ข่าว

ฎีกายกฟ้อง!'เทพไท'หมิ่น'ปลอด'ล้มเจ้า

ฎีกายกฟ้อง!'เทพไท'หมิ่น'ปลอด'ล้มเจ้า

10 มิ.ย. 2558

ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง 'เทพไท' ไม่ผิดหมิ่น 'ปลอดประสพ' คนในระบอบ 'ทักษิณ' ล้มเจ้า ชี้ให้สัมภาษณ์เป็นเชิงตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

 
                       10 มิ.ย. 58  เมื่อเวลา 09.00 น.  ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.858/2553 ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 18 - 21 ก.พ. 53 นายเทพไท ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า นายปลอดประสพ เป็นคนในระบอบทักษิณ และเป็นพวกล้มเจ้า
 
                       โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 54 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ที่จำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เป็นเชิงตั้งคำถามว่า โจทก์เป็นคนในระบอบทักษิณเป็นพวกล้มเจ้าจริงหรือไม่ ซึ่งโจทก์เป็นนักการเมืองย่อมอยู่ในฐานะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยการกระทำของจำเลยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ตาม ม.329 (1) ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท
 
                       ขณะที่ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 56 ให้ยกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากคำให้สัมภาษณ์ของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามต่อโจทก์ว่ากระบวนการล้มเจ้ามีจริงหรือไม่ โดยมีมูลเหตุมาจากคำให้สัมภาษณ์ของโจทก์ ไม่ใช่การใส่ร้าย แต่เป็นการติชมโดยสุจริตเป็นธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย
 
                       ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นเช่นกันว่า คำสัมภาษณ์จำเลยเป็นลักษณะตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
 
                       ภายหลัง นายเทพไท กล่าวว่า คดีนี้ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่าได้ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การให้สัมภาษณ์ของนายปลอดประสพ ด้วยความสุจริต และเป็นการติชมในฐานะที่บุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เห็นว่าคดีนี้มูลการฟ้องตั้งแต่ต้นก็แทบจะฟังไม่ขึ้นเลย และคดีควรจะยุติในชั้นอุทธรณ์ แต่ภายหลังโจทก์ได้ให้อัยการสูงสุดขณะนั้นรับรองฎีกา แม้เห็นว่าตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้ แต่คดีนี้นายปลอดประสพ เป็นโจทก์เองที่ยื่นฟ้องในฐานะส่วนบุคคล ไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ดังนั้นอัยการสูงสุดจึงไม่ควรจะมาเซ็นรับรอง แต่เมื่อเซ็นรับรองฎีกาไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของสังคมที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป