ข่าว

ครบ1ปีแผ่นดินไหวเชียงรายรอยแผลใหญ่ที่ยากลืมเลือน

ครบ1ปีแผ่นดินไหวเชียงรายรอยแผลใหญ่ที่ยากลืมเลือน

06 พ.ค. 2558

ครบ1ปีแผ่นดินไหวเชียงราย รอยแผลใหญ่ที่ยากลืมเลือน : ทีมข่าวภูมิภาค

    ผ่านมาถึงวันนี้กำลังจะ "ครบรอบ 1 ปี" สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ใน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 โดยเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะ 3 อำเภอใน จ.เชียงราย ได้แก่ อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.เมือง เรียกว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ธรณีพิโรธยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย แม้ว่า ณ วันนี้บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะได้รับการซ่อมแซมให้กลับคืนมาแล้ว
    
    "วีระ ทาชมภู" อายุ 47 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ที่ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้น ยอมรับว่า ยังจำได้แม่นยำว่า ครั้งนั้นต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด พร้อมกับคนในครอบครัว และไม่กล้าที่จะเข้าไปนอนในบ้าน เพราะหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกที่ 6.3 แล้ว ยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงตามมาอีกหลายครั้ง ทำให้ครอบครัวต้องมากางเต็นท์นอนกลางแจ้ง เพราะกลัวว่า หากนอนในบ้าน หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจะหนีเอาชีวิตไม่ทัน
    
    "แผ่นดินไหวในครั้งนี้สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายตั้งแต่พื้นบ้านไปจนถึงหลังคาบ้าน จนทุกวันนี้ผ่านมาได้ 1 ปีแล้ว ผมยังไม่กล้าที่จะซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน หากซ่อมแซมไปก็จะเกิดความเสียหายอีก จึงอยากรอให้อาฟเตอร์ช็อกหยุดไปเสียก่อนจึงจะซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย"
    
    วีระ เล่าต่อว่า หลังจากเกิดเแผ่นดินไหวขึ้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการนำอาหารเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งอำนวยความสะดวกไปมอบให้ประชาชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น โดยทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาในด้านงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย ซึ่งนอกจากรัฐบาลแล้ว ยังมีผู้ใจบุญให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการบริจาควัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ส่วนหนึ่ง
    
    เช่นเดียวกันกับ "ณัฐกร นันต๊ะรัตน์" อายุ 37 ปี สารวัตรกำนัน ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้มีหน่วยงานราชการ และเอกชนเข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนของประชาชนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอมรับว่า หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ใจบุญได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายครอบครัวสามารถซ่อมแซมบ้านที่เสียหายได้อย่างรวดเร็ว
    
    "หนึ่งปีที่ผ่านมา ผมยอมรับว่า ช่วงแรกๆ มีอาการหวาดผวาทุกครั้งที่เกิดอาฟเตอร์ช็อก แต่พอผ่านไปประมาณครึ่งปีก็เริ่มปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่กับแผ่นดินไหวได้"
    
    นอกจากความเสียหายของอาคารบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังมีวัดอีกหลายแห่งใน อ.พาน อ.แม่ลาว และ อ.เมือง ได้รับความเสียหายถึง 151 วัด บางวัดเสียหายหนัก โดยเฉพาะวัดห้วยทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ถือเป็นอีกวัดหนึ่งที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายได้นำงบประมาณจากรัฐบาลมาบูรณะส่วนที่เสียหาย โดยมุ่งหวังให้วัดกลับมาเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง
    
    พระครูอนุกูลวัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดห้วยทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะซ่อมแซมในส่วนที่พังเสียหายไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมาทางวัดได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายที่จัดสรรงบประมาณในการบูรณะซ่อมแซม นอกจากนี้ยังได้เงินอีกก้อนหนึ่งมาจากญาติโยมที่มอบปัจจัยมาช่วยเหลือ ซึ่งทางวัดได้นำเงินทุกบาทที่ได้รับมาบูรณะวัดในส่วนที่เสียหาย แต่ยังมีอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ทางวัดต้องการงบประมาณเพิ่มเติม และหวังว่า รัฐบาลจะให้การช่วยเหลืออีกครั้ง
    
    "หาญ งามเจริญ" ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้วัดใน 3 อำเภอได้รับความเสียหาย จากการสำรวจพบว่า มีถึง 151 วัด โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายได้เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนจะรายงานให้ทางรัฐบาลรับทราบ เพื่อของบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา โดยหลังจากนั้นรัฐบาลได้จัดงบประมาณจำนวน 109,973,700 บาท มอบให้วัดเพื่อบูรณะซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย แต่ปรากฏว่า ขณะบูรณะวัดยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก ทำให้ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ยังมีวัดที่ตกหล่นการสำรวจ ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายออกสำรวจ และของบประมาณบูรณะเพิ่มเติม จากนั้นรัฐบาลอนุมัติงบประมาณมาอีก 37 วัด
    
    "ผ่านมา 1 ปี บางวัดก็บูรณะเรียบร้อยแล้ว บางวัดที่เสียหายหนักก็ยังอยู่ในระหว่างบูรณะ แต่ที่ผ่านมามีองค์กรเครือข่ายต่างๆ เข้าช่วยเหลือวัดที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว โดยรวบรวมปัจจัยมามอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย เพื่อมอบให้วัดต่างๆ"
    
    จากภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน จ.เชียงราย แม้เวลา 1 ปี จะผ่านพ้นไป พร้อมกับร่องรอยความเสียหายที่ถูกบูรณะซ่อมแซมไปแล้ว แต่รอยแผลในใจของผู้ประสบภัยทั้ง 3 อำเภอใน จ.เชียงราย ยังคงจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่มีวันลืม แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด