ข่าว

วิปโยคแผ่นดินไหวกลืนเมือง‘โกรข่า’แดนนักรบ

วิปโยคแผ่นดินไหวกลืนเมือง‘โกรข่า’แดนนักรบ

29 เม.ย. 2558

วิปโยคแผ่นดินไหวกลืนเมือง‘โกรข่า’ แดนกำเนิดสายเลือดนักรบ : ทีมข่าวอาชญากรรมและต่างประเทศ

             โศกนาฏกรรมธรณีพิโรธที่ประเทศเนปาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเกิน 3,000 คน บาดเจ็บอีกมหาศาล ไม่นับบ้านเรือน และโบราณสถานที่พังยับเยินจากแผ่นดินไหวระดับ 7.8 นับเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงมากครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ แต่สำหรับชาวเนปาลแล้ว นอกจากจิตวิญญาณความเป็นชาวพุทธแล้ว พวกเขายังมีเลือดของ "นักสู้" อยู่ในตัวอย่างแรงกล้า
    
             วีรกรรมตลอด 200 ปีของกองทหาร "กุรข่า" (Gurkha) เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่กองทัพอังกฤษมานับตั้งแต่อังกฤษยกทัพเข้าสู้รบในสงครามกุรข่า (พ.ศ.2357-2359) ระหว่างอาณาจักรกอร์ข่า (Gorkha) หรือประเทศเนปาลในปัจจุบัน กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company)
    
             ในยุคสมัยนั้นจักรวรรดิอังกฤษยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็นอย่างมาก รบที่ไหน ชนะที่นั่น มีเมืองอาณานิคมอยู่ทั่วทุกมุมโลก จนได้รับการขนานนานว่า เป็น "ดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน" ด้วยแสนยานุภาพทางการทหาร และอาวุธอันทันสมัย
    
             แต่เมื่อกองทัพอังกฤษยกทัพขึ้นเทือกเขาหิมาลัยขึ้นมารบกับกองทหารกุรข่า ซึ่งมีเพียงมีดสั้น "ขัครี" เป็นอาวุธประจำกาย กองทัพอังกฤษถึงกับแตกพ่ายจนไม่สามารถยึดเนปาลเป็นเมืองขึ้นได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
    
             มีตำนานเล่าขานว่า เมื่อทหารอังกฤษตั้งแถวประทับปืนยิงไปยังทหารกุรข่า ทหารกุรข่าที่แม้จะถูกยิงก็ยังกรูกันเข้ามาฟันแทงทหารอังกฤษจนล้มตายเป็นอันมาก ขณะที่กองทหารกุรข่าที่เหลือก็หนุนเนื่องกันมาเป็นระลอกจากยอดเขาลงมาจนกองทัพอังกฤษต้องแตกพ่ายกลับลงไป
    
             วีรกรรมอันห้าวหาญของทหารกุรข่าทำให้อังกฤษหันมาใช้ยุทธศาสตร์ "ดึงเข้าเป็นพวก" แทนการตั้งตนเป็นศัตรู โดยหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกกับเนปาล กองทัพอังกฤษจึงได้ว่าจ้างทหารกุรข่าเป็นทหารในสังกัดกองทัพอังกฤษ โดยอาศัยจิตใจนักรบที่ "ยอมตาย-ดีกว่าอยู่อย่างขี้ขลาด" ของกุรข่าเป็น "แนวหน้า" ในทุกสมรภูมิ แต่ทหารกุรข่าก็สามารถพิชิตชัยได้เสมอ
    
             ทหารกุรข่าได้เริ่มเข้ามาเป็นทหารของอังกฤษในกองทัพของบริษัท อินเดียตะวันออก ในสงครามพินทรี (Pindaree) ในปี พ.ศ.2360 และภรตปุร ในปี พ.ศ.2369 และสงครามอังกฤษ-สิกข์ ครั้งแรกปี พ.ศ.2389 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2391
    
             จากนั้นได้เข้ามาต่อสู้ให้อังกฤษในสงครามการก่อกบฏของชาวอินเดีย (Indian Rebellion) ในปี พ.ศ.2400 โดยกองพันที่ 8 (ซีมัวร์) ได้สร้างผลงานยอดเยี่ยมในระหว่างการจลาจล โดยมีการมอบรางวัลเหรียญกล้าหาญ จำนวน 25 เหรียญ ให้แก่กำลังพลจากการปิดล้อมกรุงเดลี
    
             ในระหว่างการปิดล้อมกรุงเดลีเป็นเวลา 4 เดือน ทหารกุรข่าต้องประสบความสูญเสียถึง 327 นาย จาก 490 นาย ซึ่งสะท้อนถึงเลือดนักรบของทหารกุรข่า ผู้ยอมตาย-ดีกว่าอยู่อย่างขี้ขลาด ได้เป็นอย่างดี
    
             หลังเสร็จศึกปราบจลาจลกองพันซีมัวร์ได้ปรับเป็นกรมไรเฟิลซีมัวร์ และมีธงประจำหน่วย โดยในปี พ.ศ.2406 พระราชินีวิคตอเรียได้พระราชทานคทาแก่กรมแทนธงประจำหน่วยเดิม
    
             เสร็จจากภารกิจปราบจลาจลในอินเดีย ทหารกุรข่าได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยออกปฏิบัติการในพม่า อัฟกานิสถาน ชายแดนเกาหลีเหนือ มลายู จีน และทิเบต ระหว่างปี พ.ศ.2444 โดยในปี พ.ศ.2449 กองพลกุรข่าได้รับการจัดตั้งเป็นกองพลทหารปืนเล็ก มีทั้งหมด 10 กองพล โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 20 กองพัน
    
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีทหารกุรข่ามากกว่า 2 แสนนาย ในกองทัพอังกฤษ แต่บาดเจ็บล้มตายไปราว 2 หมื่นนาย และได้รับเหรียญกล้าหาญถึง 2,000 เหรียญ
    
             ส่วนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกำลังพลทหารกุรข่า 250,280 นาย ใน 40 กองพัน โดยมีภารกิจรักษาความสงบในอินเดีย ตลอดจนการสู้รบในซีเรีย แอฟริกาเหนือ อิตาลี กรีซ รวมทั้งการสู้รบกับกองทัพสู้กับญี่ปุ่นในพม่า และในสิงคโปร์ทหารกุรข่าได้รับเหรียญกล้าหาญจำนวน 2,734 เหรียญ และเสียชีวิตไปประมาณ 3.2 หมื่นนาย

             วีรกรรมของทหารกุรข่ายังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง เช่น สงครามเกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินา ซึ่งทหารกุรข่าเป็นทหารแนวหน้าที่เข้าประจัญบานกับข้าศึก หรือในสงครามในอิรัก ซึ่งกองทหารกุรข่าเข้าประจัญบานกับกองกำลังเรดการ์ดของ ซัดดัม ฮุสเซน จนสามารถเอาชนะได้อย่างดุเดือด
    
             อัตลักษณ์ของทหารกุรข่ายังคงเฉกเช่นดิน คือ ต่อให้กระสุนหมด เหลือแค่มีดสั้นด้ามเดียว..พวกเขาก็เลือกที่จะวิ่งเข้าไปแลกชีวิตกับศัตรู แทนที่จะวิ่งหนีเอาชีวิตรอด
    
             หมดจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารกุรข่าก็ยังประจำการอยู่ในกองทัพอังกฤษเช่นเดิม ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ความหยิ่งทะนงในเลือดนักรบที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และ 2. แรงผลักดันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรายได้จากการเป็นทหารในกองทัพอังกฤษจะสูงกว่ารายได้เฉลี่ยภายในประเทศถึง 20-30 เท่า
    
             ปัจจุบันนอกจากทหารกุรข่าชายแล้ว จากกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศของอังกฤษทำให้เริ่มมี "ทหารกุรข่าหญิง" เข้าประจำการในกองทัพอังกฤษบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นอดีตกองกำลังติดอาวุธลัทธิเหมาที่เข้าสู่กระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลเนปาล
    
             สถานที่ฝึกคัดเลือกสุดยอดทหารหญิงมีขึ้นที่เมือง "โปขรา" บนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นอีกเมืองที่ประสบความสูญเสียร้ายแรงจากแผ่นดินไหว หลักสูตรนี้ใช้เวลาฝึกราว 3 สัปดาห์ โดยมีวิธีการฝึกคัดเลือกที่สุดโหด-หินที่สุดหลักสูตรหนึ่งของโลก เช่น วิ่งขึ้นลงเทือกเขาหิมาลัย 5 กิโลเมตร พร้อมแบกหินหนัก 35 กก.ไว้บนหลัง เป็นต้น
    
             อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการรับทหารกุรข่าลดลงจากยุคสมัยที่มีสงครามขนาดใหญ่มาก โดยแต่ละปีจะมีเด็กหนุ่มอายุตั้งแต่ 17.6-21 ปี สมัครเข้าเป็นทหารประจำการในกองทัพอังกฤษประมาณ 2-3 หมื่นคน แต่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะมีเพียง 150-200 คนเท่านั้น
    
             คุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกนอกจากจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเข้าขั้นทรหดแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบระดับสติปัญญา ไหวพริบ และต้อง "พูดภาษาอังกฤษ" ได้ด้วย ทำให้เด็กกุรข่าที่ใฝ่ฝันเป็นทหารทุกคนต้องเร่งเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ตั้งแต่เด็กๆ หากหวังที่จะเดินตามรอยบรรพบุรุษ และหวังที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
    
             ขณะที่ภารกิจของทหารกุรข่าในปัจจุบัน นอกจากจะถูกส่งไปประจำการตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ของอังกฤษแล้ว พวกเขายังถูกส่งไปประจำ "สถานทูตอังกฤษ" ทั่วโลก สังเกตได้ง่ายๆ ว่า หากพบเห็นทหารหน้าตาเอเชีย (ไม่ค่อยจะออกอินเดีย แต่ออกไทยผสมจีนนิดๆ) พร้อมพกมีดสั้นเป็นอาวุธประจำกายก็มั่นใจได้เลยว่า ท่านได้เจอทหารกุรข่าในตำนานเข้าให้แล้ว
    
             คุณสมบัติของนักรบตามแบบฉบับทหารกุรข่าสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็น "เนปาล" ได้เป็นอย่างดี คือ ซื่อสัตย์ อดทน พอเพียง และไม่ยอมพ่ายแพ้ แม้ต้องสละด้วยชีวิต ทำให้ชาวโลกมั่นใจได้เลยว่า ต่อให้พวกเขาจะเผชิญพิบัติภัยทางธรรมชาติร้ายแรงสักเพียงใด แต่ด้วยจิตวิญญาณนักสู้แบบชาวเนปาล จะทำให้พวกเขากลับมาหยัดยืนได้อย่างสง่างามอีกครั้ง

           ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลจะได้ภาพชัดเจน ต่อเมื่อเข้าถึงหมู่บ้านห่างไกลได้ครบทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว 7.8 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ โกรข่า (Gorkha) ที่อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงเนปาล ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร มีประชากรราว 2.88 แสนคน อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆประมาณ 1,000 แห่ง บนพื้นที่ 3,600 ตารางกิโลเมตร 

            แผนที่ที่หน่วยงานสหประชาชาติในเนปาลจัดทำในปี 2555 พบว่า ที่เขตโกรข่า มีโรงเรียนอยู่หลายแห่ง และโรงพยาบาลสองแห่ง

            จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และผู้รอดชีวิตระบุว่า บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่พวกเขาอยู่ ถูกทำลายเกือบ 90%  แต่ผ่านไปสามวัน ยังไม่อาจบอกได้ว่าสถานการณ์แท้จริงเป็นอย่างไร การเข้าถึงทางบกแทบเป็นไปไม่ได้เพราะดินถล่ม บางชุมชนห่างไกลมาก แม้ในสภาพปกติยังต้องใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน

            "บาบูรัม ภัตตาไร" อดีตนายกรัฐมนตรีเนปาลที่เห็นภาพบ้านเกิดขณะขึ้นเครื่องบินมองลงมา กล่าวว่า ถนนเข้าหมู่บ้านของเขาถูกทำลายและเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่มีทางจะเข้าถึงได้ ซึ่งเกรงว่าหมู่บ้านอื่นอีก 1,000 แห่งในโกรข่า น่าจะมีสภาพไม่ต่างกัน

            แมตต์ ดาร์วาส เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากเวิลด์ วิชั่น ที่เข้าถึงพื้นที่ได้เป็นองค์กรแรกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรยายว่า ผู้รอดชีวิตนั่งอยู่บนกองซากหักพังของบ้านตัวเองท่ามกลางฝนเทกระหน่ำ บางคนโชคดีหน่อยหากผ้าใบพลาสติกมาทำเป็นที่คุ้มภัย แต่ไกลออกไปทางเหนือ สถานการณ์ยิ่งแย่กว่านี้ 

            โกรข่า มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ประวัติศาสตร์แห่งประเทศในดินแดนหิมาลัยแห่งนี้
       
            ปลายศตวรรษที่ 18 พระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาห์ แห่งราชวงศ์ชาห์ หรือ ศาห์  ซึ่งต่อมา ปกครองเนปาลนานกว่า 200 ปี นำแคว้นโกรข่าทำสงครามขยายดินแดนและรวบรวมกาฐมาณฑุ ปาฏัน และกีรติปุร์ ที่เคยเป็นเอกเทศ เป็นแผ่นดินเดียวกัน ที่เรียกว่า เนปาลในปัจจุบัน ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งเนปาล และชาวโกรข่าเป็นกลุ่มชนที่สถาปนาประเทศ

            จัตุรัสโกรข่า หรือ โกร์ข่า ดูบาร์ เป็นสถานที่ประสูติของกษัตริย์ชาห์ ซึ่งสวรรคตเมื่อปี 2318 เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณสถานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กันคือวัดฮินดู มานากามานา ที่สร้างถวายพระนางปวารตี เทพแห่งการประทานพร

            สื่อท้องถิ่นรายงานว่า สถานที่ทั้งสองแห่งเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวเช่นกัน

            โกรข่า ยังเป็นต้นกำเนิดของทหารผู้แกร่งกล้า ที่รู้จักทั้งในชื่อ โกรข่า และกุรข่า ในปัจจุบัน (Gorkhas/Gurkhas)