
กระรอกตาย...เพราะนายเชื่อผิดๆ
24 พ.ค. 2558
พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : กระรอกตาย...เพราะนายเชื่อผิดๆ : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
กระรอกน้อย เพศผู้ สีขาว น่าจะเป็นพันธุ์สีชัง อายุสัก 2 ขวบ นอนร่อแร่ ตัวเกร็ง ขดงอ ไร้ความรู้สึก อยู่ในกล่องรองเท้า รองด้วยกระดาษ เขาถูกเจ้าของนำมารับการรักษาหลังพบว่าอยู่ในสภาพดังกล่าวได้ 1 วัน
จากการตรวจดูภายนอกพบว่ากระรอกตัวนี้อยู่ในสภาพขาดน้ำ หรือเสียน้ำมาก สังเกตจากเมื่อดึงผิวหนังขึ้นมาโดยปกติเมื่อเราปล่อย ผิวหนังจะดึงตัวกลับทันที แต่กรณีนี้เมื่อปล่อยผิวหนังยังคงตัวอยู่คือยืดค้าง กว่าจะหดกลับเข้าที่ใช้เวลานาน นั่นคือการบ่งชี้ว่าเขาอยู่ในสภาวะที่ขาดหรือเสียน้ำ จะด้วยเหตุกินน้ำน้อย อาเจียนมาก ท้องร่วงรุนแรง ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการชดเชยน้ำที่ขาดไปจากระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะนำไปสู่ความเสียหายอื่นๆ เช่น ไตวาย หรือช็อก และตายได้
อุณหภูมิร่างกายที่ลดลงจนเมื่อจับตัวจะรู้สึกเย็นชืด วัดอุณหภูมิทางก้นได้เพียง 35 องศาเซลเซียส เยื่อชุ่มใต้เปลือกตา ลิ้นเป็นสีซีด ผิดจากปกติ การหายใจอ่อนรวยริน ชีพจรและแรงดันเลือดเมื่อจับดูที่ขาหนีบด้านในแทบคลำไม่พบ ด้วยข้อมูลที่ตรวจพบทำให้คุณหมอประมวลได้ว่าน้องกระรอกตัวนี้กำลังเข้าสู่ภาวะช็อก จำต้องได้รับการเยียวยาฉุกเฉินเพื่อกู้ชีวิต โดยกระบวนการรักษาประกอบด้วย รักษาแรงดันเลือดให้คงที่เป็นปกติ ทำให้อุณหภูมิร่างกายอุ่นขึ้น ให้ออกซิเจนและกระตุ้นการหายใจ
สำหรับการเพิ่มความดันเลือดนั้น จำเป็นต้องให้สารเหลวที่เหมาะสมส่งเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตทันที ทั้งนี้ มีวิธีเดียวคือการฉีดเข้าหลอดเลือด ทั้งยังชดเชยปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป หมอจึงอธิบายแก่เจ้าของเพื่อทราบถึงสถานการณ์และวิธีการรักษา เพื่อการอนุญาตให้ดำเนินการได้
คำตอบที่ทำให้หมอต้องชะงักคือ “กระรอกฉีดยาไม่ได้ เดี๋ยวตาย” หมอไม่ถามซ้ำ เพราะด้วยประสบการณ์ ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้ย่อมยึดมั่น และหมอเองก็ถูกมองว่าเป็นผู้เซ้าซี้ขอใช้วิธีซับซ้อน ซึ่งหลายคนคิดเชิงลบว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แค่ยากินที่ถูกกว่าก็น่าจะรักษาได้แล้ว ฯลฯ
ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วการให้ยาที่สำคัญต่อการยื้อชีวิตล่ะก็ การให้ยาฉีดโดยเฉพาะการฉีดเข้าเส้นเป็นทางที่ยาออกฤทธิ์ได้เร็วทันท่วงที การให้ยาด้วยทางอื่นไม่อาจทำได้ทัน โดยเฉพาะการกิน!
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด หากฉีดเข้าเส้นไม่ได้ก็ยังมีทางที่จะฉีดเข้าไปในวิธีอื่นๆอีก เช่น ฉีดเข้าโพรงกระดูก ฉีดเข้าช่องท้อง ฉีดเข้ากล้าม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ล้วนขึ้นกับชนิดยา ปริมาณยา และอุปกรณ์ให้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย การฉีดยาจึงรักษาชีวิตสัตว์ไว้ได้มากในภาวะฉุกเฉิน กระรอกก็เป็นสัตว์ที่รับการรักษาให้ยาด้วยการฉีดได้ ส่วนผลข้างเคียงก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับสัตว์อื่น รวมถึงคนเราด้วย
เมื่อเป็นเพียงทางที่ดีที่สุด และจำเป็นแล้วก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อชีวิตของสัตว์เลี้ยงคุณ!
-----------------------
(พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : กระรอกตาย...เพราะนายเชื่อผิดๆ : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร)