
จับตารอยเลื่อนสกาย-ภูเขาไฟใต้น้ำเขย่าไทย
จับตารอยเลื่อนสกาย-ภูเขาไฟใต้น้ำ แผ่นดินไหวเขย่าไทย : นิธิศ นาเจริญรายงาน
แผ่นดินไหวระดับ 7.8 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ที่เกิดขึ้นทางตอนกลางของประเทศเนปาล สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง และสร้างความสะพรึงกลัวให้แก่คนทั่วโลก ตอกย้ำความโหดร้ายของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนข้างถี่ในรอบไม่กี่ปี่ที่ผ่านมาบนโลกใบนี้
ในไทยเองมีความหวาดหวั่นต่อภัยพิบัติแผ่นดินไหวค่อนข้างมาก เพราะเมื่อกลางปี 2557 ก็เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.1 มีศูนย์กลางอยู่ใน อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่ จ.เชียงราย และหลายจังหวัดของภาคเหนือตอนบนมากพอสมควร
ฉะนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลครั้งนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ กลายเป็นคำถามตามมาว่าแผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่อย่างไร
ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า แผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาล เป็นผลมาจากการถ่ายเทความร้อนใต้แผ่นเปลือกโลกจนกลายเป็นแผ่นเปลือกโลกใหม่ หรือที่เรียกว่า แผ่นธรณีใหม่ ตรงกลางมหาสมุทร แล้วเกิดการดันขึ้นมา ทำให้แผ่นเปลือกโลกอินเดียและออสเตรเลียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียเกิดการแยกออกจากกันเป็นแนวมุดตัวจากทางใต้เข้าหาทางเหนือจนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น
ดร.ภาสกร กล่าวว่า ในอดีตแผ่นเปลือกโลกอินเดียและออสเตรเลียเคยเป็นมหาสมุทรมาก่อน จึงมีความบาง เมื่อชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียซึ่งมีความหนาจึงเกิดการมุดตัวลงไปข้างใต้ ซึ่งจะมีการเคลื่อนตัวปีละประมาณ 4-5 เซนติเมตร โดยจุดที่ชนกันเป็นแนวยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ทำให้บริเวณนี้เกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยและมีความรุนแรง เช่นเดียวกับแนวขอบแผ่นเปลือกโลกที่ชนกันทุกแห่งทั่วโลก มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้บ่อยเช่นกัน ซึ่งบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกจะเห็นเป็นแนวที่ชัดเจน
"แผ่นดินไหวในเนปาลไม่ได้เหนือความคาดหมายเพราะการชนกันของแผ่นเปลือกโลกมีมากว่า 20 ล้านปีแล้ว โดยแนวที่ชนกันคือเทือกเขาหิมาลัย และเมื่อพิจารณาจากภาพตัดขวางจะเห็นว่าพื้นที่ตลอดแนวเทือกเขาหิมาลัยมีแนวรอยเลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งแนวรอยเลื่อนเล็กๆ จะต่อกันเป็นรอยเลื่อนใหญ่ สามารถเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา" ดร.ภาสกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ภาสกร ยืนยันว่า แผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาล ไม่น่ามีผลกระทบโดยตรงกับแนวรอยเลื่อนมีพลังจำนวน 14 รอยเลื่อนในไทย แต่ที่ต้องเฝ้าติดตามคือผลกระทบที่มีความกังวลว่าจะส่งผลต่อแนวรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกสะแกงหรือสกาย ที่พาดผ่านประเทศพม่าผ่านลงมายังทะเลอันดามัน บริเวณรอยเลื่อนนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทางตอนเหนือและตะวันตกของไทย
“ต้องเฝ้าติดตามว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะกระทบกับรอยเลื่อนสกายบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะทิศทางการเกิดแผ่นดินไหวคนละทิศทางกัน” ดร.ภาสกร กล่าว
ดร.ภาสกร กล่าวด้วยว่า รอยเลื่อนสกายเป็นแนวยาวทอดตัวอยู่ในพม่าตามแนวระนาบ ห่างจากแนวชายแดนประเทศไทยจากภาคเหนือตอนบนไม่มากนัก ไล่ลงไปตลอดแนวภาคตะวันตกและลงไปในทะเลอันดามัน ตลอดแนวรอยเลื่อนนี้เกิดแผ่นดินไหวอยู่เป็นระยะ ในระดับ 3 มีเกิดขึ้นบ่อยมาก และมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึงระดับ 8 ได้ด้วย ทำให้เกิดข้อกังวลว่าหากเกิดแผ่นดินไหวตรงรอยเลื่อนสกายตรงละติจูดใกล้กับ จ.กาญจนบุรี อาจมีผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากชั้นดินของกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อนปากแม่น้ำ
"มีความกังวลกันว่าหากเกิดแผ่นดินไหวใกล้กับกาญจนบุรี กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกลเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะซ้ำรอยกรณีเม็กซิโกซิตี้เมื่อหลายปีก่อน เพราะกรุงเทพฯ มีชั้นดินอ่อน ซึ่งบ่อยครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะทางที่ไกลในอินโดนีเซีย หรือในจีน บนตึกสูงในกรุงเทพฯ ก็สามารถรับรู้ได้" ดร.ภาสกร กล่าว
รอยเลื่อนสกายพาดผ่านลงไปยังทะเลอันดามัน ซึ่งบริเวณนั้นมีแนวภูเขาไฟใต้ทะเลอยู่ใกล้กับหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ หรือที่เรียกว่าภูเขาไฟใต้ทะเลบาร์เรน ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.9 มาแล้ว
บริเวณนี้ห่างจากพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทยไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 ในลักษณะแนวดิ่งมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดชายทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทยได้
“เรากังวลใจเกี่ยวกับรอยเลื่อนในไทย 14 แห่งมากกว่า เพราะระยะหลังเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนืออย่างเช่นที่เชียงรายเมื่อกลางปีที่แล้วมีความรุนแรงเกินระดับ 6 ซึ่งหากเกิดขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมืองจะสร้างความเสียหายได้มาก” ดร.ภาสกร กล่าว
สอดคล้องกับ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า แผ่นดินไหวในเนปาลไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับรอยเลื่อนสกายในพม่าที่มีพลังเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้งและอยู่ใกล้กับไทยมากพอสมควร
ศ.ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่บริเวณนี้อาจส่งผลกระทบไทยได้ เช่นเดียวกับแนวภูเขาไฟใต้น้ำบริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากแนวรอยเลื่อนสกายที่พาดผ่านลงไปยังทะเลอันดามัน ภูเขาไฟบริเวณนี้มีการสะสมพลังงานอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดระเบิดหรือปะทุในความรุนแรงระดับใด หากระเบิดรุนแรงต่อเนื่อง แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในแนวดิ่งก็อาจจะส่งผลกระทบมายังภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทยได้