
'4สิงห์'คลื่นลูกหลัง'ตระกูลลี'
'4สิงห์'คลื่นลูกหลัง'ตระกูลลี' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
03.18 น. วันที่ 23 มีนาคม 2558 "ลี กวน ยู" วัย 91 ปี ถึงแก่อสัญกรรม แม้คนสิงค์โปร์จะเตรียมใจไว้แล้ว.... แต่พอวินาทีรู้ข่าวว่า "ลี กวน ยู" จากไปจริง ๆ น้ำตาก็หลั่งไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว
"ชอว์ ตัน" นักศึกษาแพทย์เดินทางมาร่วมไว้อาลัย ณ โรงพยาบาลสิงคโปร์ เจเนอรัล เขาเผยความรู้สึกให้ฟังว่า ตั้งแต่ต้นเดือนรัฐบาลออกแถลงการณ์เป็นระยะๆ ว่าอาการป่วยของ ลี กวน ยู ทำให้ร่างกายทรุดหนักลง ยาที่คณะแพทย์จัดเตรียมให้ก็ไม่ได้ผล...พวกเรารู้ดีว่าสิงคโปร์มีวันนี้ได้ เพราะความสามารถและการทุ่มเทของท่านและเชื่อว่าคงไม่มีใครทำได้อย่างนี้อีกแล้ว
"ผมเคารพรักท่านมากนะ อย่าคิดว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราจะไม่สำนึกบุญคุณ ทุกอย่างที่เราเห็น เราใช้ เราสัมผัสล้วนมาจากวิสัยทัศน์ของท่าน เช่น โรงพยาบาลแห่งนี้ ก็เป็นโครงการที่ท่านเสนอให้สร้าง เป็นทั้งสถานที่ดูแลรักษาคนป่วย เป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นแหล่งผลิตงานวิจัย"
ชอว์ ตัน กล่าวแสดงความมั่นใจว่า "ลี เซียน หลง" นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ลูกชาย “ลี กวน ยู” จะสานต่อโครงการพัฒนาต่างๆ ตามรอยผู้เป็นพ่อ เพื่อทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศจิ๋วแต่แจ๋วที่สุดในโลก
เมื่อพูดถึง "ลี เซียน หลง" นายกฯ วัย 63 ปี ผู้กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้ชาวสิงคโปร์หลายคนรู้สึกวิตกกังวล เพราะรู้ดีว่า หลังจากนายกฯ คนปัจจุบันแล้ว ตระกูลลีไม่ได้เตรียมแผนให้ลูกหลานคนอื่นก้าวเดินเข้าสู่พรรคการเมืองเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีรุ่นที่ 4
ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ที่มีประชากรเพียง 5 ล้านกว่าคน เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร ?
เบื้องลึกคือการลงทุนในภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ล้วนแต่มีกองทุนของสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ทั้งสิ้น นักธนาคารส่วนใหญ่รู้ดีว่านโยบายการลงทุนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ มีผลต่อวงการธนาคารและธุรกิจหลายอย่างในประเทศไทย
ในแต่ละปีประเทศไทยค้าขายกับสิงคโปร์ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท นับเป็นมูลค่าสูงสุดอันดับ 6 ของประเทศไทย โดยอันดับ 1 คือจีน 2 ญี่ปุ่น 3 อเมริกา 4 มาเลเซีย 5 อาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2557 ที่ผ่านมาการค้าของทั้ง 2 ประเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.6 ส่วนใหญ่สินค้าที่ไทยส่งออกไปคือ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าคือ เคมีภัณฑ์ เรือ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
เมื่อสิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญ และมีอิทธิพลในวงการการเงินและธุรกิจหลายอย่างในประเทศไทย ผู้จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายต่อประเทศไทย ?
นักเศรษฐศาสตร์ชาวสิงคโปร์รายหนึ่ง วิเคราะห์ให้ฟังว่า นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พรรคการเมืองเดียวที่ครองเสียงข้างมากมาตลอด คือพรรคกิจประชา หรือพรรคพีเอพี (PAP: People’ Action Party) ส่งผลให้ “ลี กวน ยู” เป็นนายกรัฐมนตรีเกือบ 30 ปี ก่อนมอบตำแหน่งต่อให้ "โก๊ะ จ๊ก ตง" ลูกน้องคนสนิทสืบทอดอำนาจอีกประมาณ 14 ปี และในปี 2004 ลี เซียน หลง ก็ชนะเลือกตั้งเป็นนายกฯ มาจนถึงปัจจุบัน
"ถ้าหากนายลี เซียน หลง ป่วยหนักจริง นายกฯ คนต่อไปคงไม่ใช่ตระกูลลีอีกแล้ว หรืออย่างน้อยก็อีกสักพัก ต้องมีคนจากตระกูลอื่นมาคั่นกลาง ตอนนี้ตัวเก็งมีอยู่ 4 คนด้วยกัน ทั้งหมดมาจากพรรคพีเอพี เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ มี 2 คนเคยเป็นทหารกว่า 20 ปี 4 คนนี้ ล้วนน่าสนใจ ลี กวน ยู อาจเลือกไว้แล้วก็ได้ แต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง ส่วนนโยบายเกี่ยวกับไทยนั้น คงต้องรอดูว่าเป็นใคร นโยบายต่างประเทศทั่วไปคงไม่แตกต่างมากนัก แต่การเปิดประชาคมอาเซียน อาจทำให้ปัญหาแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น" นักเศรษฐศาสตร์ข้างต้นวิเคราะห์ให้ฟัง
ทั้งนี้ 4 ตัวเก็งข้างต้นนั้น ถือเป็นนักการเมืองโดดเด่นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้แก่
“ชาน ชุน ซิง” วัย 46 ปี รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาครอบครัวและสังคม ควบด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมก่อนลงเลือกตั้งในปี 2554 เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนเข้ารับราชการในกองทัพช่วงปี 2530-2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก่อนลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง
นโยบายสำคัญของมิสเตอร์ชานคือ การสนับสนุนให้คู่สมรสต่างแดนต้องเข้าคอร์สเตรียมตัวหรือปรับตัวทดลองกินอยู่ด้วยกันก่อน หากพร้อมจริงค่อยจัดพิธีสมรส เพราะการเติบโตจากภูมิหลังวัฒนธรรมแตกต่างกัน อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวหลายอย่าง การหย่าร้างของคู่สมรสต่างสัญชาติในสิงคโปร์กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพราะในจำนวนประชากร 5 ล้านคนนั้น มีชาวต่างชาติมากถึงเกือบร้อยละ 30
ส่วนตัวเก็งรายที่ 2 อยู่ในกองทัพนานกว่า 20 ปีเช่นกัน “ตัน ชวน จิน” รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ วัย 46 ปี จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่ลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ปริญญาโทด้านการทหารศึกษา จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
“มิสเตอร์ตัน” ระหว่างรับราชการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำภารกิจบรรเทาทุกข์ของกองทัพสิงคโปร์ไปยังอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิเมื่อปี 2547 นับเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่สุดของกองทัพสิงคโปร์ สำหรับนโยบายทางการเมืองที่โดดเด่นคือ สนับสนุนนโยบายขยายเวลาผู้เกษียณอายุเป็น 67 ปี เพื่อคลี่คลายปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ตัวเก็งคนที่ 3 เฮง ซิว เคียท วัย 54 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเคยเป็นข้าราชการพลเรือนทำงานเป็นเลขานุการในสำนักนายกรัฐมนตรีช่วง “ลี กวน ยู” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอาวุโส เคยผ่านงานหลายตำแหน่งในฟากข้าราชการพลเรือน การศึกษาจบจากม.เคมบริดจ์ และ ม.ฮาร์วาร์ด เคยนั่งเก้าอี้ผู้บริหารธนาคารกลางสิงคโปร์ และเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กำกับนโยบายเศรษฐกิจ การเจรจาทางการค้าและกฎระเบียบและการพัฒนาอุตสาหกรรม
เมื่อเดือนกันยายน 2557 มิสเตอร์เฮงได้โพสต์เฟซบุ๊กรูปตัวเองนั่งข้างๆ ลี กวน ยู ในงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิด 91 ปี เขาตอกย้ำเสมอว่าการศึกษาเป็นตัวกำหนดอนาคตและความสำเร็จของสิงคโปร์
ส่วนตัวเก็งคนสุดท้าย อายุน้อยสุดเพียง 43 ปีเท่านั้น “ลอว์เรนซ์ หว่อง” รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชน ควบรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการธนาคารกลางสิงคโปร์ มิสเตอร์หว่องเป็นคนเดียวที่ไม่ได้จบจากประเทศอังกฤษ แต่เป็นฝั่งอเมริกาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และม.ฮาร์วาร์ด
ลอว์เรนซ์ หว่อง รับราชการหลายหน่วยงาน เคยนั่งเก้าอี้หัวหน้าสำนักงานกำกับตลาดพลังงาน ผลงานที่โดดเด่นคือ ส่งเสริมพัฒนาพลังงานทางเลือก รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายก๊าซใหม่ๆ และสร้างโรงแยกก๊าซแอลเอ็นจีแห่งแรก ก่อนย้ายมาอยู่กระทรวงสาธารณสุขและทำการปฏิรูประบบประกันสุขภาพช่วยให้ชาวสิงคโปร์ไม่ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลราคาแพง
4 สิงห์ข้างต้นนั้น ใครจะเป็นผู้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีรุ่นที่ 4 สืบทอดเจตนารมณ์ของ “ลี กวน ยู” ตอนนี้คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หรืออาจมีสิงห์ตัวใหม่เข้ามาแย่งชิงเก้าอี้ก็ได้
“ลี เซียน หลง” นายกฯ คนปัจจุบันตัดสินใจอย่างไร หรืออาจตัดสินใจแล้ว แต่ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ !?!
ผลการเลือกตั้งทั่วไป “สิงคโปร์” วันที่ 7 พ.ค. 54
พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) 81 ที่นั่ง
พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers Party - WP) 6 ที่นั่ง
พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (the National Solidarity Party - NSP) 0 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party - SDP 0 ที่นั่ง
พรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore’s People Party - SPP) 0 ที่นั่ง
พรรคปฏิรูป (Reform Party - RP) 0 ที่นั่ง
พันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance - SDA) 0 ที่นั่ง