ข่าว

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 'ไซยะบุรี' ไทยรุกคืบเพิ่มแหล่งสำรองไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 'ไซยะบุรี' ไทยรุกคืบเพิ่มแหล่งสำรองไฟฟ้า

18 ก.พ. 2558

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 'ไซยะบุรี' ไทยรุกคืบเพิ่มแหล่งสำรองไฟฟ้า

 
                             การแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าของไทยเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคตถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะปัจจุบันแหล่งพลังงานในประเทศค่อนข้างมีจำกัด และมักมีกระแสต่อต้านในการสร้างโรงไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรืออื่นๆ ทำให้ต้องมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาส่วนหนึ่ง ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากลุ่มแม่น้ำโขงฝั่ง ประเทศลาว เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการรุกคืบเข้าไปลงทุนของบริษัทเอกชนไทย
 
                             แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีการพัฒนาบริการจัดการน้ำแล้วหลายโครงการ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่ประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนไปแล้วถึง 5 เขื่อน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1.4 เมกะวัตต์จากเป้าหมายที่วางไว้ 8 เขื่อน และกำลังจะลงมือสร้างเพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ ขณะที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีเป้าหมายจะสร้างเขื่อน  11 แห่ง แต่เพิ่งดำเนินการสร้างไปเพียงแห่งเดียวที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ส่วนอีก 10 แห่งนั้นกว่าจะดำเนินการได้ก็คงต้องรอดูโครงการแรกนี้ก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่
 
                             โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เป็นการลงทุนของบริษัทคนไทย คือ กลุ่ม ช.การช่าง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลลาว โดยได้เข้าไปสำรวจโครงการตั้งแต่ปี 2550 และกว่าจะออกแบบ ทำสัญญาสัมปทาน สัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาเงินกู้ สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง สัญญาจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมใช้เวลาประมาณ 5 ปี จนถึงปี 2555 หลังจากนั้นจึงเริ่มเดินหน้าก่อสร้างโครงการทั้งฝายทดน้ำ และอาคารประกอบ การติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าและทดสอบการเดินเครื่อง มีระยะเวลารวม 8 ปีจนถึงปี 2562 
 
                             ขณะนี้ระยะเวลาผ่านมา 3 ปี ก็เพิ่งดำเนินการก่อสร้างได้เพียงบางส่วน โดยการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจะทำภายหลังและน่าจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำได้ในปี 2562 ที่สำคัญกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้ 95% จะเป็นการขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบ่งไว้ใช้ในประเทศลาวเพียง 5% เท่านั้น จึงถือว่าไทยได้ใช้ประโยชน์เกือบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากโครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี เพื่อลงทุนหาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาป้อนความต้องการใช้ในประเทศ 
 
                             นายสมควร วัฒกีกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท ซีเค พาวเเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในครือของกลุ่ม ช.การช่าง และเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กล่าวว่า ไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง ปิดและเปิดง่าย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการที่ไซยะบุรีเป็นฝายทดน้ำที่มีความสูงไม่มาก โดยจะปล่อยน้ำไหลผ่านเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแต่ละวัน มีการออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
 
                             "เราให้ความสำคัญกับเรื่องของปลาตามที่รัฐบาลลาวร้องขอ เพราะปลาในแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวลาว ซึ่งก่อนจะลงมือก่อสร้างก็ต้องมีการปรับแบบกันใหม่ โดย 6 เดือนก่อนยังกังวลว่าจะก่อสร้างโครงการได้แล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่ แต่ขณะนี้มีความโล่งใจที่ทุกอย่างเดินหน้าตามแผน แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างพุ่งสูงกว่าที่กำหนดมูลค่าโครงการไว้เดิม 1.15 แสนล้านบาทก็ตาม 
 
                             สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทซีเคกับรัฐบาลลาว โดยฝ่ายลาวถือหุ้นเพียง 20-25% ซึ่งเป็นการนำค่าสัมปทานมาจ่ายเป็นหุ้น โดยปีแรกๆ อาจจะจ่ายได้ไม่มากนักและหลังจากครบอายุสัมปทาน 29 ปี โครงการนี้จะตกเป็นของรัฐบาลลาวต่อไป ทำให้รัฐบาลลาวค่อนข้างสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ เพราะในลาวเองยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่วนเงินที่นำมาใช้เป็นเงินทุนของบริษัทประมาณ 3 หมื่นล้านบาทที่เหลือเป็นการกู้จากธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากเห็นความสำเร็จของโครงการโรงไฟฟ้าที่น้ำงึม 2 ประสบความสำเร็จ บริษัทจึงต้องเร่งเดินหน้าโครงการให้เสร็จตามกำหนด เพราะหากช้าไป 1 ปีภาระจะเพิ่มขึ้นทันที 3 หมื่นล้านบาท ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่วิ่งไม่หยุดและค่าปรับจากกฟผ.ในอัตราหน่วยละ 2 บาท
 
                             นายสมควรกล่าวด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรีแห่งนี้เรียกว่าใหญ่ที่สุดและใช้เงินลงทุนมากที่สุดในลาว ก่อนหน้านี้เป็นเพียงโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเท่านั้น รวมทั้งน้ำงึม 2 ด้วย โดยไซยะบุรีจะสามารถผลิตกระแสไฟได้ถึง 7 พันล้านหน่วยต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะขายให้กฟผ. แบ่งใช้ในลาวเพียง 5% เนื่องจากเป็นการใช้ตามอาคารบ้านเรือนเท่านั้น เพราะในลาวยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ไฟจำนวนมาก และการมีไซยะบุรีน่าจะทำให้ระบบไฟฟ้าในลาวไม่มีปัญหาไฟตกไฟดับอีกต่อไป 
 
                             "การที่เราสามารถสร้างโรงไฟฟ้าในลาวได้ง่ายกว่าการสร้างที่ไทยที่มักมีการต่อต้าน เพราะลาวเผชิญความลำบากเรื่องไม่มีไฟฟ้าใช้มานาน บางครั้งต้องสลับกันปิดเปิดไฟในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีการต่อต้านจากชาวบ้าน ที่สำคัญทางโครงการมีการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างกินความกว้างถึง 10 กิโลเมตร ต้องมีการย้ายบ้านเรือนจำนวน 458 ครอบครัวจาก 19 หมู่บ้าน ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ซึ่งชาวบ้านยินยอม เพราะเป็นบ้านที่ปลูกใหม่ดีกว่ามีน้ำและไฟพร้อม ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานหมื่นคนที่ใช้ในโครงการนี้เป็นคนลาวถึง 60%" นายสมควรกล่าว
 
                             นายสมควรกล่าวทิ้งท้ายว่า ไฟฟ้ามีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งระบบไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่าดีมาก แต่ในอนาคตน่าเป็นห่วงว่าการผลิตไฟฟ้าในประเทศอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และมีราคาแพงขึ้น จนอาจเกิดวิกฤติพลังงานได้ จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีการบริหารจัดการที่ดีและต้องเร่งแสวงหาพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน  ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในไทย ไม่ใช่ดูแต่เรื่องน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ควรนำพลังของน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และไฟฟ้าพลังน้ำก็ได้รับการพิสูจน์มาทั่วโลกแล้วว่าดีและถูกมาก แต่ในไทยไม่มีแหล่งน้ำที่จะนำมาพัฒนาพลังงานไฟฟ้าได้จึงต้องแสวงหาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยยึดหลักได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในอนาคตก็มองไปที่แม่น้ำสาละวินของพม่าที่น่าจะมีความเป็นไปได้สูง