
ยักษ์มีตะบอง
ยักษ์มีตะบอง : 'จอกอ'จักร์กฤษ เพิ่มพูล
ในฐานะที่เคยมีบทบาท และประสบการณ์ที่ยาวนานพอสมควร ในองค์กรกำกับ ดูแลสื่อ เมื่อถูกถามว่า การกำกับดูแลสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ในหลักของการดูแลกันเอง เป็นมรรค เป็นผลเพียงใด ในปัจจุบัน
ผมคงตอบได้ว่า เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพตามความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยว่า องค์กรวิชาชีพ เป็นเสือกระดาษ หรือยักษ์ไม่มีตะบอง เพราะพวกเขาไม่ได้มีความรู้ และความเข้าใจในโครงสร้างขององค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ก่อเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ ปลอดจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนทุกรูปแบบ
ถ้าเช่นนั้น ก็ให้มีกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อ ให้มีใบอนุญาตและผู้มีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีการลงโทษ เช่นเดียวกับองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย เช่น แพทยสภา สภาทนายความ เสือกระดาษก็จะกลายเป็นเสือที่มีเขี้ยวเล็บ ยักษ์ก็จะมีตะบองไว้จัดการสื่อที่ออกนอกลู่นอกทางได้
เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีการช่วงชิงพื้นที่ความคิดกันมาระยะหนึ่งแล้ว คนข้างนอกก็จะมองว่า การมีกฎหมาย การมีใบอนุญาต การมีอำนาจพิเศษ จะเป็น “ยาแรง” ที่จะแก้โรคร้ายของความไม่รับผิดชอบของสื่อได้
และหากเป็นคนที่ไม่เคยสนใจรายละเอียดการทำงานขององค์กรสื่อ หรือมีใจที่คับแคบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะชี้นิ้วปรามาสว่า องค์กรสื่อล้มเหลวในการกำกับดูแลกันเอง จึงจำเป็นต้องคิดอ่าน สร้างเครื่องมือขึ้นมากำกับสื่ออย่างเข้มงวด ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันไป เพราะมันเป็นเรื่องอนาคต ที่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ถ้าออกแบบกลไกเข้มในการกำกับ ควบคุมจริยธรรมสื่อ จะให้ผลในเชิงจินตนาการตามที่พวกเขาคิดหรือไม่
ผมยอมรับว่า มีเหตุผลอยู่บ้าง ที่จะต้องทบทวนกลไกการกำกับ ดูแลกันเอง โดยมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นตัวอย่าง ในฐานะองค์กรกำกับที่มีอายุยาวนานที่สุดในประเทศไทย ก็เป็นเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวไปตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป
มิใช่การปรับตัวเพราะองค์กรกำกับที่มีอยู่มันเลวร้าย จนไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว แต่จะปรับอย่างไรนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงคือปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพการเป็นเจ้าของ เงินทุน ปัจจัยการแข่งขัน และสุดท้ายคือผู้บริโภค
นักวิชาการสื่อ กลุ่มผู้บริโภคชั้นนำ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติบางส่วน บอกว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ เสนอแต่ข่าวหวือหวา ไร้สาระ เสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็กและสตรี เสนอข่าวที่เป็นการซ้ำเติมชะตากรรมและลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
แต่เว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์บางฉบับ เสนอข่าวเช่นนี้ จำนวนคนอ่านทะยานจากจำนวนไม่กี่ร้อยคนขึ้นไปแตะหลักล้าน นี่ก็เป็นปัจจัยผู้บริโภค ที่ตอบโจทย์ความเป็นธุรกิจสื่อ มากกว่าตอบโจทย์เรื่องความรับผิดชอบ และน่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะนั่นคือความอยู่รอดในยุคของอุตสาหกรรมสื่อ
ประเด็นจึงอยู่ที่คุณภาพของผู้บริโภคสื่อทั่วไปที่เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ มันไม่ใช่ความผิดที่พวกเขาสนใจข่าวประเภทนั้น เพราะนั่นคือข่าวที่ตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในกรณีเช่นนี้ "การรู้เท่าทันสื่อ" รวมทั้ง "พฤติกรรมการบริโภคสื่อ" จึงเป็นปัญหานำการแสวงหาทางออกในการกำกับ ดูแลสื่อให้มีความรับผิดชอบ หาใช่ความคิดในเชิงจินตนาการที่มองปัญหาสื่อในมิติโลกแบน
หากจะมีกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ก็อาจไม่ได้สำคัญมากนัก เพราะตราบที่ผู้บริโภคสื่อยังไม่มีความเข้มแข็ง หรือมีความรู้เท่าทัน ที่จะชวนกันให้ปฏิเสธสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ
หรือในบรรดาผู้ประกอบอุตสาหกรรมสื่อด้วยกันเอง ยังคิดถึง “ยอดขาย” มากกว่า “เนื้อหา” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิด เมื่อต้องจ่ายเงินมหาศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งคลื่นความถี่ ปฏิรูปสื่อก็คงต้องย่ำเท้าอยู่กับที่ต่อไป