ในหลวงเสด็จพระราชพิธีวันฉัตรมงคล
"ในหลวง" เสด็จออกมหาสมาคม ประกอบพระราชพิธีเนื่องในวันฉัตรมงคล พสกนิกรปลื้มปีติเฝ้ารอรับเสด็จพร้อมเปล่งเสียงกู่ร้อง "ทรงพระเจริญ" กึกก้อง
วันที่ 5 พ.ค.58 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ จากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล
ทั้งนี้ ตลอด 2 ข้างทางจากโรงพยาบาลศิริราช มีพสกนิกรเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความจงรักภักดี พร้อมกับกล่าวถวายพระพร "ทรงพระเจริญ" และโบกธงชาติ ธงตราสัญลักษณ์ ตลอดเส้นทาง
อนึ่ง วันฉัตรมงคลมีความสำคัญคือ เป็นวันเฉลิมฉลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงกระทำพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์อันดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์
ในการนี้ ร.ท.บรรจบ บรรณรุจิ อดีตอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เขียนบทความเรื่อง "วันฉัตรมงคล"(Coronation Day) เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Banjob Bannaruji" ความว่า
"@ แล้วก็ถึงวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่ง คือ วันฉัตรมงคล หรือ วันบรมราชาภิเษก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
@ ตามวัฒนธรรมของเอเชียโดยเฉพาะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่และสำคัญคือ "ฉัตร" กับ "น้ำ" ฉัตรหรือร่ม เวลาที่คนเราเดินกลางแดดร้อน ก็ยกฉัตรขึ้นกั้นกันความร้อนจนได้ความร่มเย็นแทน ดังนั้น ฉัตรจึงเป็นสิ่งแทนคุณธรรมและความร่มเย็น น้ำ ใช้ดื่ม ชำระล้างสิ่งสกปรก น้ำที่มีปริมาตรเหมาะสมย่อมเป็นตัวเชื่อมประสานสิ่งต่างๆไว้ให้เกาะติดกันเป็นกลุ่มก้อนตั้ง
แต่เล็กไปถึงใหญ่ ที่สำคัญ น้ำ เป็นสื่อรับถ่ายทอดความรู้สึกความขลังความศักดิ์สิทธิ์จากคนเราได้ดี และความศักด์สิทธิ์นั้น ก็กระจาย ไปเป็นรูปธรรมในรูปของน้ำศักดิ์ที่เรียกแบบลังกาว่า น้ำปริตร (ปริตฺโตทกํ) หรือเรียกแบบไทยว่า น้ำมนต์ (มนฺโตทกํ) ดังนั้น น้ำเป็นจึงสิ่งแทนหลายๆอย่าง เช่น ความสะอาด ความร่มเย็น ความสามัคคี ความเชื่อมประสาน การรวมและความสำเร็จ ที่สำคัญคือก่อกำเนิดชีวิตและหล่อเลี้ยงชีวิต
@ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฉัตร กับ น้ำ จึงถูกนำมาใช้ในคราวแต่งตั้ง ผู้นำสูงสุดของมนุษย์ที่เรารียกว่า "ราชา" ซึ่งแปลว่า ผู้ทำให้คนทั้งหลายพอใจ ยินดี หรือสูงสุดก็คือ ทำให้คนรัก ตามหลักของระบบวรรณะที่ใช้ในชมพูทวีป ราชา จะมาจากคนวรรณะกษัตริย์
แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปหมด เพราะมีหลายครั้ง หลายกรณี ที่คนวรรณะอื่นที่มีศักยภาพ ทำให้คนอื่นรักพอใจ ในการ ทำงานก็ได้รับการยกให้เป็น ราชา ได้ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้าประชาชนเอาด้วยก็ได้ แต่ถ้าประชาชนไม่เอาก็เป็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์บาลีจึงมีข้อความอยู่ประโยคหนึ่งที่น่าศึกษาคือ "รชฺชํ กาเรสิ" แปลว่า ยังประชาชนให้ทำความเป็นพระราชา แปลตามรูปศัพท์เข้าใจยากหน่อย แต่ลองถอดความออกมาสิจะเห็นความจริงชัดเจน..
ประชาชนคือคนส่วนมาก ความเป็นพระราชา คือ ความเป็นใหญ่ที่มีอำนาจที่ประชาชนยอมรับ ส่วน การยังประชาชนให้ทำความเป็นพระราชา คือ การแสดงภาวะผู้นำจนประชาชนพอใจยอมรับ การยอมรับนั่นแหละคือฉันทานุมัติที่บอกว่า ข้าพเจ้าพร้อมยอมให้ท่านนำ การให้ประชาชนทำให้เป็นพระราชาแบบนี้เรียกว่า อเนกนิกรสโมสรสมมต และพระราชาแบบนี้แหละที่ต่อมามีการยกฐานะให้เป็นเทพ เรียกว่า สมฺมตเทว หรือ สมฺมติเทว สมมต แปลว่า ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่แปลว่า ของไม่จริง ซึ่งก็คงพัฒนามาจาก มหาสมมต ในอัคคัญญสูตร
@ แต่สิ่งที่แสดงการยอมรับ คือ ฉัตร กับ น้ำ ดังนั้น ในสังคมอินเดียโบราณ จึงมีการมอบ ฉัตร หรือร่ม ให้เป็นเครื่องหมายว่า ได้รับแต่งตั้งแล้ว และหากเป็นพระราชา ก็ต้องรับการอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ (เช่น พระอินทร์ พระพรหม พระอีศวร พระวิษณุ)มาไว้ในตัวผ่านการที่มีพราหมณ์มาทำพิธี "อภิเษก" (สันสกฤต) หรือ "อภิเสก" (บาลี) คือ รดน้ำให้ (ด้วยภาชนะที่สำคัญ คือ ตัวหอยสังข์)
@ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้มาแล้วเมื่อกว่า ๖๐ ปีมาแล้ว ผู้เขียนไม่สันทัดนักกับพระราชพิธี แต่ใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่า พิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์น่าจะเป็น "อเนกนิกรสโมสรสมมต" ได้ เพราะเสียงชายคนหนึ่งที่ตะโกนร้องบอกที่ถนนราชดำเนินวันเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิสเซอร์แลนด์ว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" แล้วพระองค์ทรงตอบเขาอยู่ในพระทัยว่า "เมื่อประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" ดังนั้น คนของพระเจ้าอยู่หัวจึงได้แก่คนทั้งประเทศ...ในจิตสำนึกเทิดทูนพระมหาราชอย่างล้นเปี่ยม....
@ จิรัญชีวตุ มหาราชา - ขอพระมหาราช (ผูที่ประชาชนรักมาก) จงทรงพระเจริญเทอญ"
คนชัยนาทพร้อมใจกันแปรอักษรLONG LIVE THE KING
ที่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกเหล่ากาชาดชัยนาท และพสกนิกรจังหวัดชัยนาท ได้รวมตัวกันบน “สันเขื่อนเจ้าพระยา” ด้วยความยาวกว่า 230 เมตร เพื่อแปรอักษรคำว่า "LONG LIVE THE KING" เป็นการแสดงสัญญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีเนื่องในวันฉัตรมงคล และในวาระครบรอบ 60 ปีที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณในวันนั้น ทำให้ชีวิตชาวชัยนาทในวันนี้อยู่ดีมีสุขอย่างหาที่สุดไม่ได้ โลกจะได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจโดยทั่วถ้วนตราบนาน และที่สำคัญ..จะได้เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในการแสดงความจงรักภักดีถวายแด่พ่อหลวงของปวงไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯตรวจเยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ถือเป็นเขื่อนชลประทานแห่งแรกของประเทศไทย และเสด็จฯมาทรงเปิดใช้เขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2500 นอกจากนี้เมื่อทรงทราบข่าวว่าวัดเนินถ่าน ต.เสือโฮก อ.เมืองชัยนาท ประสบวาตภัยพังเสียหาย พระองค์ท่านทรงเสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ มาทรงเยี่ยมและพระราชทานความช่วยเหลือด้วยพระองค์เอง พสกนิกรชัยนาทจึงพร้อมใจถวายความจงรักภักดี
จัดถวายราชสดุดีวันฉัตรมงคล
ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาที่อาคารวิมลคุณากร นายสุทธิพงษ์พร้อมนางวันดีนำข้าราชการ ตำรวจ ทหารและประชาชน ทำพิธีถวายราชสดุดี แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันที่ระลึกถึงวันพระบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจาอยู่หัวว่า นับตั้งแต่เถลิงถวัลยราชสมบัติพระองค์ได้ทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา สร้างความมั่นคงให้แก่วิถีชีวิตของประชาชน ตามปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ชาวชัยนาทจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระพรขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทและผู้เข้าร่วมพิธียังร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ตะเพียนและปลาสวาย กว่าสองแสนตัว บริเวณเขื่อนเรียงหินด้วย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จังหวัดชัยนาทได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินหลายครั้ง เสด็จทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศเมื่อเกือบหกสิบปีที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 6 พ.ค. ชาวชัยนาทจะร่วมกันทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดเนินถ่าน ตำบลเสือโฮก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและระลึกถึงการเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่วัดเนินถ่านเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2513 ด้วย
ผู้ว่าฯระยองนำพสกนิกรประกอบพิธีถวายราชสดุดี
ที่หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานนำข้าราชการ ประชาชน และกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ในจังหวัดระยอง ประกอบพิธีถวายราชสดุดี เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี พ.ศ.2558 โดยได้นำถวายเครื่องราชสักการะ พานพุ่มทอง-พานพุ่มเงิน และนำกล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี พร้อมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันมงคลสมัยที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำพิธีพระบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
รองผู้ว่าฯสงขลานำถวายเครื่องราชสักการะ
ที่หอประชุมปาริชาตมหาวิทยาลัยทักษิณอ. เมือง จ.สงขลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะและถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารทั้ง 4 เหล่าทัพและประชาชนจังหวัดสงขลา ร่วมถวายเครื่องราชสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน“วันฉัตรมงคล”เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมแสดงความจงรักภักดี แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรากตรำพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์ เพื่อพสกนิกรชาวไทย ตามปฐมราชโองการว่า“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
...............................
(ภาพอนันต์ จันทรสูตร์)