
50 ปี กฎของมัวร์
18 เม.ย. 2558
เวิลด์วาไรตี้ : 50 ปี กฎของมัวร์
เมื่อครั้งที่ นายกอร์ดอน มัวร์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารแฟร์ไชลด์ เซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์ ได้ตั้งทฤษฎีที่เป็นพื้นฐาน หรือหลักการที่ผู้ผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์รุ่นหลังยึดถือกัน จนกลายเป็นกฎที่ผู้ผลิตจะดำเนินแนวทางการพัฒนาตามความคิดของนายมัวร์มาโดยตลอด
ในวงการเซมิคอนดักเตอร์เรียกกฎนี้ว่า "กฎของมัวร์" ที่มีคำพูดง่ายๆ แต่ลึกซึ้งว่า "จำนวนทรานซิสเตอร์(ในชิพเซมิคอนดักเตอร์)จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆปี"
กฎของมัวร์ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาได้ 50 ปีพอดิบพอดีในวันที่ 19 เมษายน 2558 นี้ แต่กฎของมัวร์กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ว่าจะยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ต่อไป หรือจะกลายเป็นแค่ตำนานที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมชิพเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ในมุมมองของมัวร์ในเวลานั้น เห็นว่าการผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปในแผงวงจรหลักของชิพ ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งปีผู้ผลิตจะสามารถลดขนาดสถาปัตยกรรมการผลิตลงได้มากพอจนสามารถเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปได้เท่าตัว และผู้ผลิตจะเลือกเดินตามเส้นทางนี้เว้นแต่เทคโนโลยีของผู้ผลิตรายนั้นไม่เพียงพอซึ่งจะทำให้การเพิ่มทรานซิสเตอร์เข้าไปนั้นลดผลกำไรลง
ซึ่งผู้ผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบันเดินทางจนมาถึงทางตันของการเพิ่มประสิทธิภาพชิพด้วยการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปแล้ว จึงต้องใช้วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพชิพเซมิคอนดักเตอร์ด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการเพิ่มแกนประมวลผลเข้าไปแทน
แนวโน้มของการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์เข้าไปในแผงวงจรตามกฎของมัวร์ เริ่มที่จะไม่เป็นจริงเมื่อสองทศวรรษก่อนที่เทคโนโลยีการผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์มีการ "ก้าวกระโดด" จนทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มทรานซิสเตอร์เข้าไปในแผงวงจรได้มากเกินกว่าที่ระบุไว้ในกฎของมัวร์
นอกจากนั้นในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังทำลายกฎของมัวร์อย่างไม่เหลือเยื่อใย ยกตัวอย่างเช่นการผลิตชิพประมวลผลกราฟฟิก (จีพียู) ที่ไม่เพียงแค่มีการเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์จำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณหลากหลายมิติ ตัวเลขยกกำลังจำนวนมหาศาล ที่เป็นพื้นฐานของภาพกราฟฟิกบนจอมอนิเตอร์
ยิ่งไปกว่านั้นกฎของมัวร์ยังนำมาใช้กับการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะคอมพิวเตอร์แบบนี้อาศัยการเคลื่อนที่ของอะตอมในการคำนวณ ไม่ใช่จำนวนทรานซิสเตอร์บนชิพประมวลผล
แม้กฎของมัวร์ที่มีอายุครบ 50 ปี จะถูกทำลายลงไปแล้วด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีการผลิตชิพประมวลผล ที่ก้าวล้ำเกินความคิดของนายมัวร์ผู้ตั้งกฎนี้ขึ้นมา แต่เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า "กฎของมัวร์" ที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของนายกอร์ดอน มัวร์ เมื่อ 50 ปีที่แล้วนั้นมีความยิ่งใหญ่ในฐานะ กฎที่ผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์ใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนามาตลอดหลายทศวรรษ จนทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ใช้งานอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงดังเช่นทุกวันนี้