
เนปาลวิปโยค...ธรณีแปรสัณฐานไทยเสี่ยงหรือไม่?
เนปาลวิปโยค...ธรณีแปรสัณฐานไทยเสี่ยงหรือไม่?
“แผ่นดินไหวเนปาล เป็นไปตามทฤษฎี "ธรณีแปรสัณฐาน" เพราะหลายล้านปีที่ผ่านมา เทือกเขาหิมาลัยสูงขนาดนี้ได้เพราะเกิดจากแรงยกตัวสูงขึ้นของเปลือกโลก เป็นแรงดันจากการมุดตัวของแนวแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นซ้อนกันอยู่ หมายถึงแผ่นอินเดียมุดเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย เกิดการโก่งตัวเป็นแนวเทือกเขาขนาดใหญ่ พอเวลาผ่านไปหลายร้อยปีรอยต่อเปลือกโลกก็พลังสะสมใหม่ขึ้นเรื่อย และเมื่อแรงดันสะสมจนเก็บไว้ไม่ไหวแล้ว เปลือกโลกก็ขยับตัวอีก ทำให้ไม่มีใครพยากรณ์หรือคาดเดาได้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไร”
รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหววิเคราะห์ให้ฟังถึงกรณีที่เกิดขึ้นในเนปาลสร้างความเสียหายร้ายแรง เพราะจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และขนาดของแผ่นดินไหวร้ายแรงถึงระดับ 7.8 เชื่อว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอีกหลายระลอก ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวที่ประเทศไทยนั้น รศ.ดร.สัมพันธ์อธิบายว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่ช่วงรอยต่อของเปลือกโลกจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7-8 ส่วนกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.3 ที่เชียงรายนั้น คิดว่าคงต้องทิ้งระยะเวลาอีกสักพักกว่าเปลือกโลกจะสะสมพลังขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะนานกี่ปี
ย้อนไปเมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของประเทศไทย จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณอ.แม่ลาว จ.เชียงราย วัดความสั่นสะเทือนได้ถึงระดับ 6.3 จากนั้นเกิดอาฟเตอร์ช็อกเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กตามมาอีกกว่า 1 พันครั้ง วิเคราะห์กันว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่สะสมพลังมานานในพื้นที่ภาคเหนือ โดยลักษณะของแผ่นดินไหวเป็นแบบ "รอยเลื่อนแนวราบ”
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหวเชียวรายสรุปสถานการณ์ความเสียหายว่า มีอาคารบ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง สถานที่ราชการกว่า 100 แห่ง แม้ว่ามีประชาชนเสียชีวิตเพียง 2 ราย แต่ส่งผลกระทบไปทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และกำแพงเพชร
หากเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศเนปาลตั้งอยู่บริเวณของรอยต่อเปลือกโลกซึ่งเป็นบริเวณเส้นแนวมุดตัวระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียที่มีความยาวถึงกว่า 3 พันกิโลเมตร ขณะที่ ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ช่วยรอยต่อเปลือกโลก แต่อยู่ด้านในของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย โดยล้อมรอบด้วยแผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ถึงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยว่าค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ไม่ได้มีรอยต่อแผ่นเปลือกโลกมีเพียง14 กลุ่มรอยเลื่อนที่สะสมพลังไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่สามารถประมาทได้ ดังบทเรียนของเนปาลที่ 80 ปีก่อนเกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 จากนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงอีกครั้ง แต่กลับมีแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 100 ปี
“กรณีเชียงรายเหมือนกัน ทำให้นักวิชาการด้านนี้ตื่นเต้นกันมาก แทบไม่มีใครเชื่อว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 จะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ ทุกวันนี้การเรียนการสอนและการป้องกันแผ่นดินไหวต้องรื้อถอนวิธีคิดแบบเดิมออกหมด จากทฤษฎีธรณีแปรสัณฐานที่วิเคราะห์จากเปลือกโลกแผ่นต่าง ๆ ไทยไม่มีรอยเลื่อนที่น่าเป็นห่วงก็จริงถ้าเปรียบเทียบพม่าหรือจีน แต่ประมาทไม่ได้เพราะอาจมีรอยเลื่อนที่สะสมพลังไว้และพร้อมที่จะปลดปล่อยออกมาเมื่อไรก็ได้ ”
ผศ.ดร.ภาสกร แนะนำว่าควรนำกรณีเนปาลมาเป็นบทเรียนสำคัญในการเตรียมรับมือ จากนี้ไปอาคารบ้านเรือนที่ก่อสร้างใหม่ต้องออกแบบโดยคำนึงถึงภัยแผ่นดินไหวด้วย และควรเตรียมพร้อมสถานที่และวิธีรับมือฉุกเฉินในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะอาคารพื้นที่สาธารณะมีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก จากเดิมวางมาตรฐานรับแผ่นดินไหวขนาดไม่เกิน 6 จากนี้ไปต้อง 7 หรือมากกว่า ที่สำคัญคือหน่วยรับมือฉุกเฉินกรณีเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรง
ทั้งนี้การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนมี 3 แบบด้วยกันคือ 1.รอยเลื่อนแนวนอน (strike-slip fault) รอยเลื่อนเคลื่อนที่ระดับเดียวกัน 2.รอยเลื่อนปกติ (normal fault) หมายถึงแผ่นดินอยู่ด้านบนเคลื่อนลงมาข้างล่างตามแรงโน้มถ่วงปกติ 3.รอยเลื่อนย้อน (reverse fault) แผ่นดินไหว กรณีที่เกิดในเนปาลนั้น สามารถรุนแรงได้ถึงระดับ 6.8 นั้น เนื่องจากรูปแบบการเคลื่อนตัวของเป็นลักษณะ “รอยเลื่อนย้อน” หมายถึง แผ่นดินอยู่ข้างล่างภูเขาหิมาลัยเคลื่อนที่ย้อนขึ้นไปตามแรงอัดจากใต้ผิวโลก
ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 3 พันคน มีการวิเคราะห์ว่า จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกหรือแผ่นดินไหวขนาดกลางและเล็กตามมาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี