ข่าว

สตรีลุ่มน้ำโขงร่วมใจนุ่งผ้าซิ่นต้านวัฒนธรรมนุ่งน้อยห่มน้อย

สตรีลุ่มน้ำโขงร่วมใจนุ่งผ้าซิ่นต้านวัฒนธรรมนุ่งน้อยห่มน้อย

10 มี.ค. 2558

สตรีลุ่มน้ำโขงร่วมใจนุ่งผ้าซิ่น...ต้านวัฒนธรรมนุ่งน้อยห่มน้อย โดย... กฤษณะ วิลามาศ

 
          ด้วยความมุ่งมั่นที่หวังฟื้นผ้าซิ่นให้กลับมาครองใจคนไทยอีกครั้ง หลังถูกวัฒนธรรมจากต่างชาตินำแฟชั่นนุ่งน้อยห่มน้อย โดยเฉพาะกางเกงขาสั้นซึ่งเป็นแฟชั่นยอดฮิตจากประเทศเกาหลี ทำวัยรุ่นไทยคลั่งไคล้จนลืมผ้าถุงไทยไปอย่างไม่แยแสทำให้นางอภิญญา ชูชัยภูมิ อายุ 45 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาตรี (กพสอ.) อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการแต่งกายของสตรีไทยให้กลับมาเป็นหญิงไทยที่สวยงามด้วยซิ่นไทย 
 
          โดยชูผ้าซิ่นไทยจากทุกภาคมาเป็นแบบอย่างนำร่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมการนุ่งซิ่น แรกเริ่มจะยังไม่เน้นเฉพาะเจาะจงมาที่ผ้าซิ่นจากภาคอีสานอย่างเดียว จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่ ตลอดจนคนวัยทำงานรู้จักการนุ่งผ้าซิ่นก่อน เมื่อกล้าจะนุ่งผ้าซิ่นแล้ว ก็จะเกิดความรักในเสน่ห์ผ้าซิ่นถึงเมื่อนั้น พวกเธอจะค้นคว้า เสาะแสวงหาผ้าซิ่น ที่กำเนิดมาจากแหล่งคุณย่าคุณยายมาครอบครองและสืบทอดวัฒนธรรมดีงามของบรรพบุรุษด้วยความภาคภูมิใจ
 
          "อภิญญา ชูชัยภูมิ" บอกว่า การเริ่มต้นพลิกฟื้นวัฒนธรรมการนุ่งซิ่นครั้งนี้ จะต้องมีผู้ใหญ่ ส่วนงานราชการ โรงเรียนและองค์กรต่างๆ ร่วมปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างก่อน ควบคู่ไปกับการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อจะโน้มน้าวจิตใจของเยาวชนรุ่นหลังให้หันมาทำตาม ปัจจุบันวัยรุ่นหญิงไทยถูกแฟชั่นนุ่งน้อยห่มน้อยจากต่างประเทศเข้าครอบงำ จนน่าเป็นห่วง ในด้านวัฒนธรรมและประเพณีการแต่งกาย เช่น การสวมใส่กางเกง จะเห็นได้ว่าวัยรุ่นหญิงไทมักสวมกางเกงขาสั้น เป็นการโชว์สัดส่วนของร่างกาย ซึ่งมองว่า แฟชั่นประหยัดผ้าสวมใส่นี้ ไม่น่าจะเหมาะกับหญิงไทยนัก ตามประเพณีแล้วหญิงไทยจะเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติหลายประการ ทั้งการเดิน การพูด การอยู่และการกิน ต้องนอบน้อม มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน และอีกหลายๆ ประการ ที่ทำให้หญิงไทยต่างกับชาติอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
 
          ดังนั้นเมื่อเข้ามาจุดนี้แล้วจึงมีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของวัยรุ่นไทยให้ลด ละ และเลิกแฟชั่นประหยัดผ้า แล้วหันมาสวมผ้าซิ่นกัน โดยกลุ่มพัฒนาสตรี อ.เขมราฐ เป็นผู้นำร่องและเป็นต้นแบบในการรณรงค์ เพื่อหวังให้ผ้าซิ่นได้กลับมาอยู่บนเอวของหญิงไทยอีกครั้งอย่างถาวรสืบต่อไป โดยอาศัยกิจกรรม แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าบน “ถนนคนเดิน” ในเขตเทศบาลตำบลเขมราฐเป็นแหล่งนำร่องในการประชาสัมพันธ์เป็นแห่งแรก ด้วยการขอความร่วมมือจากสตรีเขมราฐทุกคน ให้สวมใส่ผ้าซิ่นเข้ามาเที่ยวถนนคนเดิน ซึ่งเทศบาลตำบลเขมราฐ จัดขึ้นบนถนนวิศิษฐ์ศรี ในช่วงเย็นทุกวันเสาร์ที่ 2 และที่ 4 ของเดือน 
 
          ประธานคณะกรรมการพัฒนาตรี อ.เขมราฐ บอกอีกว่า ณ สถานที่แห่งนี้ สตรีชาวเขมราฐทุกคนทุกวัยและแม้กระทั่งกลุ่มวัยเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ ให้การตอบรับและให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ส่วน “ซิ่นบินนั้น“ ก็ได้เลือกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ โดยเลือกเอา “หาดทรายสูง” ซึ่งเป็นสถานที่มีสิ่งธรรมชาติอันสวยงามกลางลำแม่น้ำโขง เขตบ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ เป็นสถานที่อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการนุ่งซิ่นควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งจากในและนอกประเทศ
 
          "อภิญญา ชูชัยภูมิ" อธิบายต่ออีกว่า “ซิ่นบิน“ หมายถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม การนุ่งซิ่น ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ความงามของแหล่งท่องเที่ยว ที่กำลังเปิดตัวและเป็นแหล่งเที่ยวแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยว โดย “หาดทรายสูง” แห่งนี้ พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์ไปกับการประยุกต์ให้ทันกับโลกยุกต์โลกาภิวัตน์ ที่ทำให้วัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาครอบงำกับวิถีชีวิตกับแนวคิด ของบ้านเมืองเราอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่วัฒนธรรมการแต่งกายได้ถูกกลืนจากวัฒนธรรมของชาติเกาหลี จนทำให้วัฒนธรรมการนุ่งซิ่นของไทยที่มีมาช้านานได้ถูกลืมเลือน ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าควรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดนี้เสียใหม่ โลกก้าวไกล ต้องก้าวให้ทัน การอนุรักษ์ นับเป็นเรื่องที่ดี ต้องรู้จักประยุกต์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง 
 
          หากต้องการจะรักษาวัฒนธรรมในการนุ่งซิ่นให้สืบทอดถึงลูกหลาน เหลนแล้ว จะต้องไม่ขีดขอบเขตของผู้หญิงและการนุ่งซิ่น ให้รุงรังเกินไปฉีกกฎที่ว่านุ่งซิ่นแล้วต้องสงบเรียบร้อยตลอดไป ในบางโอกาสจะต้องเปลี่ยนให้การนุ่งซิ่นได้มีอิสระในพื้นที่ ที่กำหนดให้ซิ่น งามได้ทุกกาล ทุกสถานที่จะนุ่งไปช็อปปิ้ง ทำงาน หรือนุ่งเที่ยวก็ทำได้ จะนุ่งให้งาม สวยสง่าหรือเคร่งขรึม ก็ทำได้ตามโอกาส และสถานที่ แต่เราจะต้องไม่ทิ้งของเดิม คือความอ่อนโยน อ่อนหวาน 
 
          “ซิ่นบิน” ภาพที่สื่อออกมาถึงความสนุกสนานรื่นเริง สดใส น่ารัก โดยเฉพาะกลางลำแม่น้ำโขงความงามของการนุ่งซิ่น จะกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติและบรรยากาศของแม่น้ำลำธารได้เป็นอย่างดี ซิ่นบินจะเป็นโครงการระยะยาว โดยมีกลุ่มพัฒนาสตรีอำเภอเขมราฐเป็นแกนหลักและซิ่นบินจะเป็นจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ เพราะซิ่นบินเกิดขึ้นบนหาดทรายสูง แหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อของเมืองเขมราฐ (หากสาวใดได้มาเที่ยวที่หาดทรายสูงแล้ว ไม่มีภาพซิ่นบินกลับบ้าน นั่นแสดงว่า คุณยังมาไม่ถึงหาดทรายสูง)
 
          เธอ เล่าต่อว่า ซิ่นบินยังจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจโดยการขายผ้าซิ่นให้นักท่องเที่ยวตามริมฝั่งโขงของหาดทรายสูง นอกจากชาวบ้านนำผ้าซิ่นมาวางขายแล้วยังมีการให้เช่าผ้าซิ่น เพื่อที่จะนุ่งลงไปยังหาดทรายและโขดหินและให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ ผ้าซิ่นของคู่กับแม่น้ำโขงจากนั้นการทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองก็ต้องถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ตามด้วยการปลูกฝ้ายและเลี้ยงหม่อนไหม แล้วก็จะเป็นเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้านในพื้นที่ จากธุรกิจของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและตลอดไป โดยปัจจุบันคณะกลุ่มพัฒนาสตรีอ.เขมราฐ ก็จะสวมใส่ผ้าซิ่นเป็นประจำ เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างในการนำร่องหญิงไทยต้องใส่ผ้าซิ่น โดยมีนายภุชงค์ วงศ์กัณหา กับนางลาภิศ โคตรวันทา ข้าราชการครูในพื้นที่เข้ามาให้คำปรึกษาต่างๆ ถึงความเหมาะสมของโครงการ ตลอดจนรับจะจัดส่งโครงการอนุรักษ์ผ้าซิ่นไทย (ซิ่นบิน) นี้ ประสานไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 
 
          เพราะชาวซิ่นบินไม่มีงบประมาณจากส่วนใดมาให้ความช่วยเหลือช่วยในการขับเคลื่อนแต่อย่างไร พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “ซิ่นบิน“ นี้ จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกหญิงไทย ที่กำลังหลงใหลแฟชั่นกางเกงขาสั้นของต่างชาติให้หันกลับมานุ่งซิ่นอย่างมั่นใจ ตามรอยของคุณย่า คุณยาย ที่อนุรักษ์เอาไว้นานนับหลายชั่วคน แล้ววันนั้นไม่นานจนเกินที่จะรอ จะเห็นวัฒนธรรมนุ่งน้อยห่มน้อยเลือนหายไปตามที่ได้ตั้งปณิธานกันเอาไว้