
มหากาพย์มอปลาย่างจากเพิงขายปลาสู่บุกรุกถาวร
มหากาพย์มอปลาย่าง จากเพิงขายปลาสู่บุกรุกถาวร : เกษม ชนาธินาถรายงาน
การผลักดันร้านค้าริมลำตะคอง บริเวณ "มอปลาย่าง หรือ มอย่างปลา" เป็นความพยายามที่มีอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่งจะเห็นผลที่สุดก็ในสมัยของ นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนปัจจุบัน ซึ่งทราบปัญหาถึงก้นบึ้ง เนื่องจากเคยปฏิบัติหน้าที่ร่วม 18 ปี ตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อกลางปี 2557 จึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง
“มอปลาย่าง” เป็นร้านอาหารริมถนนมิตรภาพ ด้านขาเข้าเขตจังหวัดนครราชสีมา บริเวณเลียบอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ย้อนรอยเมื่อปี 2507 ได้ประกาศสำรวจออกแบบก่อสร้างเขื่อนลำตะคอง เพื่อกักเก็บน้ำดิบให้ชาวโคราชได้ใช้อย่างเพียงพอ ภาครัฐได้เยียวยาชาวบ้านที่มีที่ทำกินอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงดำเนินการสร้างเป็นนิคมลำตะคอง เพื่อให้อยู่ทดแทน
จนกระทั่ง ปี 2512 เขื่อนลำตะคองเปิดใช้งานเป็นทางการ ชาวบ้านเล็งเห็นประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ ประกอบอาชีพประมงน้ำจืด นำเรือออกหาปลาในเขื่อน เป็นวิถีชุมชน เหมือนกับเขื่อนขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง ส่วนหนึ่งได้สร้างกระท่อมหลังเล็กๆ ริมถนนมิตรภาพ สร้างรายได้ โดยนำปลามาประกอบอาหารขายให้แก่ผู้ที่สัญจร เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว จากนั้นกระท่อมได้ปรับเปลี่ยนร้านอาหาร เริ่มแรกมี 22 ร้าน
กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตามกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษฐานบุกรุก แต่อำนาจหน้าที่ไม่สามารถไปรื้อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ได้ ต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แต่ก็ถูกเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย
ประกอบกับมีนักการเมืองในแต่ละสมัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอให้ใช้หลักประนีประนอมเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย อ้างเหตุผล “ให้โอกาสคนยากจนทำมาหากิน” และยังมีผู้มีอำนาจบางรายพยายามผลักดันให้ผู้บุกรุกได้เช่าที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้อง สร้างความอึดอัดใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเป็นปัญหาหมักหมกนานหลายสิบปี จนมีการขยายเพิ่มเป็น 51 ร้าน สร้างปัญหาลักลอบปล่อยน้ำทิ้งลงสู่เขื่อนลำตะคอง ที่เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้านกว่า 6 แสนคน ในเขต 6 อำเภอ และบดบังภูมิทัศน์ริมเขื่อน
จนกระทั่งมาถึงยุคสมัย นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน เพื่อให้เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีภาคประชาชนขานรับอย่างเต็มที่ โดยจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชิญอัยการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ ริมเขื่อนลำตะคอง บริเวณมอปลาย่าง
การประชุมมีขึ้นรวม 7 ครั้ง เริ่มจากให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง ฐานะเจ้าของพื้นที่ ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจให้ยอมรื้อถอนแต่โดยดี พร้อมเยียวยาจัดหาพื้นที่รองรับแห่งใหม่ เนื่องจากรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำวันละหลายหมื่นบาท อ้างได้ลงทุนหลายล้านบาท เพื่อปรับปรุงตกแต่งร้าน ผู้ประกอบการจึงดื้อแพ่ง ดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทาง
นายธงชัย กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้ทักท้วงหรือเห็นค้านคำสั่งปกครองแต่อย่างใด แม้จะดำเนินการด้วยหลักละมุนละม่อม ใช้วิธีการเจรจาทำความเข้าใจ ล่าสุดจนถึงวันที่ 6 เมษายน มีผู้ประกอบการ 22 ราย ยินยอมรื้อถอนตามคำสั่ง มีผู้ประกอบการ 29 ราย ใช้สิทธิทางกฎหมายยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอทุเลาคำสั่ง อ้างมติคณะทำงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้เกินระยะเวลา 30 วัน แต่ตุลาการศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งใดๆ
จากมติคณะทำงานยืนยันจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยกำชับพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเริ่มย้ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม และต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ โดยให้ใช้พื้นที่รองรับ เป็นที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน นม.521 ขนาด 24 ไร่ ตั้งอยู่ลานมันสำปะหลังตงพานิช ถนนมิตรภาพ เยื้องสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขาอำเภอปากช่อง ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองพันสุนัขทหาร กรมสัตว์ทหารบก ซึ่งมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 21 กองทัพภาคที่ 2 ฐานะหน่วยปกครอง ดูแลพื้นที่ดังกล่าว พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ลงนามเห็นชอบ รอเพียงการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากกองทัพบกส่วนกลาง เพื่อส่งมอบให้จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับการจัดสรรให้ผู้ประกอบการตามสัดส่วนรายละ 100 ตารางวา หรือ 1 งาน ขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 25 เมตร ด้านหน้าจอดรถยนต์ได้ 6 คัน คณะทำงานได้ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.ปากช่อง และ อบต.หนองสาหร่าย เร่งดำเนินการระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อรองรับการย้าย ส่วนพื้นที่พิพาทได้มอบให้สำนักแขวงการทางนครราชสีมา ที่ 2 สำนักทางหลวงที่ 10 ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ต่อไป
และในการประชุมแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 เมษายน โดยมี นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พบว่าหลังจากจังหวัดให้โอกาสผู้ประกอบการรื้อเองมาแล้วหลายครั้ง แต่มีผู้ประกอบการที่ประสงค์จะรื้อเองเพียง 16 ราย ส่วนอีก 29 ราย ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมาคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลมีมติไม่รับไต่สวน
ด้านที่ประชุมจึงให้ อบต.หนองสาหร่าย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ แต่งตั้งคณะทำงานรื้อถอน 45 ชุด มีทั้งเจ้าหน้าที่จาก อบต.ใกล้เคียง 14 แห่ง ฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ เพื่อเข้ารื้อถอน พร้อมให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ซึ่งจะเรียกคืนจากผู้ประกอบการร้านอาหาร
ส่วนกำหนดเข้ารื้อถอนจะมีขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือหลังจากวันที่ 20 เมษายนนี้ รวมทั้งวางมาตรการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากหวั่นกังวลอาจเกิดการกระทบกระทั่งจากฝ่ายต่อต้าน จึงให้ติดป้ายประกาศแจ้งเตือนก่อนรื้อถอน 7 วัน พร้อมประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการร้านอาหารเหล่านี้ อีกทั้งตั้งชุดควบคุมฝูงชนเฝ้าควบคุมสถานการณ์ในวันปฏิบัติการรื้อถอนด้วย
ทั้งนี้ คณะทำงานมั่นใจว่า ภายในเดือนพฤษภาคม จะคืนพื้นที่บุกรุกริมอ่างลำตะคองได้อย่างเบ็ดเสร็จแน่นอน !