ข่าว

ร้านค้าออนไลน์สไตล์‘ชูส์ รีพับบลิค’เริ่มง่าย-ทุนน้อย

ร้านค้าออนไลน์สไตล์‘ชูส์ รีพับบลิค’เริ่มง่าย-ทุนน้อย

11 พ.ค. 2558

ร้านค้าออนไลน์สไตล์‘ชูส์ รีพับบลิค’ เริ่มง่าย-ใช้ทุนน้อย แต่...อยู่ยาวเรื่องยาก : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยอนัญชนา สาระคู

               “การเปิดร้านขายรองเท้าผู้หญิง” เรื่องนี้อาจจะดูธรรมดาๆ แต่หากเป็น “การเปิดร้านขายรองเท้าผู้หญิงออนไลน์” กลับทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่าทำได้อย่างไร เพราะปกติแล้วการจะซื้อรองเท้าสักคู่นั้น นอกจากจะต้องเลือกแบบแล้ว เรายังคุ้นชินกับการลองใส่เพื่อวัดขนาด และความพอเหมาะพอเจาะกับรูปเท้าของแต่ละคนก่อนตัดสินใจ แต่ร้านออนไลน์อย่าง “ชูส์ รีพับบลิค” ตอบโจทย์ข้อจำกัดเหล่านี้ได้อย่างลงตัว จนปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนคลับค่อนข้างเหนียวแน่นทีเดียว
    
                “ชูส์ รีพับบลิค” เป็นร้านค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ มีสินค้าหลักเป็นรองเท้าผู้หญิงสไตล์ญี่ปุ่น โดยเปิดหน้าร้านทางเว็บไซต์ www.shoes-republic.com และการขายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก โดยเปิดหน้าแฟนเพจชื่อ fabebook.com/shoesrepublic และแอพพลิเคชั่น ไลน์ โดยใช้ไอดีที่ชื่อว่า shoes-republic อย่างไรก็ตาม เมื่อฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ก็ยังมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถนัดการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ทางร้านจึงตัดสินใจเปิดโชว์รูมในซอยสุขุมวิท 2 เพื่อตอบสนองลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย
    
                ร้านค้าออนไลน์แห่งนี้ ร่วมกันก่อตั้งขึ้นจากเพื่อนร่วมงานจากที่ทำงานเดิม 2 คน ที่ในที่สุดมากลายเป็นหุ้นส่วน คือ มากิโกะ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอแอล รีพับบลิค จำกัด และ อัจฉรา พัฒนาไพศาล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โอแอล รีพับบลิค จำกัด ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำด้านการโฆษณา และมาจับธุรกิจสื่อทางเว็บไซต์ www.olrepublic.com เป็น “แม็กกาซีนออนไลน์” ที่ทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลตรงไปยังบรรดาหญิงสาว ผู้หญิงทำงาน เป็นข้อมูลจิปาถะต่างๆ เน้นการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมปัจจุบัน จากนั้น 2-3 ปีจึงหันมาจับธุรกิจขายรองเท้าออนไลน์ตามมา
    
                เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอัจฉรา หรือคุณยุ้ย จึงไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ เพื่อสอบถามถึงความเป็นมา ตลอดจนรูปแบบ การพัฒนาร้านค้าเพื่อแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้การขายรองเท้าออนไลน์ทำได้จริง จนล่าสุดเธอบอกว่าไม่ใช่แค่ขายสินค้าเท่านั้น แต่จุดเด่นของทางร้านคือบริการให้คำปรึกษาที่เข้าใจบรรดาหญิงสาวอย่างแท้จริง
    
                “ตอนแรกที่เราทำมีเดียขึ้นมา คิดว่ายังไม่มีเรื่องที่บอกและให้คำแนะนำกับผู้หญิงถึงการทำงาน การบริหารจัดการชีวิตอย่างมีความสุขในเรื่องต่างๆ และการที่ตัวเองได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นมาก็ทำให้มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจจากญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง เช่น การใช้สมุดนัดหมายจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น แต่ทั้งหมดที่เราทำ ก็มีความตั้งใจที่อยากจะทำให้ชีวิตของผู้หญิงมีความสุขมากขึ้น ซึ่งเมื่อทำมาระยะหนึ่งก็พบว่ามีผลตอบรับที่ดี คนติดตามเยอะพอสมควร” คุณยุ้ย เล่าถึงจุดเริ่มต้นเข้ามาจับธุรกิจออนไลน์ และบอกว่า
    
                ทีแรกยังไม่คิดว่าจะขายของออนไลน์ แต่หลังจากที่เรามีของกระจุกกระจิกจากญี่ปุ่นมาแนะนำมากๆ เข้า ก็มีคนอยากจะซื้อ และบอกว่าน่าจะเอามาขายบ้าง จึงทำให้เริ่มได้คิดและประจวบเหมาะกับความชอบในเรื่องรองเท้าของตัวเอง ก็เลยเริ่มจากตรงนี้
    
                ทั้งนี้ ย้อนกลับไปที่แนวคิดแรกเริ่มของเราตอนที่ทำเว็บไซต์ที่อยากจะทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น และหนึ่งในชีวิตของผู้หญิงทำงานที่สำคัญก็คือเรื่อง “รองเท้า” ถ้าใส่รองเท้าดีๆ ก็ทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้ แต่กลายเป็นว่ารองเท้าสวยๆ กลับใส่ไม่สบาย ทั้งเจ็บ ทั้งเมื่อย ใส่แล้วอาจต้องเจ็บปวดไปทั้งวัน แต่รองเท้าที่ใส่สบายก็อาจจะไม่สวย เราจึงหาความลงตัวของสินค้า คือรองเท้าที่ทั้งหน้าตาดีและใส่สบายด้วย นั่นก็คือรองเท้าญี่ปุ่น ส่วนที่ตัดสินใจเลือกขายออนไลน์ ก็เพราะด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในขณะนั้น
    
                “ตอนออกมาทำเว็บมีเดีย 2-3 ปีแรก เราใช้แต่เงินเก็บของตัวเองที่มี ทำให้คิดได้ว่าการมาเป็นเจ้าของกิจการ ก้าวที่ 1-2-3 มันไม่สวยหรูอย่างที่หลายคนคิด พอเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ง่ายนัก แม้จะมีผลตอบรับที่ดี มีรายได้มาจากเงินโฆษณาบ้าง แต่ก็เหลือไม่เยอะนัก ในตอนนั้นจึงคิดว่าไม่มีอะไรจะดีกว่าการเปิดร้านออนไลน์แล้ว เพราะการขายรองเท้าจำเป็นจะต้องมีสต็อกสินค้าจำนวนหนึ่งด้วย ไม่ใช่สินค้าที่จะมาสั่งซื้อตามออเดอร์ได้ แต่สิ่งที่เราคิดว่าเรามีอยู่แน่ๆ คือ รู้ว่าผู้หญิงต้องการอะไร และมีกลุ่มผู้อ่านที่เราค่อนข้างเข้าใจเขาว่าต้องการอะไร ชอบอะไร และไม่ชอบอะไร”
    
                เมื่อมีข้อจำกัดจากการขายรองเท้าออนไลน์ คุณยุ้ย บอกว่า ทำให้กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะที่เมื่อมีปัญหา ก็ทำให้ได้คิดแก้ปัญหาขึ้น เริ่มจากการตั้งโจทย์ว่าลูกค้าจะเป็นห่วงเรื่องอะไรบ้างหากจะซื้อรองเท้าทางออนไลน์สักหนึ่งคู่ เช่น การที่ไม่รู้ว่าจะใช้รองเท้าขนาดเท่าไร จึงเป็นที่มาของเครื่องมือที่จะนำมาใช้แก้ไขในจุดนั้น
    
                "คือถ้าเรามีเงินเปิดร้านขายรองเท้าในห้างได้เลย เราคงไม่ต้องคิดเยอะเท่านี้ แต่ในเมื่อเราไม่มีเงิน ก็ทำให้ได้คิดแก้ปัญหา คือพอเปิดร้านออนไลน์ก็จะมีคำถามจากลูกค้าตามมามากมายว่า ซื้ออย่างไร และจะซื้อรองเท้าไซส์อะไรดี" นี่คือที่มาของเครื่องมือสำหรับการวัดขนาดเท้าของลูกค้า โดยทำออกมาเป็นกระดาษฉีก สามารถใช้วัดขนาดได้ 3 มิติ คือความยาว กว้าง และสูง ขณะเดียวกันก็สามารถส่งทางไปรษณีย์ให้ลูกค้าวัดขนาดได้เองทันทีหากต้องการ นอกจากนี้ ยังเปิดบริการรับเปลี่ยน หรือคืนรองเท้าได้ด้วย ซึ่งช่วงนั้นคิดว่ายังไม่มีใครทำแบบเรา แต่ที่เราทำเพราะอยากให้ลูกค้ามีความสุขในการสวมใส่รองเท้าที่ซื้อจากเราจริงๆ
    
                “อยากให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปแล้วใส่อย่างมีความสุข ไม่อยากให้ซื้อไปแล้ววางทิ้งไว้ที่บ้านเฉยๆ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ยัดเยียด ถ้าลูกค้าซื้อไปแล้วรู้สึกไม่พอดี ไม่ใช่ ไม่เหมือนกับแบบที่ดูไว้ สีไม่ชอบ เราก็เปิดรับคืนในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะไม่มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจจะกลายเป็นการกดดันลูกค้าไปเลย” คุณยุ้ย กล่าว
    
                ไม่ว่าจะเป็นอาภรณ์ใดๆ การลองสวมใส่ก่อนตัดสินใจ ดูเหมือนจะเป็นอุปนิสัยเฉพาะของสาวๆ ทุกคน ที่คุณยุ้ยสามารถจับได้ตรงจุด
    
                "ทางร้านยังมีบริการให้ลองรองเท้าก่อนซื้อ โดยลูกค้าจะเลือกรองเท้าไปลองก่อนซื้อ เราก็จะนำของไปให้พร้อมพนักงาน และเมื่อลองและถูกใจก็จะจ่ายเงินมากับพนักงานได้เลย" ในมุมมองของคุณยุ้ย การเลือกซื้อรองเท้าสักคู่ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่หลายคนคิด ดังนั้น บริการให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องรองเท้าจึงจำเป็น ดังเช่นที่เธอเล่าว่า กว่าจะเลือกซื้อรองเท้าหนึ่งคู่นั้น เราต้องคุยกันเยอะมาก เพราะต้องการเข้าใจลูกค้าให้ได้มาก และรอบด้านที่สุด ซึ่งกรณีนี้พนักงานของร้านจะต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรองเท้าโดยการเข้ารับการอบรมจากคุณมากิโกะ เพราะเธอเป็น “ชูส์ ฟิตเตอร์” ซึ่งเป็นดีกรีหนึ่งจากญี่ปุ่นที่เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องกระดูก เท้า และวิธีการเลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้าของแต่ละคน  จึงจะให้คำแนะนำแก่ลูกค้าและได้รับความพึงพอใจสูงสุดหลังการขาย
    
                ส่วนกลุ่มลูกค้าของทางร้านส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่อายุ 20 ปีปลายๆ ไปจนถึง 40 ปี แต่ก็จะมีกลุ่มลูกค้าอายุ 50-60 ปีที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ถนัดในการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงทำให้เราตัดสินใจเปิดโชว์รูมขึ้นมาได้ปีกว่าแล้ว ถึงตอนนี้มี 2 ช่องทางคือทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ และหากมาที่ร้าน ถ้าลูกค้ามีปัญหาก็สามารถเข้ามาปรึกษากับทางคุณมากิโกะได้เลย
    
                ทั้งนี้ ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งด้วยเงินลงทุนหลักหลายแสนบาท จนปัจจุบันคุณยุ้ยบอกว่า มีฐานธุรกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และแน่นอนว่ามีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโต แต่จะอยู่ภายใต้เป้าหมายเดิมคือการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ด้วยการรักษามาตรฐานที่ดีของร้านต่อไป
    
                “การทำร้านออนไลน์อย่างที่บอกคือ เริ่มง่าย และใช้ทุนน้อย แต่การจะทำให้ต่อเนื่องและทำให้ดีนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก คือเราจะต้องทำให้ได้มากกว่าการเปิดร้านค้าปกติ คือถ้าร้านค้าปกติทำหนึ่งร้อย เราก็ต้องทำให้มากกว่านั้น เพราะเมื่อเป็นออนไลน์ สิ่งที่ลูกค้าต้องการการตอบกลับจากเราคือทันที เหมือนเราต้องเปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราต้องใช้กำลังมากกว่าปกติ ให้ความเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา จึงบอกว่าเริ่มง่าย แต่จะทำให้ต่อเนื่อง ทำยาก และมีข้อดีอีกอย่างคือ เราจะได้ฟีดแบ็กกลับมาเร็วด้วย ทั้งคำชม และคำด่าที่จะทำให้เราสามารถรีบแก้ปัญหาได้ทันที และในความยืดหยุ่นที่เรามี สามารถทำให้ปรับตัวได้เร็วกว่า และนำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้รวดเร็ว”
    
                อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจมา ก็เจอกับปัญหาที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เรื่อยมาจนปัญหาการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน สิ่งนี้คุณยุ้ยมองว่า แม้จะดูเหมือนว่าเป็นอุปสรรคที่ควบคุมไม่ได้พอสมควร แต่ในความเป็นจริงยอดรวมก็ยังถือว่าขยายตัวดี และโชคดีด้วยที่ลูกค้าช่วยบอกต่อ หลังจากที่ซื้อไปแล้วใช้งานได้ดี และการที่อยู่มานานจนปัจจุบันนี้ได้ทำให้เชื่ออีกอย่างด้วยว่าสิ่งที่เราขาย เราไม่ได้ขายรองเท้าอย่างเดียว แต่เราขายบริการจากความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเท้าและรองเท้าของเราไปพร้อมกันด้วย
    
                เมื่อถามถึงเรื่องการขยายธุรกิจ คุณยุ้ยบอกว่า เริ่มจากการนำเข้ารองเท้าจากญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งแบรนด์ของร้านเอง คือ Urban Habit และมีแบรนด์ออริจินัลจากญี่ปุ่นอีกหลายแบรนด์ด้วย นอกจากนี้ ยังเริ่มนำสินค้าอื่น เช่น กระเป๋า และผ้าคลุม มาวางขายเพิ่มขึ้นแล้ว
    
                ส่วนในอนาคตจะเพิ่มสินค้าอะไรเข้ามาอีก เธอบอกว่า ก็จะต้องอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่อยากจะให้ผู้หญิงมีความสุขกับการใช้ชีวิต แต่อาจจะไม่ใช่การสร้างธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะเราต้องการรักษาคุณภาพตามมาตรฐาน และความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า การจะเลือกสินค้าเพิ่มเข้ามาอย่างหนึ่งก็เพราะสนุก และมีความสุขไปกับสิ่งนั้น และก็ต้องการเห็นลูกค้าของเรามีความสุข และสนุกไปกับสินค้าของเราด้วยเช่นกัน
    
                “อยากให้อยู่ในวงจรแบบนี้และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ถ้าจะมีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาก็จะอยู่ภายใต้แนวคิดแบบนื้ที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุข ซึ่งมองว่านี่จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ เพราะอย่างที่บอกคือ การขายออนไลน์ เริ่มง่าย แต่ทำต่อเนื่องนั้นยาก”
    
                นอกจากนี้ ยังมองอีกว่า หัวใจสำคัญของการค้าออนไลน์ก็คือความไว้วางใจ เชื่อใจ ซึ่งจะต้องเป็นพื้นฐานของการค้าขายที่จะไม่ได้เห็นหน้ากันโดยตรง และแม้ว่าอาจจะมีเครื่องหมายรับประกันจากภาคราชการ แต่ก็เป็นเพียงเครื่องหมายบ่งบอกความมีตัวตนจริงเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ และมีความเข้าใจต่อลูกค้าเป็นอย่างดี
    
                คุณยุ้ย บอกว่า ไม่เคยใฝ่ฝันมาก่อนว่าจะต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และแม้ว่าทางบ้านจะมีธุรกิจอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดจะต้องไปทำงานกับที่บ้านเช่นกัน สำหรับตัวเอง ในระหว่างที่ทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้ได้ค้นพบว่าเราชอบอะไร และทำอะไรแล้วมีความสุขไปกับมัน ทำให้คิดว่าน่าจะทำงานกับสิ่งที่เราชอบได้ดีกว่าการทำงานที่จะต้องถูกบังคับให้ทำ ซึ่งผลของงานที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน
    
                แม้โดยส่วนตัว คุณยุ้ยไม่มั่นใจว่าอยู่ในฐานะที่จะแนะนำคนอื่นได้หรือไม่ แต่เธอก็ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การจะทำธุรกิจออนไลน์ หรือออฟไลน์ ก็เป็นแค่ช่องทางหนึ่งเท่านั้น
    
                "แต่สุดท้ายแล้วจะต้องถามว่า แก่น ของเราคืออะไรมากกว่า คือมีอะไรที่เราคิดว่าเราจะนำเสนอให้คนอื่นแล้วเขามีความสุขกับสิ่งของที่เขาจ่ายเงินซื้อไป ถ้าเราถามตัวเองได้ เชื่อว่าธุรกิจก็จะตามมาเอง การทำธุรกิจนั้นไม่มีสูตรตายตัว สุดท้ายจะอยู่ที่สไตล์ของเราที่อยากจะสื่อสารกับลูกค้าแบบไหนที่เราคิดว่าใช่ตัวเราจริงๆ”

 

เทคนิคซื้อรองเท้าคู่ใจได้ทั้งความสบายเท้าและคุ้มค่า
    
                การจะเลือกซื้อรองเท้าใส่สักหนึ่งคู่ ที่เป็นรองเท้าคู่ใจอยู่กับเราไปนานๆ นั้นไม่ง่ายนัก ที่เคยเจอมาก็มีทั้งคับไป หลวมไป เสียดสีจนเป็นแผลถลอกปอกเปิกก็มีถมไป บ้างก็หัวรองเท้าแคบจนบีบหน้าเท้าให้เจ็บปวดไปตลอดทั้งวัน นอกจากนี้รองเท้าราคาย่อมเยาอาจจะอยู่กับเราได้แค่วันเดียว แต่หากลงทุนซื้อรองเท้าในราคาที่สูงขึ้นก็จะสามารถอยู่กับเราได้เป็นปีๆ ก็มีอยู่ถมไป
    
                เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณยุ้ย หรือ อัจฉรา พัฒนาไพศาล เจ้าของธุรกิจร้านรองเท้าออนไลน์ ชูส์ รีพับบลิค มีข้อแนะนำดีมาเล่าสู่กันฟัง เธอบอกว่า รองเท้าที่ใส่สบายนั้น นอกจากปัจจัยจากตัวรองเท้าเองแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ รองเท้ากับรูปเท้าของผู้ที่จะสวมใส่จะต้องเหมาะสม และเข้ากันด้วย ซึ่งเทคนิคการเลือกรองเท้าง่ายๆ เวลาใส่แล้วให้ลองดูว่าด้านหน้าปลายเท้าควรจะต้องเหลือพื้นที่อีกอย่างน้อยประมาณ 10 มิลลิเมตร โดยที่ด้านหลังกำลังพอดีๆ เมื่อลองสวมใส่ ให้ตรวจสอบดูว่าความกว้างของรองเท้าพอดีหรือไม่ กว้างมากไปหรือแคบไป อุ้งเท้าและส้นเท้าพอดีกับพื้นรองเท้าที่รองรับได้ส่วนกันอยู่หรือไม่ และขอบรองเท้าต้องไม่ดันหรือกินเนื้อเท้าเข้ามา หรือไม่ควรมีช่องว่างกับเท้ามากเกินไป
    
                ในเรื่องของราคา แน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คนจะคำนึงถึงก่อนตัดสินใจซื้อ แต่จริงๆ แล้วกลับมองว่ายังมีสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น หากเราลองพิจารณาถึง "ราคาต่อครั้ง" ที่สวมใส่ คือ หากรองเท้าราคาหนึ่งพันบาท แต่เราใส่ได้ครั้งเดียวแล้วรู้สึกว่าใส่แล้วเจ็บ ไม่ชอบ ก็จะไม่ใส่อีก ราคาต่อครั้งสำหรับรองเท้าคู่นั้นคือ 1,000 บาท แต่ถ้ารองเท้าอีกคู่ราคา 5,000 บาท ถ้าเราไส่ได้บ่อยๆ ครั้ง เช่น ใส่ 100 ครั้ง ราคาต่อครั้งของรองเท้าคู่นั้นก็จะอยู่ที่ 50 บาทเท่านั้นเอง
    
                "กว่าจะได้เจอรองเท้าที่เป็นรองเท้าเพื่อนคู่ใจ ถูกใจเราและถูกใจเท้าเรา ใส่แล้วสบาย ใส่ได้บ่อยๆ นอกจากจะเลือกไซส์ หรือขนาดที่เหมาะสมแล้ว ถ้าเราเข้าใจลักษณะเท้าของเราเอง ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และรูปแบบการใช้งานของเรา แล้วนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อรองเท้าด้วยแล้ว ก็จะทำให้เรามีโอกาสจะได้เจอรองเท้าที่เรียกว่า solemate คือถูกใจ ใส่ได้บ่อย ก็จะมีความคุ้มค่ามากขึ้นด้วย"
    
                สำหรับการซื้อรองเท้าออนไลน์กับ "ชูส์ รีพับบลิค" นั้น คุณยุ้ยบอกว่า โดยทั่วไปแล้วหากดูทางเว็บไซต์ หรือทางเฟซบุ๊ก ซึ่งอาจจะเห็นเพื่อนกดไลค์ และรูปหน้าเพจเด้งขึ้นมาในหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของเราเอง ตามปกติแล้วคนทั่วไปก็จะดูเฉยๆ และดูไปเรื่อยๆ ก่อนหากตอนนั้นยังไม่มีความต้องการซื้อรองเท้า หรืออาจจะเป็นไว้เป็นตัวเลือกเมื่อถึงเวลาที่ต้องการจะซื้อรองเท้า แต่เมื่อที่ต้องการจะซื้อรองเท้า เช่นจะไปเที่ยวก็อยากหารองเท้าใส่ ก็จะคิดถึงชูส์ รีพับบลิค เข้ามาเป็นตัวเลือก ก็อาจจะเข้ามาเลือกทางเว็บไซต์และกดสั่งซื้อสินค้า
    
                ก่อนตัดสินใจซื้อก็จะส่งข้อความมาถามก่อนทางอีเมล หรืออินบ็อกซ์ เข้ามาถามในช่องทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทางร้านเองจะต้องตอบลูกค้าอย่างรวดเร็วด้วย เพราะลูกค้าเองก็มีความหวังว่าจะได้รับการตอบกลับแบบทันใจ อย่างไรก็ตาม ทางร้านจะพยายามถามข้อมูลจากลูกค้าเพิ่มเติมก่อน โดยเฉพาะความต้องการซื้อรองเท้าของลูกค้า ซึ่งที่เราถามก็เพราะต้องการทำความรู้จักกับลูกค้าก่อนด้วยสำหรับการซื้อรองเท้าคู่แรก จากนั้นก็จะแนะนำเรื่องการวัดไซส์ บอกวิธีวัดให้ลูกค้า เมื่อตกลงเลือกขนาดของรองเท้าและตัดสินใจเลือกซื้อได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการชำระเงิน ที่จะมีทั้งการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือ PayPal ชำระผ่านบัญชีธนาคาร และการชำระเงินสดด้วยบริการ C@sh on Delivery ส่วนวิธีการจัดส่งก็มีทั้งการส่งทางไปรษณีย์ และแมสเซนเจอร์ เป็นต้น
    
                "ต้องบอกเลยว่าสำหรับรองเท้าคู่แรกของลูกค้าเราอาจจะคุยกันมากหน่อย คือเราจะถามเยอะ เพราะเรายังไม่รู้จักกันนัก แต่หลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้น เมื่อลูกค้าเข้าใจรูปเท้าของตัวเองระดับหนึ่ง ผลตอบรับที่ได้รับกลับมาจากลูกค้าก็มากขึ้นเรื่อยๆ และมีการซื้อซ้ำอยู่บ่อยครั้ง อย่างลูกค้าหลายคนเมื่อเข้าใจรูปเท้าตัวเองแล้ว รู้ว่าหากเป็นรองเท้าแบบนี้ต้องใส่ไซส์อะไร หลังๆ ก็จะกดสั่งซื้อรองเท้าออนไลน์ด้วยตัวเองทันที" คุณยุ้ย กล่าว