส่วนก็จะมาดูแลร้านตามความถนัดของแต่ละคน อย่างผมจบบริหารจะเป็นผู้เมเนจร้านทั้งหมด น้องรับผิดชอบเรื่องเมนูอาหาร หุ้นส่วนอีกคนจบมาทางด้านออกแบบดีไซน์ก็จะดูการออกแบบร้านทั้งหมด อีกคนจบการเงินก็จะดูเรื่องระบบบัญชี”
ความลงตัวของหุ้นส่วนแต่ละคนที่รับงานแต่ละด้าน ทำให้จุดประกายความเป็นร้านชาบูแนวใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิม โดยเริ่มจากชื่อร้านที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง เมนูอาหารที่ทำขึ้นมาเอง ตลอดจนการออกแบบดีไซน์ร้านที่แตกต่างไปจากร้านทั่วไป โดยหวังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาเช่นเดิม
“เริ่มจากชื่อร้าน ให้ทุกคนโหวตกัน ทุกคนลงความเห็นให้ชื่อ ชาบูกูแล้วกัน ชาบูคือต้มน้ำเดือดปุดๆ กูคือรสชาติในแบบกู และทุกอย่างในร้าน พวกกูเป็นคนทำ อย่างออกแบบร้าน เมนูอาหารอย่างหมูกูหมัก หมูกูเด้ง น้ำจิ้ม น้ำซุป จึงใช้ชื่อชาบูกูตั้งแต่นั้นมา” เนติพัฒน์ย้อนอดีตร้านชาบูกู โดยเริ่มเปิดร้านแรกที่หมู่บ้านเมืองเอก ใกล้ม.รังสิตในเดือนตุลาคม 2557 จากนั้นขยายไปสู่สาขา2 ศาลายา ใกล้กับม.มหิดล สาขาพรานนก-ปิ่นเกล้า ก่อนที่จะทำในรูปแบบของแฟรนไชส์ ภายใต้ชื่อบริษัท เบสิค อีลีเม้นท์ จำกัด ปัจจุบันมีแฟรนไชส์อยู่ในความดูแลทั้งสิ้น 14 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล
“เนติพัฒน์ อำภา” นับเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นใฝ่ฝันอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง จนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ภายใต้ร้านอาหารญี่ปุ่น สไตล์ไทยที่ใช้ชื่อว่า "ชาบูกู" ในปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดสืบทอดจากบิดา "วางแผนดี มีเช็กลิสต์ คิดล่วงหน้า กล้าตัดสินใจ”
เปิดใจผจก.'ชาบูกู'สาขาพรานนก-ปิ่นเกล้า
กุสุมา แสงทับทิม ผู้จัดการร้านชาบูกู สาขาพรานนก-ปิ่นเกล้า ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนอิสรภาพ 44 ภายในพื้นที่สวัสดิการทหารเรือกล่าวถึงที่มาของร้านชาบูกูแห่งนี้ว่าเป็นชาบูกูสาขา 4 เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวทหารเรือและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธนบุรีและผู้ที่ทำงานในละแวกนี้
“เมื่อก่อนเป็นลูกจ้างบริษัททำธุรกิจนำเข้าส่งออก อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงมาเลือกชาบูกู เพราะมั่นใจในตัวสินค้าและเป็นอาหารเพื่อสุขภาพด้วย อีกอย่างที่บ้านมีธุรกิจประมง วัตถุดิบบางอย่างส่งมาจากชุมพร ซึ่งก็สอดรับกันได้”
ผู้จัดการร้านคนเดิมย้ำด้วยว่าหลังจากเปิดให้บริการมาได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก โดยเฉพาะน้ำซุปกับน้ำจิ้ม ซึ่งเป็นสูตรเด็ดในการดึงลูกค้า บางคนมารับประทานแล้วก็กลับมาอีกกลายเป็นลูกค้าประจำ ชาบูกูเปิดให้บริการตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มทุกวันยกเว้นวันจันทร์