ข่าว

รู้จัก‘บอริส เนมต์ซอฟ’เหยื่อสังหารฝ่ายค้านรัสเซีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก‘บอริส เนมต์ซอฟ’ เหยื่อสังหารฝ่ายค้านรัสเซีย

            เหตุคนร้ายยิงสังหารนายบอริส เนมต์ซอฟ แกนนำฝ่ายค้านรัสเซียและนักวิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตัวยง ใกล้กับทำเนียบเครมลิน เมื่อวันศุกร์ (27 ก.พ.) ช็อกทั้งชาวรัสเซียและประชาคมโลก แม้นายเนมต์ซอฟไม่ใช่ผู้เห็นต่างทำเนียบเครมลินคนแรกที่ถูกฆาตกรรมปริศนาหรือในสภาพแวดล้อมคลุมเครือในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

            การเสียชีวิตของนายเนมต์ซอฟ วัย 55 ปี ถูกคาดเดาถึงเบื้องหลังไปต่างๆ นานา บ้างว่าเป็นคำสั่งของประธานาธิบดีปูตินเอง หรือผู้สนับสนุน บ้างว่าอาจเป็นเพราะจุดยืนต่อเหตุการณ์สังหารหมู่กองบรรณาธิการ ชาร์ลี เอบโด หนังสือพิมพ์แนวเสียดสีในกรุงปารีส ที่ไม่ถูกใจพวกสุดโต่ง หรืออาจเป็นฝีมือศัตรูของรัสเซียที่มุ่งสร้างความร้าวฉานภายใน และขาดไม่ได้ในทุกทฤษฎีคบคิดคือ การโทษว่างานนี้อาจมีสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) อยู่เบื้องหลัง แต่ยิ่งมีทฤษฎีมากเท่าไหร่ก็สะท้อนว่า บุคคลผู้นี้มีศัตรูไม่น้อย แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ที่ผ่านมา ได้พูดหรือทำอะไรไปบ้าง

            นายเนมต์ซอฟ ไม่ใช่ฝ่ายค้านธรรมดา อดีตเคยนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งในวัยเพียง 37 ปี ภายใต้ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ผู้นำรัสเซียคนแรกในยุคหลังสหภาพโซเวียตแยกตัว ครั้งนั้นจึงถูกยกเป็นตัวเก็งว่าจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แต่แล้ว ปูติน กลับกลายเป็นคนที่รับไม้ต่อจากเยลต์ซิน 

            เริ่มสร้างผลงานเป็นที่รู้จักในระดับชาติสมัยเป็นผู้ว่าเมืองนิซนีย์ นอฟโกรอด ในทศวรรษหลังปี 2533 โดยร่วมมือกับนักการเมือง ผลักดันการแปรรูปกิจการของรัฐและปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกอบกู้ภาคอุตสาหกรรมของเมือง     

            หลังจากนายปูตินชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2543 นายเนมต์ซอฟเคยทำงานกับรัฐบาลอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนอำลาและหันมาเป็นนักวิจารณ์ผู้นำคนใหม่ หลังจากรัฐบาลเครมลินเริ่มหันไปปิดกั้นสื่อและเปิดสงครามกับบรรดานักธุรกิจผู้กว้างขวางในอุตสาหกรรมน้ำมันจากยุคเยลต์ซินที่ทำตัวกระด้างกระเดื่องกับปูติน 

            นายเนมต์ซอฟยังเคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ดูมา ในสมัยแรกของนายปูติน ก่อนเสียเก้าอี้ไปหลังการเลือกตั้งปี 2546 เมื่อพรรคสหรัสเซีย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ชนะเลือกตั้งกุมเสียงส่วนใหญ่

            หลังจากนั้น นายเนมต์ซอฟได้กลายเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายค้านที่มีแนวคิดเสรีนิยม และจัดทำรายงานหลายฉบับกล่าวหารัฐบาลประธานาธิบดีปูตินทุจริตมโหฬาร โดยเฉพาะปี 2516 นายเนมต์ซอฟออกรายงานกล่าวหาเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจเพื่อนฝูงปูตินว่า ยักยอกเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับใช้จัดโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2557 ในเมืองโซชิ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของเขาริมฝั่งทะเลดำ

            นายเนมต์ซอฟต์เคยถูกจับกุมหลายครั้งหลายหน เพราะการพูดวิจารณ์รัฐบาลปูติน รวมถึงจากการออกมาประท้วงผลเลือกตั้งเมื่อสามปีก่อน หลังสุดที่วิจารณ์หนักหน่วงคือ การจัดการวิกฤติยูเครนของทำเนียบเครมลิน จนกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและสื่อประทับตราว่าเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลตะวันตก ผู้ที่พยายามนำพาประเทศกลับสู่ความระส่ำระสายทางสังคมและเศรษฐกิจเหมือนในคริสต์ทศวรรษที่ 1990

            อิลยา ยาชิน แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย ระบุว่า เพื่อนของเขากำลังจัดทำรายงานเกี่ยวกับทหารรัสเซียและการเข้าไปมีความเกี่ยวข้องของรัสเซียในยูเครน   

            และไม่นานนักก่อนถูกสังหาร นายเนมต์ซอฟเพิ่งให้สัมภาษณ์นิตยสารนิวส์วีคแบบจัดหนักว่า นโยบายของวลาดิมีร์ ปูติน ทำให้รัสเซียกำลังจมน้ำ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกำลังล่มสลาย "รัฐบาลเข้าไปยุ่งในสงครามฆ่าล้างพี่น้องและราคาแพงในยูเครน และเผชิญหน้ากับตะวันออกอย่างไร้จุดหมาย พวกเราทุกคนต่างรู้ได้ถึงผลกระทบจากนโยบายเสียสตินี้"
  เนมต์ซอฟ ยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินใช้การโฆษณาชวนเชื่อแบบเดียวกับสมัยนาซี เพื่อล้างสมองเพื่อนร่วมชาติ ข้อมูลชวนเชื่อชุดหนึ่งที่พยายามฝังหัวคือ ปมเด่นเหนือตะวันตก และความเชื่อที่ว่า อย่างเดียวที่เราทำได้เพื่อสร้างความตื่นตะลึงแก่โลกคือการใช้กำลัง ความรุนแรงและความก้าวร้าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ