
'ลีกวนยู'...สู้ให้ถึงที่สุด!
'ลีกวนยู'...สู้ให้ถึงที่สุด!
หลังเจอมือดีปล่อยแถลงการณ์ปลอมว่า "ลี กวน ยู" รัฐบุรุษผู้สร้างประเทศสิงคโปร์เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนบางส่วนเดินทางนำการ์ดและดอกไม้มาเยี่ยมให้กำลังใจ และอวยพรให้ฟื้นจากอาการโคม่าและสามารถเข้าร่วมงานครบรอบฉลองวันชาติ 50 ปี
ทีมข่าวรายงานพิเศษ "คม ชัด ลึก" เดินทางไปถึง "โรงพยาบาลสิงคโปร์ เจเนอรัล" ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้จุดศูนย์กลางท่องเที่ยวและแหล่งช็อปปิ้ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พบว่าบรรยากาศภายในโรงพยาบาลมีผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักตั้งกล้องและอุปกรณ์รอทำข่าว 2 จุดใหญ่ด้วยกัน คือบริเวณหน้าตึก 6 ซึ่งเป็นจุดที่ใช้เมื่อมีแถลงข่าวจากรัฐบาล ส่วนอีกจุดเป็นด้านหน้าชั้นหนึ่งของหอผู้ป่วยไอซียู
ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันมีประชาชนเข้ามาฝากการ์ดเยี่ยมและดอกไม้ให้กำลังใจนายลี กวน ยู เป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงบ่ายมีหญิงสาวสิงคโปร์คนหนึ่งเข้ามาฝากการ์ดสีแดงกับกลุ่มผู้สื่อข่าวโดยหวังว่าจะส่งต่อให้ถึงมือรัฐบุรุษขวัญใจของตน
ส่วนเนื้อความในการ์ด บอกถึงความรักและความซาบซึ้งใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ลี กวน ยูทำเพื่อสร้างประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังภาวนาให้ ลี กวน ยู หายป่วยเร็วๆ เพื่อร่วมฉลองครบรอบวันชาติ 50 ปี ที่จะมาถึงในวันที่ 9 สิงหาคม 2558
ผ่านไปไม่นาน กลุ่มผู้สื่อข่าวรุมสัมภาษณ์ "นางเก เหว่ย" หญิงชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ เธอนำช่อดอกไม้สีแดงมามอบให้กำลังใจ พร้อมกล่าวว่า มาวันนี้เพื่อแสดงความเคารพนับถือและชื่นชมนายลี กวน ยู และยืนยันว่าใครก็ตามที่รู้จักประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์จะรู้ว่าเขายิ่งใหญ่และน่ายกย่องเพียงใด
ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่มียอดขายอันดับหนึ่งในสิงคโปร์ เปิดใจว่า ตั้งแต่รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่าอาการของนายลี กวน ยู น่าเป็นห่วง เพราะติดเชื้อรุนแรงในปอด ร่างกายไม่ค่อยตอบสนองกับยาที่ใช้รักษา ทำให้ต้องจัดทีมผลัดเวรมารอทำข่าวตลอด 24 ชั่วโมง
"โฆษกรัฐบาลไม่ค่อยแถลงข่าวบ่อย นานๆ จะมีอะไรสั้นๆ มาบอก ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าอาการดีขึ้นหรือทรุดลง เราต้องคอยอย่างเดียว" เมื่อถามต่อว่า ทีมแพทย์และพยาบาลมีใครสามารถให้ข้อมูลได้หรือไม่ เขาบอกว่า ที่นี่ต้องให้รัฐบาลแถลงความคืบหน้าเท่านั้น ห้ามถามจากบุคคลอื่น
หลังจากประชาชนเริ่มทยอยนำสิ่งของมาเยี่ยมทางโรงพยาบาลแจ้งว่าจะแบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อจัดวางการ์ดและดอกไม้ รวมถึงของเยี่ยมอื่นๆ
น.ส.ฉั่ว วัย 34 ปี เล่าว่า เธอและเพื่อนๆ ไม่ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล แต่ติดตามข่าวสารการป่วยของนายลี กวน ยู จากโซเชียลมีเดียต่างๆ ตลอดเวลา ชาวสิงคโปร์รู้ว่าการรักษาให้หายกลับมาปกติแข็งแรงเหมือนเดิมคงเป็นไปได้ยาก
"ขอเพียงลี กวน ยู สู้ให้ถึงที่สุด ให้สมกับเป็นวีรบุรุษของพวกเราก็พอ" เธอภาวนาสั้นๆ ทิ้งท้าย
มหาบุรุษแห่งสิงคโปร์'ลี กวน ยู'
จากประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เท่ากับ จ.สระแก้ว ของไทย และแทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอะไร แม้กระทั่งน้ำจืด สิงคโปร์กลับใช้เวลาแค่ไม่กี่สิบปี ในการผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง เป็นระเบียบเรียบร้อยในระดับแถวหน้าของโลกในปัจจุบันได้ในแบบที่เรียกว่าก้าวกระโดด ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงสุดเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีชื่อของ "ลี กวน ยู" เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก เพราะเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ และนั่งบริหารสิงคโปร์มายาวนานและประสบความสำเร็จถึง 31 ปี ก่อนจะลงจากอำนาจไปเอง หลังได้วางรากฐานสร้างความมั่นคงให้ประเทศเรียบร้อยแล้ว
เรื่องนี้ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จัก และจดจำไม่เฉพาะแต่ชาวสิงคโปร์ แต่รวมถึงชาวโลกโดยทั่วไปด้วย แม้จะมีคนตราหน้าว่าเขาคือเผด็จการประชาธิปไตยตัวจริงก็ตาม
ลี กวน ยู เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2466 มีบรรพบุรุษเป็นคนจีนแคะ มาจากมณฑลกวางตุ้งในจีน สมัยที่สิงคโปร์ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ และลี เป็นรุ่นที่ 4 ของครอบครัวที่อพยพมาสิงคโปร์ เขาเข้ารับการศึกษาที่ Raffles College วิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ และมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ตนกู อับดุล ราห์มาน ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ตอนแรก ลี เรียนไม่ค่อยเก่งนัก เพราะต้องแข่งกับนักเรียนชั้นเยี่ยมจากทั่วสิงคโปร์ แต่ด้วยความพยายามอย่างหนัก เขาก็กลายเป็นหนึ่งในนักเรียนที่เรียนเก่งที่สุดของสิงคโปร์และมลายา
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองสิงคโปร์ได้โดยง่าย และการได้ทำงานกับคนญี่ปุ่น ได้จุดประกายให้ลี กวน ยู มองว่าคนเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาวตะวันตก เขาจึงเริ่มหันมาสนใจการเมืองและการต่อสู้เพื่อเอกราช เมื่อสงครามจบ เขาไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่เคมบริดจ์ในอังกฤษ เข้ามามีบทบาทในการเรียกร้องให้อังกฤษปลดแอกสิงคโปร์ เขากลับสิงคโปร์ในปี 2493 และตั้งพรรคกิจประชาชน ก่อนที่พรรคจะชนะการเลือกตั้งครั้งแรก และเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2502 ขณะมีอายุ 36 ปี
หลังมาเลเซียได้รับเอกราชในปี 2504 ลี กวน ยู ได้เจรจากับเพื่อนเก่าอย่าง ตนกู อับดุล ราห์มาน เพื่อจะรวมสิงคโปร์เข้ากับมาเลเซีย เพราะเห็นว่าสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการพัฒนาประเทศ พวกเขารวมประเทศสำเร็จในปี พ.ศ.2505 แต่แล้ว 2 ปีให้หลัง สิงคโปร์ก็ถูกต่อต้านจากชาวมาเลเซียที่มองว่าสิงคโปร์มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนกลายเป็นการจลาจล ในที่สุดเมื่อ 9 สิงหาคม 2508 สิงคโปร์ก็ได้ประกาศแยกตัวออกจากมาเลเซีย พร้อมกับการประกาศเอกราชจากอังกฤษ
ในช่วงแรก การบริหารประเทศของเขาไม่ราบรื่น และมีแนวโน้มจะถูกพรรคค้านโค่นอำนาจ แต่เขาก็สามารถนำพาสิงคโปร์ไปสู่ความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในระดับต้นๆ ของโลกในหลายๆ ด้านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ จนทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การเงิน การธนาคาร เมืองท่าและการท่องเที่ยวของโลก ขณะที่บริษัทสิงคโปร์ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจทั่วโลกมากมาย
เรื่องนี้ส่งผลให้ตัวเขาและรัฐบาล ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศเรื่อยมาอีกนานหลายสิบปีติดต่อกันแม้จะมีเสียงครหาว่าการบริหารของเขาคล้ายระบอบเผด็จการ มีแต่ความเข้มงวดเด็ดขาดไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
ลี กวน ยู ให้ความสนใจอย่างมากกับเรื่องการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะประเทศไม่มีทรัพยากรสำคัญอื่นๆ
ลี กวน ยู ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในปี 2533 แต่นั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสนับตั้งแต่นั้นจนถึงปี 2547 ก่อนจะหันไปนั่้งในตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษาจนถึงปี 2554 และวางมือจากการบ้านงานเมืองโดยสมบูรณ์ในวัย 88 ปี
สำหรับชีวิตครอบครัว ลี กวน ยู สมรสกับ นางกวา ก็อก ชู และมีทายาท 3 คน หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือลี เซียน หลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 3 และคนปัจจุบัน ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2547