ข่าว

‘ประยุทธ์’เตือนตัวเองจากนี้ไปจะเลิกโมโห

‘ประยุทธ์’เตือนตัวเองจากนี้ไปจะเลิกโมโห

30 มี.ค. 2558

‘ประยุทธ์’เตือนตัวเองจากนี้ไปจะเลิกโมโห ส่งผลปวดหัวเส้นโลหิตจะแตก เตรียมใช้ม.44แก้ปัญหาการบินพลเรือนไทย

              30มีนาคม2558 ที่อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.45 น.​ภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า โดยก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภกับผู้สื่อข่าวระจำทำเนียบรัฐบาลว่า “เมื่อวาน (29 มี.ค.) ทำไมไม่ไปรับ ทำไมไม่ไปรับฉัน เธอส่งใครไปรับฉัน”​ เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่าก็เป็นนักข่าวเหมือนกัน พล.อ.ประยุทธ์​ก็หันมายิ้ม ก่อนจะพยักหน้าเป็นสัญลักษณ์ว่าเข้าใจ พร้อมกล่าวว่า “โอเคนะ ก็อย่างน้อยมีพวกเยอะหน่อยพวกเรา เอ้าใครจะถามอะไรว่ามา”

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวของพล.อ.ประยุทธ์​ในวันที่ 30 มี.ค. ก็ยังคงปกติมีทั้งดุดัน เสียงดังและแสดงอารมณ์โมโหเช่นเดิม โดยเฉพาะเมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเตรียมออกคำสั่ง คสช.เพื่อใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และ ปัญหาที่ญี่ปุ่นระงับการเพิ่มเที่ยวบินเหมาลำจากไทย 

              และระหว่างการให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันนี้ (30 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์​ ก็ได้บ่นผู้สื่อข่าวด้วยว่า มีเรื่องอะไรสื่อมักจะมาลงที่ตนเพียงคนเดียว ทั้งที่พยายามแก้ให้ทุกเรื่อง ประชุมก็นาน สั่งงานก็เยอะปวดท้องไปหมดแล้ว บางวันพูดคนเดียว ถามคนเดียววันละ 3-4 ชั่วโมง “และบางครั้งการให้สัมภาษณ์ผมก็เผลอตัวเสียงดังบ้าง โมโหบ้างนิดหน่อย ตอนนี้เขาก็ห้ามผมไม่ให้โมโหบ่อยแล้วเดี๋ยวตายก่อน พวกสื่ออยู่ได้เพราะถามแค่ประโยคเดียวแต่ฉันตอบแบบยาวเหยียด”

               เมื่อถามว่าใครเป็นคนเตือนไม่ให้โมโหและพูดน้อยๆ พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า "ผมเตือนตัวผมเอง เพราะว่าผมปวดหัวไง พูดแล้วโมโหก็ปวดหัว เส้นโลหิตมันจะแตกเดี๋ยวตายก่อน ยอมรับว่าผมเป็นคนขี้โมโห แต่ตอนนี้ผมพยายามที่จะหยุดเพราะน้องๆน่ารักทุกคน

 

 เตรียมใช้ม.44แก้ปัญหาการบินพลเรือนไทย

 

             พล.อ.ประยุทธ์  ให้สัมภาษณ์กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO อาจจะมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรมการบินพลเรือนของไทย ว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาปัญหามาตรฐานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทย ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจนานแล้ว จากเดิมที่มี 300,000 เที่ยวบินต่อปี ตอนนี้เพิ่มเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี แต่คนดูแลเรื่องนี้มี 12 คน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อธิบดีกรมการบินพลเรือน ชี้แจงว่าได้เสนอขอปรับโครงสร้าง แก้กฎหมาย เพิ่มกำลังคน เพิ่มงบประมาณ แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ จึงเป็นแบบนี้ตลอด พอรัฐบาลนี้เข้ามาได้เดินหน้าแก้ปัญหา ซึ่ง ICAO ให้เวลาแก้ไข ดังนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับผลและอธิบดีกรมการบินพลเรือนด้วย เพราะเสนอให้แก้ปัญหามาตลอดแต่ทางฝ่ายการเมืองไม่แก้ปัญหาให้ ซึ่งตนจะใข้มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ให้งานรวดเร็วขึ้น โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหากรณี ICAO หรือปรับโครงสร้างต่างๆ เพราะตามปกติ จะต้องแก้พ.ร.บ.ก่อน ต้องเข้าครม. เสนอ สนช. ใช้เวลาแต่ตอนนี้ต้องเร็วที่สุดเพราะบรรจุคนเข้ามาไม่ได้ ซึ่งในวันนี้ (30. มี.ค.) กระทรวงคมนาคม จะประชุมหารือ ตั้งกรรมการที่จะแก้ปัญหา เพราะมาตรา 44 ให้อำนาจตนสามารถทำในสิ่งที่เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทั้ง 3 ขั้นตอน

             พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีญี่ปุ่นห้ามสายการบินสัญชาติไทยเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดเส้นทางบินใหม่ช่วงนี้ ได้พูดคุยกับนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรี ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งท่านจะพิจารณาให้ เท่าที่พูดคุยกับญี่ปุ่น ก็บอกว่าค่อนข้างมีปัญหานักท่องเที่ยวมีจำนวนมากต้องจัดระเบียบ พอทางเราพลาดก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะทางการเมืองกำลังจะเลือกตั้งด้วย อยากให้รอฟังผลอีกที คงเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ้าง แต่สิ่งสำคัญหากบินไปแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ไทยต้องรับผิดชอบเต็มๆ ดังนั้นอย่ามองเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเมื่อจำเป็น ต้องทำตามกติกาเพื่อให้ยอมรับว่า เราไม่ได้ฝืนกฎสากล และเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ได้พบกับนายกฯ เกาหลีรวมถึงหลายประเทศทั้งอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร

             ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยที่ซื้อตั๋วไปแล้วก็ต้องหาทางเยียวยาแก้ไข เรื่องนี้ ยอมรับว่า มีผลเสียคือ ช่วงสงกรานต์ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นได้น้อยลง คนญี่ปุ่นมาไทยได้น้อยลง ก็มาเที่ยวในประเทศกัน แต่วันข้างหน้าเมื่อแก้ปัญหาได้ จะกลับมาเหมือนเดิม

             “ตอนนี้แก้ไปเต็มที่แล้ว ได้เท่านี้ ก็ไปตามตั้งแต่ต้น ทำไมไม่ทำ ไม่แก้ปัญหา ปล่อยให้ถึงวันนี้ แก้ตัวกันอยู่ได้ แล้วมาลงที่ผม เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว ทั้งเรื่องประมง แรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ต้องชัดเจน ในเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการเตือนมาแล้ว ต้องมีมาตรการเผชิญความเสี่ยงเหล่านี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว