
พงศธร ธรรมวัฒนะพลิกของเล่นเป็นเงินร้อยล้าน
พงศธร ธรรมวัฒนะพลิกของเล่นเป็นเงินร้อยล้าน : คมคิดธุรกิจนิวเจน เรื่อง--วันวิสา โรจน์แสงรัตน์ ภาพ--สุกล เกิดในมงคล
ย้อนอดีตสู่วัยเด็ก “ของเล่น” เป็นสิ่งที่พ่อแม่เลือกสรรเพื่อเติมเต็มความสุขและช่วยเสริมสร้างความคิดและจินตนาการแก่ลูกน้อยในคราวเดียว แต่ใครจะรู้ว่า ของที่เด็กๆ เล่นกันอย่างสนุกสนานแถมยังอาจจะถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย จะกลายมาเป็นธุรกิจหลาย (ร้อย) ล้าน ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงในวัยเพียง 26 ปี “จี๊ป” พงศธร ธรรมวัฒนะ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการของเล่น ทั้งในฐานะหุ้นส่วนร้าน “เพลย์เฮ้าส์” ตัวแทนจำหน่ายของเล่นใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นโต้โผในการจัดงานแสดงของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่าง ไทยแลนด์ ทอย เอ็กซ์โป อีกด้วย
ในวันที่มีโอกาสไปเยือนอาณาจักรของเล่นบนห้างหรูกลางกรุง หนุ่มหน้าใสทายาทคนเล็กของ คุณพ่อเทอดชัย ธรรมวัฒนะ กับ คุณแม่จินตนา สมัครการ เปิดฉากเล่าว่า ตอนเด็กเป็นคนสมาธิสั้น ด้วยความที่คุณแม่เกรงจะไปรบกวนคนอื่นจึงหาของเล่นมาให้เล่น เพื่อให้จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ซึ่งก็ได้ผล อีกอย่างคือ ตอนเด็กๆ อ่านภาษาไทยไม่ออกถึงจนถึงชั้น ป.6 คุณแม่เลยจับให้อ่านหนังสือการ์ตูนภาษาไทย โดยหาเรื่องที่ชอบอย่าง ดราก้อนบอล สแลมดังก์ มาให้อ่าน จึงกลายเป็นเหมือนอะไรที่ผูกพันกันมาตั้งแต่นั้น โดยเฉพาะเรื่องขบวนการ 5 สี ซูเปอร์เซนไท เป็นการ์ตูนที่ชอบเป็นพิเศษ
ถึงจะเกิดในตระกูลที่มีฐานะ แต่ “จี๊ป” เล่าว่า คุณแม่ไม่เคยตามใจเรื่องซื้อของเล่นเลย ตรงกันข้ามท่านจะสอนให้รู้จักประหยัด อยากได้อะไรจึงต้องเก็บเงินซื้อเอง ซึ่งก็เป็นเงินสะสมที่ได้จากแตะเอียบ้าง เบี้ยเลี้ยงจากการซ้อมกีฬา หรือบางครั้งก็เป็นเงินรางวัลจากการแข่งกีฬา พอมีเงินก็จะนึกถึงของเล่นก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อได้จะเล่นอย่างเต็มที่ บางชิ้นพังคามือก็เคยมี เพราะยังไม่รู้จักเรื่องการรักษาข้าวของเท่าไหร่นัก กระทั่งมาพลิกผันความคิดเมื่อได้เห็นของเล่นของคุณพ่อที่ตกทอดมาถึง จึงคิดที่จะสะสมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
“ของเล่นของผมนอกจากจะเป็นส่วนเติมเต็มความสุขให้ผมแล้ว มันยังเป็นตัวแทนความผูกพันที่ผมได้รับจากพ่อด้วย เพราะท่านถูกลักพาตัวไปตั้งแต่ผมอายุแค่ 3 ขวบ สิ่งที่จำได้ติดตาคือของเล่นของพ่อ วันหนึ่งผมมีโอกาสไปรื้อของเล่นของคุณพ่อ มีหลายอย่างเลย ซึ่งทุกชิ้นท่านเก็บรักษาอย่างดี มันเลยจุดประกายให้ผมคิดจะสะสมของเล่นบ้าง ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.ต้น จึงเริ่มต้นค่อยๆ เก็บมาเรื่อยๆ” นักสะสมของเล่นย้อนเล่าที่มา
ค่อยๆ เก็บสะสมทีละเล็กละน้อยจนปริมาณเยอะขึ้น เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนเขาก็มักจะได้ของเล่นติดมือกลับมาด้วยเสมอ พงศธรเล่าว่า กระทั่งเรียนชั้น ม.ปลาย ที่สาธิตเกษตรฯ อินเตอร์ มีโอกาสไปต่างประเทศและเห็นว่าของที่เคยเล่นราคาแพงขึ้นมาก บางชิ้นสูงขึ้นหลายสิบเท่าตัว ทำให้เริ่มคิดว่า หากเก็บของเล่นไว้ตั้งแต่ตอนนี้ไว้ เมื่อเวลาผ่านไปแล้วนำออกมาขายก็น่าจะทำกำไรได้ดี และอาจจะสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้ด้วย
“ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยคุณแม่แนะนำให้ผมไปเรียนที่จีน อยากให้ได้ภาษากลับมาช่วยงานที่บ้าน เพราะช่วงนั้นจีนบูมมาก ไปครั้งนี้ทำให้ผมไปเจอของเล่นและรู้จักดีไซเนอร์ทอยครั้งแรกในชีวิต ไม่ใช่บริษัทของจีน แต่เป็นการมาจัดนิทรรศการที่นั่น ตอนไปผมเริ่มหงุดหงิดบ่นกับแม่ว่า มาที่นี่ยังไม่ได้ของเล่นเลย จนขับรถผ่านห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเลยวิ่งไปต่อคิวซื้อของเล่นชื่อว่า แฮชเชอรี่การ์ด ที่มีแค่ 100 ตัวในโลก ผมเป็นคนที่ 98 หรือ 99 ไม่แน่ใจ ตอนนั้นซื้อมา 3,700 พอเดินไปเข้าห้องน้ำมีชาวต่างชาติมาขอซื้อในราคา 37,000 ตอนนั้นคิดเลยว่ามาถูกทางแล้ว เพราะผ่านไปแค่ 5-10 นาที ราคาพุ่งขึ้นถึง 10 เท่า แล้วถ้าบวกไปอีกหนึ่งปี ราคาจะเป็นเท่าไหร่ จึงคิดว่าได้เวลาแล้วที่ต้องทำธุรกิจด้านนี้” พงศธรบอกอย่างนั้น
แต่ในอีกด้านหนึ่งของความใฝ่ฝัน พงศธรต้องการประสบความสำเร็จในงานด้านการทูต ซึ่งเป็นความคิดเดิมเริ่มแรก ทำให้เขาตัดสินใจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านบริติช แอนด์ อเมริกัน สทิวดี้ ซึ่งต้องเรียนค่อนข้างหนักจนแทบไม่มีเวลาว่าง โครงการที่จะทำธุรกิจจึงต้องพักไว้ชั่วคราว กระทั่งขึ้นชั้นปี 2 จึงเริ่มมีคำถามกับตัวเองว่า อนาคตจะทำอะไรดี เพราะต่อไปนี้มันคือชีวิตจริงแล้ว
“ตอนนั้นผมถูกคนรอบข้างดูถูกว่าจะมีอนาคตหรือไม่ เพราะผมมัวแต่เล่นกีฬาและทำกิจกรรม จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่เลิกดูถูก ผมเลยเริ่มมองหาว่าจะทำอะไรดี อย่างเพื่อนบางคนเขาช่วยงานที่บ้าน แต่ผมไม่อยากทำงานที่บ้าน ผมมองว่าทำไมต้องช่วยในสิ่งที่มีอยู่แล้ว มันเท่อย่างไร มันภูมิใจอย่างไรกับสิ่งที่มีคนปูทางชีวิตไว้ให้ และตอนนี้กิจการตลาดของตระกูลมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แค่คิดว่าทำอย่างไรจะไม่เจ๊งเท่านั้น” นักธุรกิจหนุ่มเผยความคิด
เมื่อตั้งใจจะหันมาทำธุรกิจอย่างจริงจัง เขาจึงปิ๊งไอเดียว่า ถ้าชอบของเล่นก็ต้องทำธุรกิจที่ชอบ จึงย้อนคิดไปถึงดีไซเนอร์ทอย พร้อมอธิบายถึงคำจำกัดความของ “ดีไซเนอร์ทอย” ว่า คือของเล่นของสะสมที่ออกมาจากแนวคิดของผู้ออกแบบ โดยไม่ยึดติดกับอะไรเลย จากนั้นจึงหันมาศึกษาอย่างจริงจังด้วยการดูตลาดโลกว่า ของเล่นตอนนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง พร้อมกับลองดูราคาแอชเชอรี่การ์ดที่ซื้อเมื่อ 1 ปี ที่ผ่านมาอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงตัดสินใจโดยไม่ลังเลอีกต่อไป แต่ด้วยความที่ยังเด็กและไม่รู้วิธีการทำธุรกิจ “จี๊ป” พงศธร จึงไหว้วานให้คุณแม่ช่วยออกหน้าเป็นตัวแทนเจรจาสอบถาม และวันนั้นเองเป็นวันที่ได้เจอกับสองดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง “แอชรี่ วูด” และ “คิม พัง วอน” ซึ่งหนุ่มจี๊ปไม่มีวันลืม เพราะหยิบยื่นโอกาสแก่เขาในวัยเพียง 20 ปี ให้เป็นตัวแทนนำของเล่นของที่เขาออกแบบและผลิตเข้ามาขายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว
“ทุกคนในวงการของเล่นไม่มีใครไม่รู้จักสองคนนี้ แต่ตอนที่ผมเจอเขาผมก็ไม่รู้จักจริงๆ เลยเข้าไปถามว่า “Who are you?” ศิลปินเขาทำหน้างงมาก คงคิดว่าเด็กคนนี้เป็นใครถึงมาถามแบบนี้ แต่ผมไม่รู้จักจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะกวนเลย หลังจากวันที่เจอกันผมก็ให้คุณแม่ลองเจรจา ส่วนผมส่งอีเมลไปหาเขาทุกวัน เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน จนถอดใจแล้วว่า ถ้าภายใน 2-3 วัน หากไม่ตอบกลับมาก็จะเลิกส่งแล้ว สุดท้ายเขาก็ตอบกลับมา ประมาณว่าได้รับอีเมลแล้วและเห็นถึงความตั้งใจของเรา จากนั้นผมก็เดินทางไปตกลงกัน เขาให้บอกแผนการตลาด ผมบอกไปเลยว่า ยังไม่มีตอนนี้ แต่ถ้าให้ผมทำไปก่อนเดี๋ยวผมจะมีให้คุณ พอทำไปสักพักต้องมีการเซ็นสัญญา แต่ทางโน้นเขาฉีกสัญญาทิ้งแล้วโยนใส่ผม เขาบอกว่าสัญญาไม่จำเป็น เขายินดีจะให้ผมเป็นตัวแทนตลอดไป สัญญาใจมันสำคัญกว่าแผ่นกระดาษ” หนุ่มเจ้าความคิดเล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจหลาย(ร้อย)ล้าน
แรกเริ่มที่ยังไม่มีร้านเป็นของตัวเอง ของเล่นที่นำเข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น หนุ่มจี๊ปเล่าว่า ได้นำไปวางขายแบกะดินในตลาดคลองถม ซึ่งมีลูกค้าให้ความสนใจจนต้องเพิ่มยอดการนำเข้า ต่อมานำไปฝากขายตามร้านของเล่น และลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จากที่ทำอะไรไม่เป็นก็ค่อยๆ เรียนรู้ จากผู้คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีโอกาสพูดคุยถามเขาว่าประสบความสำเร็จอย่างไร ล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง และเมื่อล้มแล้วคุณลุกขึ้นอย่างไร
“ผมไม่ได้เรียนด้านธุรกิจมา แต่สิ่งที่เรียนรู้คือประสบการณ์คนที่พูดคุย แล้วนำมาประยุกต์เป็นตัวผม ทำให้ผมรู้ว่า ในอนาคตจะต้องรับมืออย่างไร เจอเหตุการณ์แบบไหนควรทำอย่างไร แต่ถึงจะศึกษามาแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหายังคงมีเข้ามาให้ต้องแก้อยู่เสมอ แต่ผมก็ต้องพาทีมฝ่าไปให้ได้ ผมพยายามมองปัญหาให้เป็นเรื่องสนุก คิดว่าเหมือนเป็นเกมเกมหนึ่ง เป็นโจทย์โจทย์หนึ่งที่ต้องหาทางแก้ ปัญหามันเป็นการเรียนรู้และพัฒนาเรา เหมือนที่ไอน์สไตน์เคยบอกว่า ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเรามองว่ามันเป็นปัญหามันก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นอะไรที่สนุกและแก้ได้ มันก็จะผ่านไปได้” นักธุรกิจหนุ่มอารมณ์ดีเผยพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 6 ปี การจัดการทุกอย่างลงตัว จนกลายสภาพเป็นรูปแบบบริษัทและมีร้านเป็นของตัวเอง ทั้งยังขยายการดูแลไปในโซนเซาอีสต์เอเชียทั้งหมดด้วย แต่ถามว่า ณ วันนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง เจ้าตัวบอกทันทีว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะตอนนี้กำลังมีเป้าหมายที่กว้างกว่าคน 70 ล้านคนในประเทศไทย ด้วยการเป็นผู้ผลิตเองและส่งไปขายในตลาดโลก และต้องการเจาะกลุ่มตลาดให้กว้างขึ้น
“ตอนนี้ผมมีโปรเจกท์ที่จะนำคาแรกเตอร์ไทยไปขายในตลาดโลก เริ่มจาก “ควาย” ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงานไทยแลนด์ ทอย เอ็กซ์โป ที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี ยอดสั่งเยอะมากถล่มทลายกว่าที่คิดไว้เยอะ ตัวต่อไปจะเป็น “ช้าง” คือเราออกแบบไว้หมดแล้ว แต่จะค่อยๆ ปล่อยออกมาปีละตัว” ดีไซเนอร์ทอยเมืองไทย แง้มกลยุทธ์การตลาด
ส่วนงาน ไทยแลนด์ ทอย เอ็กโป ที่ “พงศธร” เป็นโต้โผอยู่นั้น เจ้าตัวเปิดเผยว่า ตอนนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในงานที่สำคัญของเอเชียไม่แพ้ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ถือว่าบรรลุเป้าหมายแรกแล้ว ส่วนเป้าหมายถัดไปคือ อีกไม่เกิน 2 ปีนี้ จะต้องก้าวขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย แล้วก้าวต่อไปสู่ระดับโลก โดยรูปแบบที่เขาคิดขึ้นเอง และตอนนี้มีประเทศเพื่อนบ้านขอซื้อลิขสิทธิ์ไปใช้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยตัวเล็กๆ ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้
“ทุกวันนี้ผมภูมิใจที่สร้างฐานะขึ้นมาด้วยตัวเอง จากสังคมรอบข้างที่ทุกคนดูถูก ผมเป็นครอบครัวเดียวในตระกูลที่ทำธุรกิจขึ้นมาเองด้วยความชอบของตัวเอง ผมมองว่า ถ้าเราทำด้วยใจเงินมันจะค่อยๆ ตามมา แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่เอาเงินเป็นที่ตั้ง ไม่นึกถึงความสุขของตัวเอง ไม่รู้ว่าสุขภาพเราเป็นยังไง ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต อย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ผมเป็นตัวของตัวเอง และผมพยายามทำทุกวันให้ดีที่สุด ไม่เอาเปรียบใคร ไม่โกงใคร ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทำทุกอย่างให้โปร่งใส เพราะถ้ามันเสียไม่ใช่เสียแค่เรา เราแบกตระกูลนี้ไว้ด้วย มันถือเป็นความกดดันอย่างหนึ่ง ทุกคนจะมองว่า เพราะเกิดในตระกูลนี้ถึงทำได้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ คนอื่นไม่รู้หรอก แต่คนที่ทำงานกับผมจะรู้ว่า เราก้าวขึ้นมาด้วยความตั้งใจจริงๆ จากเด็กคนหนึ่งที่เป็นแค่พ่อค้าขายของเล่นข้างถนน จนกลายเป็นพาร์ทเนอร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ตรงนี้ผมก็แฮปปี้แล้ว” ทายาทตระกูลดัง กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
และเมื่อธุรกิจไปได้สวยตามที่ตั้งใจไว้ “พ่อดีไซเนอร์ทอย” คนเล็กที่ก้าวมาอยู่แถวหน้าในระดับเจ้าพ่อแล้วในวันนี้ ก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนสังคม ด้วยการประมูลของเล่นชิ้นพิเศษ เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือบ้านเด็กกำพร้า โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ และล่าสุดมีโปรเจกท์ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แจกของเล่นให้แก่เด็กๆ ในคอนเซ็ปต์ คืนความสุขให้น้องๆ ผ่านของเล่น