
เยเมนบนทางแพร่ง(2)
เยเมนบนทางแพร่ง(2) : โลกมุสลิม โดยศราวุฒิ อารีย์
เยเมนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก ทำให้การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกแบบขั้นบันไดได้ผลดีมาก อันเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกอาหรับอีกแห่งหนึ่ง แม้จะเป็นดินแดนที่อยู่ติดประชิดกับประเทศร่ำรวยน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย แต่เยเมนกลับเป็นดินแดนที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่น้อยมาก
แต่ก่อนเยเมนเป็นดินแดนที่สำคัญ เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าที่ผูกขาดการค้าอบเชยและเครื่องเทศ และด้วยสภาพที่ตั้งทำให้เยเมนเป็นศูนย์รวมของบรรดาเครื่องเทศที่ขนส่งมาจากอินเดียและแอฟริกา ประวัติศาสตร์เยเมนมีอายุยาวนานร่วม 4,000 ปี จึงเป็นดินแดนที่มีวิวัฒนาการด้านอารธรรมไม่แพ้ชนชาติอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนที่มหาอำนาจชาติต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามายึดครองในแต่ละยุคแต่ละสมัย
เยเมนปัจจุบันเป็นประเทศที่มีเนื้อที่ 527,970 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของคาบสมุทรอาระเบีย รองจากซาอุดีอาระเบีย มีเมืองหลวงชื่อซานา ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกบฏเฮาซีย์ (Houthi) ที่เป็นมุสลิมชีอะฮ์สายซัยดียะฮ์ ประเทศเยเมนมีเกาะในทะเลอยู่ประมาณ 200 เกาะ โดยเกาะโซโกตราซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ประมาณ 350 กิโลเมตรนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด ประชากรของเยเมนมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่เป็นซุนนีย์และชีอะฮ์
อย่างที่ผมได้เรียนรับใช้ไปเมื่อตอนที่แล้ว ประเทศนี้แปลกเพราะเป็นดินแดนที่เคยแยกกันอยู่ระหว่างเยเมนเหนือ-ใต้ มาเป็นร้อยๆ ปี ก่อนที่จะมารวมตัวกันอย่างเป็นทางการในปี 1990 หรือประมาณ 25 ปีที่แล้วนี้เอง วันนี้ผมขอเอาเรื่องราวของเยเมนเหนือมาเล่าสู่กันฟังก่อนที่จะพูดถึงเยเมนใต้ และการรวมตัวกัน จนกระทั่งเกิดปัญหาความวุ่นวายอย่างที่เราเห็นกันในวันนี้
เยเมนเหนือเป็นประเทศที่อยู่ใต้ปกครองของอาณาจักรออตโตมานมานาน แต่ผู้ปกครองในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คืออิหม่ามสายซัยดียะฮ์ (ราชวงศ์กษัตริย์) อันเป็นสายหนึ่งของมุสลิมชีอะฮ์ ที่อ้างว่าสืบสายโดยตรงมาจากศาสดามุฮัมมัด และปกครองเยเมนมานานกว่าพันปี ในช่วงนี้ผู้นำประเทศมีนโยบายแยกตัวออกห่างจากประชาคมโลก แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1962 เมื่อทหารได้ปฏิวัติโค่นราชบัลลังก์ของอิหม่ามมุฮัมมัด อัล-บาดัร (Muhammad al-Badr) แล้วประกาศให้เยเมนเหนือปกครองโดยระบบสาธารณรัฐ
แม้จะโค่นอำนาจกษัตริย์ลงได้ แต่การปฏิวัติครั้งนั้นก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างฐานอำนาจเก่าของกษัตริย์และรัฐบาลใหม่ที่ปกครองประเทศ กองทัพอียิปต์เข้ามาแทรกแซงโดยเลือกข้างอยู่ฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ให้การสนับสนุนการต่อสู้ของราชวงศ์กษัตริย์ สงครามกลางเมืองก่อให้เกิดความสูญเสียของประเทศอย่างประเมินค่ามิได้ จนกระทั่งมีการเจรจาทำข้อตกลงระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคที่เข้ามาแทรกแซง สงครามจึงยุติลงในปี 1970
เงื่อนไขข้อตกลงที่สำคัญของการเจรจาคือ การคงระบอบการปกครองของเยเมนเหนือที่เป็นระบบสาธารณรัฐต่อไป เปิดทางให้ราชวงศ์กษัตริย์กลับมาแข่งขันและร่วมบริหารประเทศตามกลไกปกติของการเมือง แม้กระนั้นก็ตาม ความไร้เสถียรภาพก็ยังคงอยู่อันเกิดจากการลอบสังหารทางการเมืองเป็นระลอกๆ มีการทำรัฐประหาร ตลอดจนการทำสงครามกับเยเมนใต้ในปี 1972
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 1978 เมื่ออาลี อับดุลลอฮ์ ซอเละฮ์ ขึ้นสู่อำนาจ เขาเป็นผู้นำที่สามารถฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศหลังจากที่ยุ่งเหยิงมานานหลายปีได้ แม้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมายและต้องทำสงครามช่วงสั้นๆ กับเยเมนใต้ที่เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 1979 ก็ตาม
ซอเละฮ์ได้เริ่มดำเนินนโยบายที่เน้นการรักษาความสมดุลระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่ทรงอำนาจอย่างซาอุดีอาระเบียกับประเทศเยเมนใต้ เขาใช้วิธีปราบปรามพวกฝ่ายซ้ายในประเทศอย่างหนัก แล้วใช้อำนาจปกครองประเทศภายใต้รัฐบาลที่มีเขาเป็นผู้นำหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันเขาได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ (อดีต) สหภาพโซเวียต โดยเฉพาะทางด้านการทหาร แต่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐต่อไป
ในช่วงที่รัฐบาลเยเมนใต้ ซึ่งนิยมแนวทางมาร์กซิสต์ กำลังอ่อนแอถึงขีดสุด ซอเละฮ์จึงใช้โอกาสนี้สร้างความปรองดอง และผนวกดินแดนทั้งสองเป็นประเทศเดียวกันภายใต้การนำของเขาเอง