ข่าว

ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ

ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ

07 มิ.ย. 2558

เปิดโลกวันอาทิตย์ : ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 
                    หนึ่งในสำนวนจีนที่ลูกหลานมังกรมักจะพูดจนติดปากก็คือ “ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ" หลายคนอาจจะตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า "จริงหรือ" หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ผู้นำหมายเลขหนึ่งแห่งทำเนียบจงหนานไห่ได้ดัดแปลงสำนวนนี้ให้กลายเป็นบันไดขั้นที่ 3 ของวาระแห่งชาติที่จะมุ่งปราบปรามเหล่ากังฉินที่โกงกินบ้านเมือง โดยยกระดับจากแผนบันไดขั้นแรกภายใต้รหัส "ปฏิบัติการปราบพยัคฆ์และแมลงหวี่แมลงวัน” หรือนัยหนึ่งก็คือการปราบปรามข้าราชการขี้ฉ้อในทุกระดับชั้น ในทุกหน่วยงานทั้งพลเรือนและทหาร และในทุกสถานที่ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลเพียงใด สู่บันไดขั้นที่ 2 ภายใต้ชื่อรหัส “ปฏิบัติการล่าหมาจิ้งจอก” หรือการตามล่าข้าราชการกังฉินราว 16,000-18,000 คน ที่หอบเงินที่ได้จากการกินสินบาทคาดสินบนรวมกันแล้วกว่า 8 แสนล้านหยวนหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศระหว่างช่วงกลางทศวรรษ 2543-2551 
 
                    แล้วก็มาถึงบันไดขั้นที่ 3 ภายใต้ชื่อรหัสว่า “ปฏิบัติการตาข่ายฟ้า” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “สกายเน็ต" หรืออาจจะเรียกด้วยสำบัดสำนวนว่า “แหเหินหาว” เพื่อจะอุดรูรั่วหรือช่องโหว่ต่างๆ ระหว่างเหวี่ยงแหหรือตาข่ายจับกังฉินที่หลบหนีไปต่างประเทศ ภายใต้การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งตำรวจสากล หรืออินเตอร์โปล ให้ช่วยตามจับผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีแล้วส่งกลับไปดำเนินคดีในประเทศ ตลอดจนเดินหน้ากวาดล้างธนาคารใต้ดินหรือโพยก๊วนและบริษัทที่ช่วยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยักย้ายถ่ายเทโอนเงินที่ยักยอกไปไว้ในต่างประเทศด้วย 
 
                    ปฏิบัติการ "สกายเน็ต” ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นี้จะทำควบคู่กันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ระดับในประเทศนั้นจะมีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นในทุกมณฑลเพื่อช่วยในการส่งนักโทษหนีคดีกลับประเทศ รวมทั้งเป็นยามเตือนภัยล่วงหน้า ต้องรีบแจ้งให้ทางการทราบภายใน 24 ชั่วโมงหากผู้ต้องหาหลบหนี ส่วน “สกายเน็ต” ระดับระหว่างประเทศนั้น จีนได้ขอให้อินเตอร์โปลเผยแพร่ 100-150 รายชื่อผู้ต้องหาที่พัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด ซึ่งจะมีรายละเอียดพร้อม ไม่ว่าจะภาพถ่าย หมายเลขบัตรประชาชน พาสปอร์ต จุดหมายเดินทาง และอาชญากรรมที่ก่อไว้ รวมไปถึงการออกหมายแดงหรือหมายจับเพื่อให้ประเทศสมาชิกของอินเตอร์โปลให้ความร่วมมือในการจับกุม ควบคู่ไปกับการเปิดเจรจากับ 39 ประเทศที่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน และอีก 52 ประเทศที่ทำสนธิสัญญาความช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีทางอาญา กับอีก 91 ประเทศ ภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ ที่ได้ลงนามในข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจ ตลอดจนกับประเทศที่ไม่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน อาทิ สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อขอให้ส่งตัวอาชญากรเศรษฐกิจและการเงินเหล่านี้กลับมารับโทษในประเทศ นอกเหนือจากการหาหนทางนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบกลับคืนจากต่างประเทศ 
 
                    สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ 100-150 ผู้ต้องสงสัยพัวพันการยักยอกทรัพย์ รับสินบน และฟอกเงิน มีทั้งข้าราชการ ตำรวจ นักบัญชี และ ฯลฯ แยกเป็นผู้ชาย 77 คน ผู้หญิง 23 คน เชื่อว่ากบดานอยู่ในสหรัฐและแคนาดา มากถึง 66 คน ที่เหลือกระจายกันอยู่ในเอเชีย และมีเพียงน้อยนิดไม่กี่คนหนีไปซูดาน, กานา, เบลิซ และ เซนต์คิตส์แอนด์เนวิส ถือเป็นความคืบหน้าอีกระดับนับจากเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่แดนมังกรสามารถนำตัวอาชญากรทางการเงิน 49 คน จาก 17 ประเทศ รวมถึงสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย กลับมาดำเนินคดีในประเทศ อีกทั้งยังได้ยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการรับสินบนหรือยักยอกกองทุนสาธารณะรวม 3,000 ล้านหยวน (ราว 15,000 ล้านบาท) ในต่างประเทศ 
 
                    ไม่ต้องสงสัยว่าประเทศส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ ยกเว้นแดนอินทรีอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งได้ตั้งเงื่อนไขหลายประการอ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันว่ากังฉินเหล่านั้นจะได้รับความเป็นธรรมขณะขึ้นศาลและจะไม่ต้องรับโทษหนักนั่นก็คือประหารชีวิต
 
                    เพียงไม่กี่วันหลังประกาศ "ปฏิบัติการสกายเน็ต” อินเตอร์โปลในจีนก็สามารถจับกุมไต้ ซื่อหมิน อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนในเซี่ยงไฮ้ที่ต้องสงสัยว่ายักยอกเงิน 11 ล้านหยวน (ราว 55 ล้านบาท) ในข้อหาพยายามลอบกลับเข้าประเทศโดยใช้บัตรประจำตัวและพาสปอร์ตปลอม หลังจากหนีการไล่ล่ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 เชื่อว่าไปกบดานอยู่ที่สหรัฐ เบลิซ และเกาหลีใต้ ถือเป็นอาชญากรเศรษฐกิจคนแรกที่ถูกจับตามปฏิบัติการสกายเน็ต และนับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในเจียงสู เซี่ยงไฮ้ และอานฮุย อีกทั้งยังถือเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ
 
                    เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อิตาลีได้ส่งสัญญาณอันดีด้วยการส่งกลับผู้ต้องหาหญิงชาวจีนกลับไปดำเนินคดีในข้อหายักยอกเงินกว่า 1.4 ล้านหยวน (ราว 7 ล้านบาท) นับเป็นรายแรกที่ถูกส่งกลับและเชื่อว่าจะมีตามมาอีกหลายราย
 
                    ส่วนที่แคนาดา ทางการกำลังจับตามองไมเคิล ชิง โม่ เอี๋ยง หรือเจิ้ง มู่หยาง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 45 ปีในแวนคูเวอร์ ที่ได้รับสิทธิให้พำนักในประเทศนี้เป็นการถาวรในฐานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2539 แม้จะปฏิเสธไม่ให้สัญชาติแคนาดาก็ตาม หลังจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ ที่เกาะติดเรื่องการคอร์รัปชั่นในแดนมังกรเปิดโปงว่าชิง โม่ เอี๋ยง กับเจิ้ง มู่หยาง ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ 100 ผู้ต้องหาที่จีนต้องการตัวมากที่สุดในข้อหารับสินบนและแอบโยกย้ายทรัพย์สิน เป็นคนคนเดียวกัน โดยเป็นบุตรชายของเจิ้ง เว่ยเกา อดีตเลขาธิการพรรคผู้ทรงอิทธิพลในเหอเป่ยแต่ถูกขับออกจากพรรคเมื่อปี 2546 หลังถูกสอบในคดีคอร์รัปชั่น ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อปี 2553 ชิง โม่ เอี๋ยง ยอมรับสารภาพเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ว่าเป็นคนที่จีนต้องการตัวจริง แต่ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอะไรผิด 
 
                    ส่วนแดนอินทรีอเมริกานั้น ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยของบรรดากังฉินที่หอบเงินไปเสพย์สุขในประเทศนี้ผ่านการฟอกเงินและธนาคารใต้ดิน นอกจากเป็นเพราะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายกับจีนแล้ว ยังเป็นเพราะท่าทีของสหรัฐที่ค่อนข้างปกป้องผู้ต้องหาเหล่านี้ โดยอ้างว่ากฎหมายของจีนยังมีมาตรฐานต่ำ ที่สำคัญก็คือมีเชื่อผิดๆ ว่า จีนจะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เป็นธรรม และมักจะตัดสินประหารชีวิตซึ่งเป็นโทษสูงสุดที่สหรัฐไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
 
                    ด้วยจุดยืนดังกล่าว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีผู้ต้องหาจีนเพียง 2 คนถูกนำตัวจากสหรัฐกลับไปดำเนินคดีในแดนมังกร จากทั้งหมดกว่า 150 คนที่ทางการจีนเชื่อว่าหลบหนีอยู่ในประเทศนี้ แถมบางคนยังได้กรีนการ์ด หรือวีซ่าพำนักถาวรแล้ว โดยผู้ต้องหา 2 คนที่ถูกส่งตัวกลับจีนได้แก่ หยู เจิ้นตง อดีตประธานสาขากวงตั้ง ไคผิง ของแบงก์ ออฟ ไชนา ที่กบดานอยู่ในแดนอินทรี มานาน 3 ปี อีกคนหนึ่งก็คือ เฉียน เจี้ยนจวิน อดีตเจ้าหน้าที่บริษัทคลังธัญพืช ที่ต้องสงสัยฟอกเงิน 300 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) และได้วีซ่าเข้าสหรัฐโดยไม่ถูกต้อง 
 
                    จากปฏิบัติการสกายเน็ต ทำให้สหรัฐจับกุมนางเจ้า ซือหลิน อดีตภรรยาของเฉียน เจี้ยนจวิน ในข้อหาแอบอ้างว่าได้สมรสกัน และแจ้งเท็จเกี่ยวกับแหล่งเงิน เพื่อให้ได้รับวีซ่าเข้าประเทศ ผ่านโครงการนักลงทุนเพื่อการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ ทั้ง 2 คนถูกฟ้องในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และข้อหาฟอกเงิน โดยศาลห้ามประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี
 
                    ล่าสุด สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของอดีตแดนดินถิ่นอินเดียนแดงยังได้รวบตัวนางหยาง ซิ่วจู วัย 68 ปี อดีตรองนายกเทศมนตรีนครเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งมีชื่ออยู่ในอันดับต้นๆ ของบัญชี 100 ผู้ต้องหาที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดจากคดียักยอกเงินหลวงกว่า 1,240 ล้านบาทช่วงที่ดูแลโครงการก่อสร้างในยุคอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว กระทั่งสื่อจีนให้สมญาว่าเป็น “ราชินีแห่งการทุจริตคอร์รัปชั่น" ก่อนจะหลบหนีไปที่สิงคโปร์เมื่อปี 2546 จากนั้นได้ปลอมแปลงข้อมูลส่วนตัวเพื่อจะบินต่อไปยังนิวยอร์ก แต่ถูกควบคุมตัวไว้ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อปี 2548 เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ทำสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เธอพยายามเดินทางไปที่เมืองฮัดสัน รัฐนิวเจอร์ซี โดยใช้พาสปอร์ตปลอม เป็นเหตุให้ถูกตะครุบตัวในที่สุด
 
                    นับเป็นความสำเร็จล่าสุดของปฏิบัติการ "ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ" ที่แดนมังกรแสนจะภูมิใจ
 
 
 
 
 
---------------------
 
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : ตาข่ายฟ้าไร้รอยตะเข็บ : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)