ข่าว

ทุกอย่างที่นี่ใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม

ทุกอย่างที่นี่ใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม

01 มี.ค. 2558

คอฟฟี่เบรค : ทุกอย่างที่นี่ใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม : เรื่อง / ภาพ ... มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

 
                             "หลายคนบอกว่า ถ้าไม่ได้เข้ามาดูงานที่วนเกษตรของลุงผู้ใหญ่วิบูลย์ เขาก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่ แต่ตอนนี้เขามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ขึ้น"
 
 
                             ในวันที่ไปออกค่ายเล็กๆ ที่ไร่วนเกษตร บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กับนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เอกวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยเนชั่น โดยมี อาจารย์ รัตนาวดี ลำพาย ผู้อำนวยการศูนย์เนชั่น บางนา มหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นผู้พาไป 
 
                             ที่นั่นเราได้พบกับอาสาสมัครใจเด็ดผู้อยู่เบื้องหลังวนเกษตรของลุงผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นลูกหลานของลุงผู้ใหญ่ แต่เป็นคนที่สนใจงานของลุงผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็ก เลยขอมาดูงานศึกษางานที่นี่ กว่า 12 ปีจนถึงวันนี้ เธอกลายเป็นยิ่งกว่าลูกหลานที่ช่วยให้ผู้คนที่เข้ามาเรียนรู้ในวนเกษตรแห่งนี้ จนเธอเข้าใจความสัมพันธ์กันของธรรมชาติอย่างแยกไม่ออกระหว่างคน ต้นไม้ และสัตว์ต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่
 
                             ภาพแรกที่เราเห็น...ฉวีวรรณ พิมพัฒน์ แนะนำนักศึกษาให้ถอดรองเท้าก่อนขึ้นเรือน ให้รู้จักการใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ เพราะถ้าเปิดทิ้งไว้ น้ำจะไหลไปหมดแท็งก์และทุกคนจะไม่มีน้ำใช้ในวันต่อมา แล้วเวลาเปิดไฟทุกครั้งต้องปิดด้วย เรือนทุกหลังให้เดินอย่างระวัง เพราะเป็นไม้ที่มาจากการปลูกเอง บางทีมีปลวก บางแผ่นผุพัง บางแผ่นไม่แข็งแรง แต่เมื่อประกอบกันเป็นเรือนก็ทำให้เราพออยู่ได้ 
 
                             เธอบอกว่าไม่ควรลงไปเดินในสวนตอนค่ำคืน ในที่ๆ ไม่เคยไป เพราะมีมด แมลงมากมายที่กัดเจ็บมาก รวมทั้งงูพิษก็เยอะไม่เบา แต่มันไม่เคยทำอันตรายใคร เวลาเดินต้องคอยระวัง นอกจากนี้ที่นี่มีแต่ถ่านให้ทุกคนทำกับข้าวกินเองได้ และที่สำคัญคือ ต้องแยกขยะทุกชิ้น ขยะใดที่ย่อยสลายได้ทิ้งที่หนึ่ง ขยะที่เป็นพลาสติกทิ้งอีกที่หนึ่ง ขยะที่เป็นขวดน้ำทิ้งอีกที่หนึ่งไว้ขายได้ แบตเตอรี่ทิ้งอีกที่หนึ่ง เพื่อมิให้เกิดการทำลายขยะที่จะเป็นผลต่อมลพิษต่อไป อีกทั้งเวลารับประทานอาหารแล้วต้องล้างจานถูพื้น เก็บขยะให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นมดแมลง แมวจะมาคุ้ยเขี่ยขยะให้ลำบากในการจัดการขยะในเวลาต่อมา ทุกอย่างที่นี่ใช้วิธีการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันการสูญเสียที่สิ้นเปลือง และความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกัน 
 
                             เมื่อบอกรายละเอียดทั้งหมดจบลง เธอก็ขอตัวพาลูกน้อยไปนอน ปล่อยบ้านให้เป็นของทุกคนดูแลกันเอง 
 
                             รุ่งเช้าของอีกวัน เราก็ได้คุยกับเธอ 
 
                             เธอเล่าว่า งานที่นี่มีสองด้านหลักๆ คือ งานตั้งรับ เวลาที่คนสนใจก็เข้ามาศึกษาเรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งคือ ขยายแนวความคิดออกไปให้แก่ชาวบ้าน "เรามีทีมทำงานอยู่กลุ่มหนึ่ง คนที่เข้ามาก็หลากหลาย มีตั้งแต่เด็กอนุบาล ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาเอก ชาวบ้าน เกษตรกรทั่วไป ผู้บริหารบริษัทห้างร้านที่มีความสนใจว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกน้องเขามีความสุขก็มาปรึกษาผู้ใหญ่ ที่นี่จึงให้องค์ความรู้ทุกเรื่องที่สัมพันธ์กันในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยมีต้นไม้ สมุนไพร ธรรมชาติ สัตว์ต่างๆ เป็นครูและเป็นสะพานเชื่อมให้มาเรียนรู้ด้วยกัน
 
                             "อย่างเช่น ถ้าเป็นเด็ก ครูก็อยากให้รู้ว่า เด็กๆ จะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร เรื่องของวนเกษตร เรื่องการพัฒนาชุมชน จะทำงานกับชุมชนอย่างไร ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คนแบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ฉวีวรรณบอกว่า จะต้องทำโดยมีฐานรากมาจากความคิดก่อน คือ ศึกษาให้ชัดในเรื่องของแนวความคิด แล้วค่อยออกมาสู่การกระทำ    
 
                             "ลุงผู้ใหญ่ไม่ให้ก๊อบปี้ไปทำ แต่จะให้มาเรียนรู้แล้วออกแบบไปประยุกต์ใช้กันเอง บางกลุ่มก็มาเรื่องการศึกษา บางกลุ่มก็ขอมาฝึกงาน  บางกลุ่มทำเรือกสวนไร่นาแล้วมีหนี้เยอะ จะปลดหนี้อย่างไรให้เป็นอิสระ แล้วยังมีกลุ่มจากต่างประเทศอีกที่มาศึกษาดูงาน บางกลุ่มก็มาขอสถานที่ปฏิบัติธรรม ฯลฯ หลากหลายมาที่เข้ามา หลายคนที่เข้ามาส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าไม่ได้เข้ามาดูงานที่วนเกษตรของลุงผู้ใหญ่วิบูลย์ เขาก็ยังเห็นแก่ตัวอยู่ แต่ตอนนี้เขามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ขึ้น เขาบอกว่า ตอนแรกก็ไม่รู้หรอก แต่พอปลูกต้นไม้ไปมากๆ ต้นไม้ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เกิดความเมตตา อยากแบ่งปันกันอยู่ แม้แต่แมลงเล็กๆ เมื่อก่อนเห็นแมลงอะไรในแปลงผักก็จะฆ่ามัน แต่พอปล่อยให้มันอยู่ก็ได้เรียนรู้ว่า มันช่วยทำอะไรได้เยอะมากในสวน" 
 
                             นี่เป็นเพียงคืนเดียวที่มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคมที่เราได้เรียนรู้กับเธอ ถ้าอยู่นานกว่านี้ล่ะ...
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(คอฟฟี่เบรค : ทุกอย่างที่นี่ใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม : เรื่อง / ภาพ ... มนสิกุล โอวาทเภสัชช์)